ชม 10 ภาพวาดสีน้ำมัน “หญิงสาวในชุดกี่เพ้า” ผลงานของ เฉินอี้หมิง (陈逸鸣) เป็นจิตรกรชาวจีนชื่อดังผู้มีทักษะวาดภาพแบบตะวันตกผสมผสานกับแบบตะวันออกได้อย่างลงตัวมากที่สุดคนหนึ่ง
เฉิน อี้หมิง เป็นชาวเซี่ยงไฮ้โดยกำเนิด เกิดปี 1951 ก่อนจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาและทำงานกับแกลอรีส์แฮมเมอร์ (Hammer galleries ) ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กว่า 15 ปี ผลงานภาพวาดสีน้ำมันที่โดดเด่นของเขาเป็นชุดภาพหญิงสาวในชุดกี่เพ้า และหญิงชาวจีนในอดีตที่แสดงออกถึงความอ่อนโยน สุขุม
ทั้งนี้ ผลงานของเฉิน อี้หมิง ถูกนำเข้าประมูลในบริษัทจัดการประมูลชั้นนำของโลกทั้ง ซัทเทบีส์ (Sotheby’s) และคริสตี้ส์ (CHRISTIE'S)
ภาพสาวจีนในชุดกี่เพ้า ผลงานภาพวาดสีน้ำมันของเฉิน อี้หมิง ที่นำมาให้ชม 10 ภาพนี้ ภาพที่ถูกเคาะขายในงานประมูลที่ราคาอย่างถูกที่สุด กว่า 200,000 หยวน หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 1 ล้านบาท สำหรับภาพที่ขายในราคาสูงสุด กว่า 900,000 หยวน คิดเป็นเงินไทยกว่า 4.6 ล้านบาท
ชุดที่ชาวไทยเรียกกันติดปากว่า “กี่เพ้า”ในสำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า “ฉีผาว” (旗袍)เป็นเครื่องแต่งกายของสตรีจีนในช่วงประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้ (近代) เป็นชุดกระโปรงยาว คลุมท่อนขา ขนาดพอดีตัว และมีตะเข็บผ่าด้านข้างเพื่อความสะดวกในการเดินก้าวขา
คำภาษาจีน ฉี (旗)ตรมหน้าศัพท์แปลว่า ธง และคำภาษาจีน ผาว (袍) หมายถึง เสื้อคลุมยาว หรือชุดกระโปรง
แต่ดั้งเดิมเสื้อคลุมยาวที่จีนเรียกว่า“ผาว”นี้ เป็นเสื้อคลุมของหญิงชาวแมนจู เมื่อชาวแมนจูพิชิตอำนาจปกครองแผ่นดินจีนสถาปนาราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644 - 1912) ก็มีการปรับปรุงแบบเสื้อของชาวแมนจูให้อลังการสวยงามโดยขณะนั้นยังไม่มีชื่อเรียกแบบชุดที่เป็นแบบแผนเดียว โดยคำหนึ่งที่ใช้เรียกกันคือ “ฉีจวง” (旗装) คำว่า จวง(装) หมายถึงชุดเสื้อผ้า กระทั่งปลายยุคราชวงศ์ชิงแบบเสื้อ “ฉีจวง”ถูกปรับปรุงแบบผสมผสานกับ “ชุดเสื้อชาวจีนฮั่นโบราณ” ที่เรียกว่า “ฮั่นฝู” (汉服)
ส่วนคำว่า ฉี (旗) ของ“ฉีผาว” (旗袍) มาจาก 旗人 (อ่านว่า ฉีเหริน) หมายถึงชาวแมนจูในสมัยราชวงศ์ชิง
“ชุดกี่เพ้า หรือ “ฉีผาว” ในความหมายปัจจุบัน” ปรากฏขึ้นอย่างแท้จริงในทศวรรษที่ 20 ของศตวรรษที่ 20 โดยเป็นแบบชุดเสื้อผ้า “ฉีจวง” ของปลายราชวงศ์ชิง ที่ปรับเข้ากับแบบชุดเสื้อผ้าของตะวันตกผสมผสานออกมาเป็นชุดเสื้อผ้าอย่างกลมกลืน ในยุคนั้นกี่เพ้าเป็นชุดที่ชนชั้นสูงและดาราหญิงในแวดวงบันเทิงนิยมสวมใส่กัน
ชุดกี่เพ้าเริ่มแพร่หลายในนครเซี่ยงไฮ้เมื่อปี ค.ศ. 1925 จนกระทั่งในปี 1929 รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจีนได้กำหนดให้ “กี่เพ้า” เป็นหนึ่งในชุดประจำชาติ
กี่เพ้าที่โดดเด่นและถือเป็นตัวแทนกี่เพ้าคือ กี่เพ้าเซี่ยงไฮ้และกี่เพ้าฮ่องกง