สำนักข่าวซินหัวรายงาน — จีนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบูรณะพระพุทธรูปที่ได้รับความเสียหายในถ้ำหลงเหมิน (The Longmen Grottoes) แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของประเทศ เพื่อพานักท่องเที่ยวย้อนเวลาชมลักษณะดั้งเดิมของพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่ถึง 1,300 ปีอีกครั้ง
พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นสมัยราชวงศ์ถัง (ปี 618-907) โดยใบหน้าส่วนหนึ่งที่อยู่ระหว่างมวยผมและจมูกได้สูญหายไปในเวลาต่อมา คณะผู้เชี่ยวชาญจึงใช้บันทึกเอกสาร รูปภาพ และรูปปั้นคล้ายคลึงกัน ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นข้อมูลอ้างอิงและทำการบูรณะพระพุทธรูปแบบเสมือนจริง
ซื่อเจียเจิน หัวหน้าสถาบันวิจัยถ้ำหลงเหมิน กล่าวว่านักท่องเที่ยวสามารถรับชมพระพุทธรูปที่มีสีสันและลักษณะดั้งเดิมก่อนบุบสลาย ด้วยการสแกนพระพุทธรูปที่ได้รับความเสียหายผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ
ถ้ำหลงเหมินตั้งอยู่ที่เมืองลั่วหยาง ประกอบด้วยถ้ำใหญ่น้อยมากกว่า 2,300 แห่ง มีพระพุทธรูปและรูปเคารพของพุทธศาสนาประดิษฐานอยู่ถึง 110,000 องค์ สถูปกว่า 80 องค์ และแผ่นจารึก 2,800 ชิ้น ซึ่งถูกสร้างขึ้นระหว่างราชวงศ์เว่ยเหนือ (ปี 386-557) ถึงราชวงศ์ซ่ง (ปี 960-1279)
เกาจวิ้นผิง หัวหน้าศูนย์ข้อมูลประจำสถาบันฯ เปิดเผยว่าเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ถ้ำหลงเหมินได้รับความเสียหายและถูกปล้นอย่างหนัก โดยมีพระพุทธรูปจำนวนมากถูกส่งไปต่างประเทศ ขณะพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวได้รับความเสียหายในช่วงปี 1910-1923
ทั้งนี้ ถ้ำหลงเหมินได้ริเริ่มโครงการดิจิทัลสามมิติในปี 2005 และทำการสแกนสามมิติพื้นที่ภายในถ้ำแล้วร้อยละ 80 โดยซื่อระบุว่า “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอันหลากหลายมีบทบาทช่วยฟื้นฟูมรดกและสืบทอดวัฒนธรรม”