คนดีๆ อย่าหาทำ! พบมิจฉาชีพทำทีขอซื้อมือถือไอโฟน 12 โปรแม็กซ์ ผ่านร้านมือถือที่มาบุญครอง ส่ง อี-สลิปธนาคารปลอม ตัดต่อคิวอาร์โค้ด ชื่อบัญชีและจำนวนเงิน แต่เจ้าของร้านจับได้ ไม่ส่งของให้ แถมประกาศเตือนภัย พบวิธีตรวจสอบง่ายนิดเดียว ตรวจสอบข้อกฎหมายพบผิดชัดเจน ฐานฉ้อโกง เอกสารปลอม และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
วันนี้ (12 ก.พ.) เฟซบุ๊ก “ร้านนาซ่าโฟน-ขายส่งโทรศัพท์มือถือ” ภายในศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ (มาบุญครอง) ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ได้โพสต์ภาพบันทึกการทำรายการ (อี-สลิป) ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งบุคคลที่อ้างชื่อว่า น.ส.ลัดดาวัลย์ (ขอสงวนนามสกุล) โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ของ บริษัท สหคอม อินเตอร์เทรด 2011 จำกัด จำนวนเงิน 37,750 บาท เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 เวลา 14.49 น. แต่เมื่อตรวจสอบอี-สลิป ผ่านคิวอาร์โค้ดไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากเป็น อี-สลิป ของปลอม และเมื่อใช่ตัวสแกนพบว่า คิวอาร์โค้ดดังกล่าวเป็น URL ของเว็บไซต์วิกิพีเดีย ประเทศไทย นอกจากนี้ พบว่า แบบอักษรใน อี-สลิป ยังมีการปลอมข้อความอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ยังมีภาพแคปหน้าจอไอแพด บันทึกการสนทนาจากผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อ “คาร์ สละสิทธิ์” ได้ส่งข้อความไปยังเพจของทางร้าน โดยส่งไฟล์ภาพ อี-สลิป ดังกล่าว พร้อมกับสอบถามว่า โทรศัพท์มือถือดังกล่าวมีสีอะไรบ้าง ก่อนที่จะเลือกสีทอง พร้อมส่งที่อยู่สำหรับการจัดส่งไปยังนางสุพร (ขอสงวนนามสกุล) ที่บ้านหลังหนึ่งใน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส แต่โชคดีที่เจ้าของร้านตรวจสอบแล้วเป็น อี-สลิป ปลอม จึงไม่ส่งสินค้าให้ โดยทางร้านโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ประกาศ โปรดระวังมิจฉาชีพ มาสั่งซื้อโทรศัพท์ iPhone 12 Pro Max แล้วส่งสลิปปลอมมาให้ พร้อมที่อยู่พร้อมเบอร์ติดต่อ คงไม่คิดว่าทางร้านจะตรวจสอบทุกอย่างก่อนจัดส่งหรือเปล่า ลูกค้าทุกท่านต้องระมัดระวังกันด้วยนะคะ ทุกวันนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี”
สำหรับผู้ค้าออนไลน์ วิธีการตรวจสอบ อี-สลิป ว่าของแท้หรือของปลอม ให้เข้าไปที่โมบายแอปพลิเคชันธนาคารใดก็ได้ เข้าไปที่เมนู “สแกน” แล้วเลือกรูปภาพจากแกลอรี่ หากรูปแบบคิวอาร์โค้ดเดียวกันระบบจะแสดงจำนวนเงิน ค่าธรรมเนียม วันที่ทำรายการ เวลาที่ทำรายการ เลขรายการ บัญชีผู้โอน และบัญชีผู้รับโอน แต่บางธนาคารคิวอาร์โค้ดยังไม่รองรับ ก็ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันธนาคารเดียวกับ อี-สลิป นั้น นอกจากนี้ ควรตรวจสอบเงินเข้าในบัญชีว่ามีเงินเข้าหรือไม่ไปพร้อมกันด้วย
ก่อนหน้านี้ นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร ทนายความชื่อดัง เคยออกมาระบุว่า การส่ง อี-สลิป ปลอมไปยังผู้ค้า มีความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งความผิดฐานฉ้อโกง มีอยู่สองส่วน คือ การแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และอีกส่วนหนึ่งคือการปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการทำและใช้เอกสารปลอม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และมาตรา 268 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 14 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ