สำนักข่าวซินหัวรายงาน, 26 ส.ค.— จีนอนุมัติการทดลองวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตัวใหม่ในมนุษย์ โดยวัคซีนดังกล่าวผลิตจาก “เซลล์แมลง”
โรงพยาบาลหัวซี (West China Hospital) แห่งมหาวิทยาลัยซื่อชวน (เสฉวน) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนดังกล่าว เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (24 ส.ค.) ว่าวัคซีนแบบโปรตีนลูกผสม (Recombinant protein vaccine) ตัวนี้ได้รับใบอนุญาตการวิจัยทางคลินิกจากสำนักบริหารเวชภัณฑ์แห่งชาติ (NMPA) แล้ว
คณะนักวิจัยประจำโรงพยาบาลฯ ระบุว่าวัคซีนข้างต้นจะเป็นวัคซีนโรคโควิด-19 ตัวแรกของจีน ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงในเซลล์แมลงและถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ โดยถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีต่อพื้นที่เฉพาะของสไปก์โปรตีน (spike protein) หรือโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ซึ่งก่อโรคโควิด-19
วารสารวิชาการเนเจอร์ (Nature) เผยแพร่ผลการทดสอบวัคซีนตัวใหม่ในสัตว์เมื่อวันที่ 29 ก.ค. แสดงให้เห็นว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในหนู กระต่าย และสัตว์กลุ่มไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์ในระยะ 7-14 วัน หลังรับวัคซีนเพียงหนึ่งโดส โดยไม่ปรากฏผลข้างเคียงที่ชัดเจน
เว่ย อวี๋ฉวน นักวิจัยอาวุโสประจำห้องปฏิบัติการชีวโมเลกุลหลักแห่งชาติของโรงพยาบาลฯ ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนบทความวิจัยนี้ กล่าวว่าวัคซีนข้างต้นผลิตจากการนำยีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ใส่ลงไปในเซลล์แมลงที่เพาะเลี้ยง ซึ่งสามารถทำให้โปรตีนของไวรัสเจริญเติบโต โดยแนวทางดังกล่าวเหมาะสำหรับการผลิตวัคซีนขนาดใหญ่
เว่ยเผยว่าก่อนหน้านี้คณะนักวิทยาศาสตร์เคยใช้เซลล์แมลงพัฒนาวัคซีนลูกผสมป้องกันมะเร็งปากมดลูกและไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มประเทศตะวันตกแล้ว พร้อมเสริมว่าวิธีการดังกล่าวสามารถใช้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ โรงพยาบาลหัวซี ซึ่งตั้งอยู่ในนครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ยังดำเนินงานร่วมกับบริษัทท้องถิ่น เพื่อออกแบบสายการผลิตวัคซีนอีกด้วย