xs
xsm
sm
md
lg

แนะนำหนังสือ: จีนยุคบุราณรัฐ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ความเข้าใจจักรวรรดิจีนจะมิอาจสมบูรณ์ได้เลย หากไม่เข้าใจรัฐจีนตั้งแต่ยุคบรรพกาลจนถึงยุคต้นประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือ จีนยุคบุราณรัฐ”

“จีนยุคบุราณรัฐ” หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของนักวิชาการจีนศึกษาผู้มากผลงาน วรศักดิ์ มหัทธโนบล เล่มนี้ เจาะลึกพัฒนาการการก่อรูปของรัฐจีนในยุคโบราณ พร้อมกับอธิบายถึงที่มาพัฒนาการของชนชาติจีน (ฮั่น) ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของจีนปัจจุบัน ซึ่งกำลังผลักดันประเทศจีนสู่การเป็นดั่งเช่นเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว

“จีนยุคบุราณรัฐ” ได้ยึดถือการแบ่งช่วงยุคประวัติศาสตร์จีนที่เก่าแก่ถึง 5,000 ปี เป็นสี่ยุค อันได้แก่ ยุคตำนาน ยุคต้นประวัติศาสตร์ ยุคประวัติศาสตร์ และยุคสมัยปัจจุบัน สำหรับ“จีนยุคบุราณรัฐ” เล่มนี้เป็นงานศึกษาเจาะลึกประวัติศาสตร์พัฒนาการชนชาติจีนยุคตำนาน และยุคต้นประวัติศาสตร์ ซึ่งกลุ่มนักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันมากเกี่ยวกับความมีอยู่จริงของสองยุคนี้ โดยเฉพาะยุคตำนานที่ไม่มีหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันที่จับต้องได้มาพิสูจน์ แถมยังมีแต่เรื่องเล่าเหนือจริง
ส่วนยุคต้นประวัติศาสตร์ อันได้แก่ “สามราชวงศ์” คือ เซี่ย ซัง และโจว ความมีอยู่จริงของสามราชวงศ์นี้ โดยเฉพาะราชวงศ์เซี่ยที่ย้อนยุคเก่าแก่ถึงราว 4,000 ปี (2070-1600 ปีก่อนค.ศ.)นั้นเป็นปริศนาไม่ต่างจากยุคตำนานเท่าไหร่นัก เนื่องจากประวัติศาสตร์สามราชวงศ์นี้มีแหล่งอ้างอิงหลักๆคือบันทึก ตำนาน เรื่องเล่าปรัมปรา

แต่สำหรับชาวจีนแล้วเชื่อในประวัติศาสตร์สามราชวงศ์ตามบันทึกประวัติศาสตร์มานับพันๆปีก่อนที่นักวิชาการตะวันตกที่เข้ามาในจีนยุคสมัยใหม่ช่วงศตวรรษที่ 18-19 จะตั้งคำถามถึงหลักฐานที่ยืนยันความมีอยู่จริงของ แต่ในปลายศตวรรษที่ 19 จีนก็เริ่มค้นพบหลักฐานทางโบราคดีที่ยืนยันประวัติศาสตร์ยุคต้นประวัติศาสตร์

ผู้เขียนหนังสือ “จีนยุคบุราณรัฐ” ได้ระบุว่า หากตัดเรื่องเหนือจริงออกไปแล้ว ประวัติศาสตร์ในยุคตำนาน อย่างเรื่องผู้ปกครอง “สามกษัตริย์ห้าจักรพรรดิ” ที่แทบทุกองค์ถูกยกเทียมเทพที่ทรงอิทธิฤทธิ์อภินิหาร ก็เป็นการอธิบายที่มาชนชาติ และที่มาของภูมิปัญญาชนชาติจีน ที่ส่งอิทธิพลทางความคิดการเมืองการปกครองและอื่นๆมาถึงยุคปัจจุบัน

กลุ่มผู้นำจีนมองย้อนประวัติศาสตร์ชนชาติจีนที่ได้ชื่อเป็นยอดนักจดบันทึกอยู่ตลอดโดยถือเป็นคุณลักษณะของผู้นำจีน พวกเขาเรียนรู้พัฒนาการทางความคิดด้านต่างๆและนำมาใช้ในการปกครองแผ่นดิน ยกตัวอย่างอิทธิพลจากยุคโบราณที่เป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้นำจีนยุคปัจจุบันอย่างมากคือ “อี่ว์” อี่ว์ เป็นผู้ปกครองคนสุดท้ายแห่งยุคตำนานคาบเกี่ยวกับยุคต้นประวัติศาสตร์ บางทีอี่ว์ก็ถูกยกให้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เซี่ย

วีรกรรมอันเลื่องลือของอี่ว์คือ การอุทิศตัวทุ่มเทให้กับการแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ถึง 13 ปีโดยลงมือลงแรงขุดลอกคูคลองด้วยตัวเอง ไม่ใส่ใจหน้าตาหัวหูเนื้อตัวจรดเท้าที่เลอะดินโคลนสกปรก ไม่ยอมเสียเวลาแวะเข้าไปเยี่ยมบ้านแม้ครั้งเดียวแม้เดินผ่านหน้าหน้าบ้านหลายครั้ง อี่ว์อุทิศตัวให้กับการปราบอุทกภัยจนได้รับการยกย่องเป็น “ต้าอี่ว์” หรือ อี่ว์ผู้ยิ่งใหญ่

ในบท “วันคืนก่อนจักรวรรดิ” ที่นับจากสิ้นยุคโจวตะวันตกที่รุ่งเรือง เป็นช่วงประวัติศาสตร์จีนที่สำคัญที่สุดก่อนที่จีนก้าวสู่การเป็นจักรวรรดิ นั่นคือ ยุควสันตสารท (770-476 ปีก่อนค.ศ.) และยุครัฐศึก (475-221 ปีก่อนค.ศ.) ที่ร้อนระอุไปด้วยศึกขัดแย้งและสงครามที่กินเวลายาวนานร่วม 550 ปี จากบันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า ในช่วงเวลา 241 ปีระหว่างยุควสันตสารทนั้น มีสงคราม 367 ครั้ง!

ทั้งนี้จีนเรียกยุควสันตสารทและยุครัฐศึกซึ่งเป็นยุคย่อยของราชวงศ์โจวตะวันออกที่อ่อนแอไร้อำนาจจริงว่า ชุนชิว (春秋)และจ้านกั๋ว(战国)

ในเนื้อหาประวัติศาสตร์ทั้งด้านพัฒนาการเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ความขัดแย้งวุ่นวาย สงครามช่วงชิงอำนาจอันเข้มข้นสุดๆของบท “วันคืนก่อนจักรวรรดิ” ยังชี้ถึงปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่งในยุควสันตสารท นั่นคือ กลุ่มขุนนางกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการปกครองที่จีนเรียก “ชื่อ” (士 ) ผู้เขียนคือ อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ได้บัญญัติคำภาษาไทยสำหรับคำนี้ ว่า วิชาธร และให้แง่มุมที่ไม่เคยปรากฎในหนังสือประวัติศาสตร์จีนฉบับภาษาไทยเล่มอื่น

พวกวิชาธรจะต้องร่ำเรียนสำเร็จหกสาขาวิชา คือ รีต (หลี่) คีต(เยี่ว์ย) เกาทัณฑ์ (เส้อ) รถศึก(อี้ว์) ศิลปักษร(ซู) และคณิต (ซู่) วิชาธรมีมาตั้งยุคโจวตะวันตก หากแต่มีบทบาทโดดเด่นมากในช่วงยุคโจวตะวันออก โดยมีฐานะเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของผู้นำรัฐช่วงชิงอำนาจการนำเหนือรัฐอื่นๆโดยที่ผู้นำรัฐมีฐานะเสมือนกษัตริย์ที่เหนือกว่ากษัตริย์ทั้งปวงหรือที่เรียกว่า อธิราช หรืออภิกษัตริย์ ที่จีนเรียก ป้าหวัง (霸王 ) อาทิ วิชาธรที่โดดเด่นมากคนหนึ่งคือ กว่านจ้ง ที่ปรึกษาคนสำคัญที่ช่วยให้ฉีกว๋านจงก้าวขึ้นมาเป็นอธิราช และวิชาธรที่โด่งดังมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีนคือ ซางยาง ผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปรัฐฉินจนเรืองอำนาจกลายเป็นรัฐทรงอิทธิพล จนกระทั่งกษัตริย์เจิ้งมีชัยในสงครามผนวกดินแดนรัฐทรงอิทธิพลทั้งหก และสถาปนาราชวงศ์ฉินในปี 221 ก่อนค.ศ. พร้อมกับตั้งตนเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกแห่งราชวงศ์ฉิน และเกิดคำเรียกขานกษัตริย์เจิ้งว่า ฉินสื่อฮว๋างตี้ (หรือจิ๋นซีฮ่องเต้) ปฐมบทแห่งจักรวรรดิจีนจึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 2,241 ปีที่แล้ว

ในท่ามกลางไฟมหาประลัยแห่งสงครามที่สังหารชีวิตทำลายแผ่นดินพินาศอย่างเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์พันปีของจีน ก็บังเกิดสิ่งยิ่งใหญ่ล้ำค่าและทรงอิทธิพลมานับพันๆปี นั่นคือ ปราชญ์หลายสำนักที่สาธารยายไว้ในบท “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ”

สำนักคิดขงจื่อกับสำนักหญู สำนักเต๋าของเหลาจื่อ สำนักม่อจื่อ สำนักหญูหลังยุคสมัยขงจื่อ สำนักเต๋าของจวงจื่อ และสำนักนิตินิยมของหันเฟยจื่อ ล้วนส่งอิทธิพลแก่กลุ่มการนำการปกครองจีนรวมทั้งด้านสังคมวัฒนธรรมอย่างชัดเจนจับต้องได้จากยุคฮ่องเต้มาถึงยุคปัจจุบัน
อย่างเช่นการสร้างสำนวนเรียกขาน “ร้อยบุปผาเบ่งบาน ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” ในยุคการปกครองคอมมิวนิสต์จีน ที่ผู้นำเหมาเจ๋อตงกล่าวถึงเสมอ เป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีถึงอิทธิพลพัฒนาทางความคิดที่เป็นมรดกตกทอดจากยุคโบราณอย่างไม่เสื่อมคลาย

จากเค้าโครงเนื้อหาอย่างย่นย่อของหนังสือเล่มเขื่อง จีนยุคบุราณรัฐ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะเห็นได้ว่า “ความเข้าใจจักรวรรดิจีนจะมิอาจสมบูรณ์ได้เลย หากไม่เข้าใจรัฐจีนตั้งแต่ยุคบรรพกาลจนถึงยุคต้นประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือ จีนยุคบุราณรัฐ”

ข้อมูลหนังสือ
ชื่อหนังสือ: จีนยุคบุราณรัฐ
ผู้เขียน: วรศักดิ์ มหัทธโนบล
สำนักพิมพ์: ศยาม
พิมพ์ครั้งแรก: กรกฎาคม 2563
จำนวนหน้า 528 หน้า
ราคาตามปก 490 บาท
ISBN 978-616-486-0261


กำลังโหลดความคิดเห็น