xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันช่วยได้ ฟื้นฟูไปด้วยกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

บทความโดย หลี่ หยิงหยวน ผู้อำนวยการใหญ่ สนง.เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย


ในปีพ.ศ.2563 วงการสาธารณสุขทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ชีวิตของผู้คนในทุกๆ ด้านต่างได้รับผลกระทบของโรคโควิด-19 ปัจจุบัน ประชาคมโลกมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าและยั่งยืนกว่าตามที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) และประเทศสมาชิกได้เรียกร้องไว้ ไต้หวันยินดีและพร้อมที่จะร่วมมือกับยูเอ็นในการบรรลุเป้าหมายนี้

ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของไต้หวันต่ำกว่า 500 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพียง 7 ราย ไต้หวันมิได้ถูกโรคโควิด-19 ตีแตกดั่งที่หลายคนเคยกล่าวไว้ ทั้งยังประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ไต้หวันสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19ได้โดยไม่ต้องปิดประเทศ ส่วนโรงเรียนก็ระงับการเรียนการสอนเพียง 2 สัปดาห์ในช่วงเดือน ก.พ. การแข่งขันกีฬาเบสบอลสามารถกลับมาจัดได้อีกครั้งในเดือน เม.ย. แม้ในช่วงแรกจะต้องใช้กระดาษแข็งรูปคนแทนผู้เข้าชม แต่เกมส์การแข่งขันก็ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าชมในสนามนับหมื่นคน

ความสำเร็จนี้เกิดจากมาตรการตอบโต้ที่รวดเร็วของไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศูนย์บัญชาการควบคุมโรค การควบคุมชายแดนและขั้นตอนการตรวจโรคอย่างเคร่งคัด การแบ่งปันข้อมูลแก่สาธารณะและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ไต้หวันยังได้ดำเนินการอย่างฉับไว เพื่อให้มีเวชภัณฑ์เพียงพอสำหรับการรองรับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลังจากมั่นใจว่ามีเวชภัณฑ์เพียงพอสำหรับการดูแลประชาชนของไต้หวันแล้ว ไต้หวันยังได้จัดส่งเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังประเทศต่างๆ ที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศพันธมิตรที่สำคัญของไต้หวันภายใต้ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” เมื่อเดือน เม.ย. และ ส.ค. ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไต้หวันได้บริจาคหน้ากากอนามัยให้แก่รัฐบาลไทยจำนวน 1.2 ล้านชิ้น ซึ่งเป็นการแบ่งปันน้ำใจของคนไต้หวัน แสดงถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างไต้หวันและไทย และเป็นการดำเนินตามแนวคิด “ไต้หวันกำลังให้ความช่วยเหลืออยู่” (Taiwan is helping!) จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ ไต้หวันได้บริจาคหน้ากากอนามัย จำนวน 51 ล้านชิ้น หน้ากาก N95 จำนวน 1.16 ล้านชิ้น ชุดป้องกันส่วนบุคคล (พีพีอี ) จำนวน 600,000 ชิ้น เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด จำนวน 35,000 ชิ้นและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ ให้กับ 80 กว่าประเทศทั่วโลก (รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน และประเทศในทวีปยุโรป) นอกจากนี้ ไต้หวันยังร่วมพัฒนาชุดทดสอบแบบรวดเร็ว (Rapid Test) ยาและวัคซีนกับประเทศที่มีแนวคิดร่วมกัน เพื่อร่วมกันเอาชนะโควิด-19

ในพิธีเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 75 ปี การลงนามในกฏบัตรสหประชาชาติ บรรดารัฐบาลและผู้นำประเทศต่างยอมรับว่ามีแต่เพียงการร่วมมือกันต่อสู้กับโรคระบาดอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่านั้น ถึงจะทำให้ยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างแท้จริง และรับมือกับผลที่ตามมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น บรรดาผู้นำจึงได้ให้คำมั่นว่าจะทำให้ยูเอ็นเป็นองค์กรที่เปิดกว้างและหวังว่าทุกประเทศจะฟื้นฟูจากโรคระบาดครั้งนี้ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการองค์กรสหประชาชาติ(ยูเอ็น) กล่าวในการประชุมระดับสูงของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งองค์กรสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council: ECOSOC) เมื่อเดือน ก.ค. ว่า การสร้างเครือข่าย การเปิดกว้าง และหลักพหุภาคีนิยมที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นประโยนน์ต่อการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals, เอสดีจี) แม้ว่า ไต้หวันเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวอย่างยิ่ง แต่ไต้หวันซึ่งเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยของโลกและประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับยังคงถูกกีดกันไม่ให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบยูเอ็นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ จึงถือว่าวิสัยทัศน์ของยูเอ็นยังไม่กว้างไกลพอ

การที่ไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมยูเอ็นนับว่าเป็นการสูญเสียของประชาคมโลก และจะกระทบต่อเป้าหมายการกลับสู่สภาวะปกติและการผลักดันไปสู่เป้าหมาย “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” ไต้หวันสามารถใช้ประสบการณ์พัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จนั้นมาช่วยให้ ประเทศอื่นฟื้นคืนจากผลกระทบของโรคระบาด เศรษฐกิจไต้หวันได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าในปีพ.ศ.2563 เศรษฐกิจของไต้หวันจะดีที่สุดในบรรดาสี่เสือแห่งเอเชีย (Four Asian Tigers) และเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงบวก ยิ่งไปกว่านั้น ผลการพัฒนาอย่างยั่งยืนอื่นๆ (ทั้งความเท่าเทียมทางเพศ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การจัดการน้ำและสุขาภิบาล ฯลฯ) ล้วนอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development, OECD) ความพยายามอย่างต่อเนื่องของไต้หวันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบกับความสำเร็จในการรับมือการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พิสูจน์ให้เห็นว่าไต้หวันมีศักยภาพช่วยประชาคมโลกในการรับมือกับความท้าทายที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่

ในความเป็นจริงแล้ว ไต้หวันได้ให้ความช่วยเหลือเป้าหมายการพัฒนาด้านต่างๆ แก่ประเทศในแอฟริกา เอเชีย แคริบเบียน ละตินอเมริกา และแปซิฟิกมาช้านาน เช่น พลังงานสะอาด การจัดการขยะและการป้องกันภัยพิบัติ ดังนั้น ไต้หวันได้ให้ความช่วยเหลือมามากแล้ว และจะช่วยได้มากกว่านี้หากมีโอกาสได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกลไกการทำงานของยูเอ็น

สิ่งที่น่าเสียดาย คือ การที่ชาวไต้หวันจำนวน 23.5 ล้านคนถูกปฏิเสธมิให้เข้าร่วมยูเอ็น ขณะเดียวกันสื่อมวลชนของไต้หวันก็ไม่สามารถเข้าร่วมรายงานข่าวในการประชุมต่างๆ ของยูเอ็น นโยบายการเลือกปฏิบัติเช่นนี้เกิดจากกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องและแรงกดดันโดยเจตนาของประเทศเผด็จการ ซึ่งขัดกับหลักการความเป็นสากลและความเสมอภาคอันเป็นหลักการที่มีขึ้นขณะที่มีการสถาปนายูเอ็น

อุดมการณ์ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานที่กำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติไม่ควรเป็นเพียงคำพูดลอยๆ หากยูเอ็นกำลังมองไปยังความก้าวหน้าในอีก 75 ปีข้างหน้า ยูเอ็นควรจะเปิดรับให้ไต้หวันได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น