MGR ONLINE--สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จับมือกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดเวทีสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 9* ในหัวข้อเรื่อง “ความสัมพันธ์การทูตไทย-จีน 45 ปี: การแบ่งปันประสบการณ์และความร่วมมือในอนาคต” ระหว่างวันที่ 7-9 ธ.ค.2563 ณ ชลพฤกษ์รีสอร์ท จังหวัดนครนายก
ในการสัมมนาความสัมพันธ์การทูตไทย-จีน 45 ปี: การแบ่งปันประสบการณ์และความร่วมมือครั้งนี้ ได้เสนอสาระการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ภาครัฐมองและให้ความสำคัญได้แก่ การแบ่งปันประสบการณ์และความร่วมมือ ณ ปัจจุบัน และในอนาคต
เจาะลึกสัมพันธ์ไทย-จีน และความร่วมมือระหว่างกัน
จากปาฐกถาพิเศษเปิดงานสัมมนา “ความสัมพันธ์การทูตไทย-จีน 45 ปี: การแบ่งปันประสบการณ์และความร่วมมือในอนาคต” โดยนาย สมปอง สวงนบรรพ์ คณบดีสถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทวงการอุดศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม
นายสมปองได้กล่าวถึงความสัมพันธ์การทูตไทย-จีนนั้นโดยแท้จริงแล้วมีมานานนับพันปี บางช่วงก็หยุดชะงัก เช่นช่วงสงครามเย็นไทยกับจีนห่างเหินกันเพราะนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่เราก็ยังมีความผูกพันกับจีนมาโดยตลอด ความสัมพันธ์ในภาคประชาชนยังดำเนินต่อไป นอกจากนี้ไทย-จีนมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความร่วมมือกันอย่างไม่เป็นทางการ มีการพัฒนาที่ใกล้ชิดกันเป็นลำดับมา ตรงนี้ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ต่อกันมาโดยตลอด
ความร่วมมือที่ผ่านมาอาจไม่เป็นไปในแบบที่ควรเป็นเพราะไทยเป็นประเทศเล็กตกอยู่ใต้อิทธิพลตะวันตก จนถึงปัจจุบันไทยก็ยังตกอยู่ในใต้อิทธิพลตะวันตกอยู่ไม่น้อยซึ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างไทยกับจีน
ด้วยเงื่อนไขที่ไทยเป็นประเทศเล็ก จีนเป็นประเทศใหญ่มีประชากรมหาศาล ทำให้ความคิด อุดมการณ์ ค่านิยมต่างๆต่างกันมาก ตลอดจนพฤติกรรม เป้าหมาย การทำงานที่แตกต่างกัน
การที่จีนเป็นประเทศใหญ่ ถือตัวเป็นศูนย์กลางของโลก จึงมีแนวคิดระดับโลก ขณะที่ไทยคิดเพียงระดับชาติ เอาตัวรอดระดับภูมิภาคก็พอ จีนทำงานอย่างรวดเร็วภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ทรงพลังอำนาจ ขณะที่ไทยมีระบบราชการที่ยิ่งใหญ่ทำให้เกิดความล่าช้าเป็นอุปสรรคในการผลักดันโครงการต่างๆ ด้วยพื้นฐานดังกล่าวนี้เองทำให้สองประเทศต้องปรับตัวเข้าหากันมาก ยกตัวอย่างกรณีโครงการรถไฟไทย-จีน จีนข้องใจเรื่องที่ไทยช้ามากแต่ในที่สุดก็ยอมรับ อีกทั้งการเมืองในไทยที่วุ่นวายไม่จบไม่สิ้น ยิ่งทำให้การปรับตัวเข้าหากันเป็นไปช้ามาก แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นฐานความสัมพันธ์พันปีดังกล่าวข้างต้นทำให้เราใจเย็นในการปรับตัวเข้าหากัน
โครงการ BRI จีน กับผลกระทบภายนอกที่ไทยต้องเตรียมตั้งรับ
จีนเริ่มดำเนินข้อริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง(Belt and Road Initiative ชื่อย่อ BRI) ในปลายปี 2013-14 ผลักดันการลงทุนบน “เส้นทางสายไหม” โดยเชื่อมโยงกับเมกะโปรเจ็กต์ที่จีนสร้างขึ้นในช่วงก่อนหน้า สำหรับไทยโครงการภายใต้กรอบ BRI ที่เห็นคือ โครงการรถไฟไทย-จีนเส้นทางหนองคายที่จะไปเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว-จีนที่นครเวียงจันทน์ และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกไทย หรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor/ EEC)
ขณะที่จีนได้ทุ่มทุนโครงการ BRI ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยในรูปแบบต่างๆ อาทิ แผนการสร้างเมืองใหม่ในพม่า การสร้างเมืองสีหนุวิลล์ในกัมพูชา เมกะโปรเจ็กต์เหล่านี้มีผลกระทบภายนอกที่เรียกว่า spillover ถึงไทยในบริเวณแถบชายแดน ดังนั้นไทยต้องเตรียมการตั้งรับผลกระทบดังกล่าว
ประสบการณ์ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนต่างต้องมีการปรับปรุงต่อไปและต้องใช้ความอดทน ไทยเป็นฮับเชื่อมโยงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นต้องพัฒนาความเชื่อมโยงเพื่อรับมือกับ BRI ของจีนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ข้อพิจารณา “แบบอย่างจีน”
นายสมปองยังกล่าวเพิ่มเติมในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า “การพัฒนาความร่วมมือไทย-จีนต้องมีความรอบด้าน ส่วน “แบบอย่างจีน หรือต้นแบบจีน”นั้นต้องพิจารณาว่าแต่ละประเทศมีคุณลักษณะ ปัจจัยเงื่อนไขเฉพาะตัว การลอกเลียนแบบนั้นยาก การเรียนรู้ประสบการณ์นั้นทำได้ สำหรับแบบแผนการพัฒนานั้นต้องคิดค้นและกำหนดเป็นการเฉพาะของตัวเอง
สำหรับความสำเร็จในการแก้จนของจีนกับแง่มุมที่ไทยจะเอามาปรับใช้...เริ่มต้นต้องดูความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศจีนเป็นพื้นฐานว่ามีมาตรการ วิธีการอะไรบ้าง หลักๆคือจีนกระจายอำนาจในแง่ของงบประมาณ จากนั้นก็ใช้วิธีการลองผิดลองถูก ทดลองทำทุกแบบ... ผิดก็ยกเลิกไป ต้องชมว่าจีนดำเนินมาตรการที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่สำคัญทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขจัดความยากจน เจ้าหน้าที่รัฐหรือสมาชิกพรรคฯต้องไปดูครัวเรือนที่ยากจนเป็นรายๆ แก้ปัญหาเฉพาะรายตามสภาพปัญหาเฉพาะของแต่ละท้องที่ ไม่ใช่ให้เงินไปและไปแก้ปัญหาในภาพรวม มันมีรายละเอียดเยอะ ถ้าเราใช้หลักการคล้ายๆกัน สำหรับไทยประเทศไม่ใหญ่ ประชากรไม่มาก ก็น่าทำได้
เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ สำหรับประเทศทุนนิยมมีความเหลื่อมล้ำแน่นอน นักวิชาการประเทศตะวันตกกังวลเช่นกันว่าระบบทุนถ้าปล่อยไปโดยไม่ควบคุมจะเกิดความเสียหาย
ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่จีนนำมาใช้นั้นมีการควบคุมจัดการ จีนใช้อำนาจรัฐมาควบคุมตลาดได้มากกว่าประเทศอื่นๆจึงประสบความสำเร็จในยุคโลกาภิวัตน์มากกว่าประเทศอื่นๆ หลายประเทศถ้ายังปล่อยให้ตลาดมีบทบาทนำโดยไม่มีการควบคุมก็จะเกิดความเสียหาย
รองศาสตราจารย์ดร.โภคิน พลกุล นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน
เรียนรู้ “แก้จน” จากจีน
ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันเปิดการสัมมนาฯ ดร.โภคิน พลกุล กล่าวว่า “การเรียนรู้จากจีนที่สำคัญมากในขณะนี้คือการแก้ไขปัญหาความยากจนและขจัดความล้ำเหลื่อม โดยในปีหน้าเป็นปีเป้าหมายที่จีนจะประกาศว่าประชากรราว 1,400 ล้านคน จะไม่มีใครอยู่ใต้เส้นความยากจน* ด้านไทยการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศยังขึ้นๆลงๆ พอสามารถช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากเส้นความยากจนขึ้นมาหน่อยไม่นานก็ตกลงไปจนอีก รัฐบาลไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี ช่วยเหลือคนพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง แต่ดูแนวโน้มตอนนี้แล้ว...เอาแค่เป้าหมายไม่ให้คนยากจนก็พอ เราต้องเรียนรู้จากจีนซึ่งระดมมาตรการมากมายในการบรรเทาความยากจน ที่สำคัญคือความมุ่งมั่นของผู้นำประเทศ ความต่อเนื่อง การค้นหาต้นตอสาเหตุความยากจนในแต่ละท้องที่ และนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาทั้งในภาพใหญ่และภาพย่อย”
“ไทยมีปัญหาใหญ่ในการแก้จน คือความไม่ต่อเนื่อง ไม่มีความชัดเจนเหมือนกับจีน ถ้าเรายังไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ความเหลื่อมล้ำของไทยก็ยังสูงในอันดับต้นๆของโลก กรรมสิทธิ์ถือครองสินทรัพย์ต่างๆของคนเล็กคนน้อยคนยากจนก็แทบไม่มี มันไปตกอยู่กับกลุ่มใหญ่ๆ ...การผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทำให้การแบ่งปันทรัพยากรรายได้กระจุกตัว กลายเป็นปรากฏการณ์ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ถ้าเราไม่รีบแก้ไข ในอนาคตจะเกิดปัญหามากมาย
ความร่วมมือในการหยุดโรคระบาดโควิด-19
ด้านโควิด-19 ไทยได้เรียนรู้จากจีนในด้านมาตรการสาธารณสุขต่างๆและประสานงานกันโดยตลอด จีนมีความจริงจังเข้มงวด ความเสียสละของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการควบคุมโรคระบาด ด้านไทยก็สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีโดยเฉพาะการมีอสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ที่รู้และติดตามได้อย่างเป็นระบบ
ในด้านผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้ หลายปีมานี้นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปีจนถึง 10 ล้านคน ขณะนี้จีนยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักท่องเที่ยวจีนก็ยังไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศ กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่มาเที่ยวไทย 40 ล้านคน สำหรับปีนี้นักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยไม่น่าเกิน 1-2 ล้านคน... รายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งสำคัญมากกับเศรษฐกิจไทยมากได้หายไป ที่สำคัญกว่าก็คือคนที่ทำงานในภาคฯนี้มีจำนวนมาก เราจะต้องกำหนดนโยบายที่เหมาะสมอย่างไรที่จะต่อสู้กับโรคระบาด ขณะเดียวกันก็ประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
ข้อริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง
ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI)เป็นนโยบายหลักของจีนที่ต้องการเชื่อมโลกทุกทางทั้งทางบกทางทะเลทางอากาศ ชักชวนมาร่วมมือกันทำมาหากินและสร้างผลประโยชน์แบบวิน-วิน คือได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่หรือทุกฝ่าย ถ้าเป็นแบบนี้ไทยก็อยากอยากร่วมมือด้วย จีนเน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆมากมายในประเทศกำลังพัฒนา เทียบกับเมื่อก่อนที่กลุ่มประเทศตะวันตกอย่างอเมริกา ยุโรปเคยทำซึ่งเน้นการลงทุนหาประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจีนจะทำได้ดีหรือถูกต้องทั้งหมด ทุกอย่างย่อมมีปัญหา แต่ผมเห็นด้วยกับการเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน โลกจะมีสันติได้ต้องอาศัยการพูดจากัน แก้ปัญหาร่วมกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน
โครงการแม่น้ำโขงของจีน ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบ
ทางไทยไม่มีความชัดเจนต่อโครงการในลุ่มแม่น้ำโขงของจีน ขณะที่จีนมีความชัดเจนซึ่งถูก-ผิดเป็นอีกเรื่อง จีนได้เปรียบเนื่องจากอยู่ต้นแม่น้ำ ส่วนกลุ่มประเทศตอนล่างแม่น้ำโขง ได้แก่ ลาว ไทย กัมพูชา ได้รับผลกระทบมาก ถ้าเขื่อนจีนบริเวณตอนบนแม่น้ำไม่ปล่อยน้ำลงมาก็ได้รับผลกระทบ มันไม่เป็นไปตามธรรมชาติอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นต้องมีการรวมตัวและพูดคุยกัน เช่น การระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงจะเป็นประโยชน์มากน้อยก็ต้องพูดคุยกัน
พลเอก สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
พลเอก สุรสิทธิ์ ถนัดทางเล่าถึงยุทธศาสตร์ร่วมด้านความมั่นคงไทย-จีนนั้นได้กำหนดความร่วมมือด้านกลาโหมไทย-จีน ตั้งแต่ปี 2539-40 โดยเป็นยุทธศาสตร์การเมืองและความร่วมมือ แต่ไม่เป็นพันธมิตรทางทหาร เป้าหมายเพื่อสร้างความทันสมัยและมาตรฐานกองทัพ และความร่วมมือทางทหารไปสู่การสร้างมนุษยธรรม
โครงการแลกเปลี่ยนด้านทหารและความมั่นคงระหว่างไทยกับจีน ช่วงแรกๆไทยได้รับความช่วยเหลือด้านยุทโธปกรณ์ เช่น ความร่วมมือรถเกราะ รถถัง...ต่อมาปี 2540 เริ่มมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้นในด้านเทคโนโลยี เช่น การต่อเรือ เราได้เรือราคาถูกเทียบกับราคาของประเทศตะวันตก ราคาจีนเป็น 1 ใน 3 มาถึงปัจจุบันได้พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล การสื่อสาร ภาษาทหารเรียก“การระวังและเฝ้าตรวจ” ทำให้เราตรวจสอบได้ระยะไกล เปรียบเสมือนรั้วบ้านที่แข็งแรงไม่ให้ใครบุกเข้ามารังแก แต่ก็มีขอบเขตจำกัดไม่สุรุ่ยสุหร่าย ปัจจุบันไทยสามารถสร้างโครงการพัฒนาร่วมกับจีน อาทิ ยานเกราะ และเรือ
ความร่วมมือในอนาคต เราอยากเห็นความสัมพันธ์การพัฒนากับความมั่นคง จะพัฒนาอย่างไรโดยจีนแบ่งปันความรู้ด้านเทคโนโลยี สามารถพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแค่ทหาร จีนมีมหาวิทยาลัยในสังกัดกองทัพร้อยกว่ามหาวิยาลัย มีการเรียนการสอนทั้งภาคพลเรือนและทหาร วิศวกรที่เกิดจากมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์จีนเยอะมาก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าพัฒนาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก มหาวิทยาลัยด้านวิศวกร ปีหนึ่งผลิตได้ 1,200 คน กองทัพไทยก็ส่งนายทหารไปร่วมศึกษาด้วย ในอนาคตไทยจะมีเทคโนโลยีในระดับที่พึ่งพาตัวได้มากขึ้น ไม่เฉพาะด้านทหาร มีหลายอย่างนำมาพัฒนาประเทศได้ ภาษาทหารเรียก “การใช้ขีดความสามารถส่วนเกิน” เช่นความสามารถการสร้างถนน ทหารช่างต้องสร้างถนนในพื้นที่ที่พลเรือนสร้างไม่ได้ เป็นต้น
ต่อคำถาม “ขณะที่จีนและสหรัฐฯต่อสู้สงครามการค้ากัน ไทยต้องปรับตัวปรับบทบาทอย่างไร”
“ไทยเราเก่งเรื่องการรักษาจุดยืนไม่เข้าข้างฝ่ายใด ไทยเป็นชาติเล็ก ประเทศเล็กมีจุดสมดุล (center gravity)อยู่ที่พันธมิตร หมายถึงต้องมีพันธมิตรให้มาก สิ่งใดที่ขัดต่อความรู้สึกเพื่อนบ้านเราต้องแคร์ และต้องพูดกับมหาอำนาจนั้นทันที ถ้ามาชักชวนบีบให้ทำอะไรที่ทำให้เพื่อนบ้านไม่สบายใจเราจะไม่ทำ ตัวอย่าง สมัยก่อนจีนเสนอให้ไทยเป็นแกนกลางในการฝึกซ้อมร่วม ที่เรียกว่า non-military multilateral navel exercise ต้องไปฝึกในทะเลจีนใต้ ไทยไม่มียามฝั่ง ไม่มีกำลัง จึงต้องเป็นทหาร ถ้าเราไปร่วมก็เป็นการแสดงออกในทิศทางที่เหมือนกับเป็นภัยต่อเพื่อนบ้าน เราก็เสนอจีนว่า “เราขอไม่ทำ” จีนก็รับฟังในทันที เช่นเดียวกันถ้าสหรัฐฯมาบีบบังคับให้เราทำอะไรร่วมแล้วส่งผลต่อเพื่อนบ้าน เช่น สมัยผมเป็นผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ สหรัฐฯมาขอความร่วมมือตั้งเรดาร์ที่ภูเก็ต ซึ่งจะกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้าน การติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนด้านทหาร เราต้องไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น" พลเอก สุรสิทธิ์ ถนัด กล่าว
ทั้งนี้การสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีนนี้เป็นเวทีสำหรับนักวิชาการไทยและจีนได้มาพบปะแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยระหว่างกัน ไทย-จีนร่วมกันจัดทุกปีตั้งแต่ปี 2555 โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพฯ สำหรับในปีนี้ฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19