การพัฒนาแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ณ ทะเลทรายคู่ปู้ฉี (Kubuqi Desert) บนที่ราบสูงเอ้อเอ่อร์ตัวซือ (Ordor) ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในแห่งภาคเหนือของจีน เป็นผลพวงมาจากนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ขณะนี้ทะเลทรายซึ่งเคยได้ชื่อว่า “ทะเลแห่งความตาย” เริ่มมีพื้นที่สีเขียวจากต้นไม้พืชไร่แผ่กว้างหนาตากินพื้นที่กว่าครึ่งของทะเลทรายที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ประเทศจีน
จากรายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัวเผยเมื่อเร็วๆนี้ ทะเลทรายคู่ปู้ฉี เริ่มมีสีเขียวปกคลุมมากขึ้นหลังจากที่ชาวบ้านในท้องถิ่นร่วมมือกันปลูกป่ามานานราว 30 ปี อีกทั้งยังมีไฮเวย์สำหรับยานพาหนะต่างๆ แล่นผ่านอย่างสะดวกและปลอดภัย
ในอดีต ทะเลทรายคู่ปู้ฉี ซึ่งกินพื้นที่กว้างใหญ่ราว 18,600 ตารางกิโลเมตร ถูกเรียกขานเป็น“ทะเลแห่งความตาย” เกิดพายุทรายซัดกระหน่ำเป็นอาจิณ ไร้เส้นทางสัญจร ว่ากันว่าแทบไม่มีนกบินผ่าน ต่อมา...คนท้องถิ่นนับแสนได้ร่วมแรงร่วมใจกันบุกเบิกโครงการปรับปรุงพื้นที่ อาทิ การปลูกป่า การปลูกชะเอมเทศ และการพัฒนาปุ๋ยชีวภาพปรับสภาพดิน
ข้อมูลในปี 2019 ระบุว่าพื้นที่ปลูกป่าบนทะเลทรายแผ่อาณาบริเวณถึง 6,000 ตารางกิโลเมตรแล้ว และพื้นที่พืชผลขยายใหญ่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับร้อยละ 3 เมื่อ 30 ปีที่แล้ว
ตอนนี้ผู้คนสามารถขับรถบนทางหลวงข้ามทะเลทรายคู่ปู้ฉีได้อย่างปลอดภัย พืชพันธุ์สองข้างทางเขียวชอุ่มราวกับแนวพื้นที่สีเขียวลอยอยู่บนทะเลทราย
ทั้งนี้ จีนกำลังมุ่งสร้าง “อารยธรรมระบบนิเวศ” ภายใต้นโยบายการปฏิรูปที่วางไว้เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ขณะนี้บังเกิดความก้าวหน้าแผนการป้องกันและควบคุมการแปรสภาพเป็นทะเลทรายอย่างชัดเจน
Clip_Sept_21_2020_ XINHUA: จีนพลิกทะเลทราย เป็น “ทะเลแห่งความหวัง”
Clip_CCTV/NOV_2018: จีนใช้เวลา 30 ปี พลิกทะเลทรายเป็นพื้นที่สีเขียว พาเกษตรกรนับแสนหลุดพ้นจากความยากจน
Clip Sept16 _2019_Xinhua: สถานีพลังงานแสงอาทิตย์ PV (photovoltaic park) ขนาด 1 ล้านกิโลวัตต์ กลางทะเลทรายคู่ปู้ฉี *ทั้งนี้เซลล์โฟโตวอลเทอิกเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งทำหน้าที่แปลงพลังงานแสงหรือโฟตอนเป็นพลังงานไฟฟ้า