ซินหัว--รายงานผลการศึกษาฉบับใหม่ว่าด้วยการอยู่รอดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 บนพื้นผิววัตถุที่แตกต่างกัน พบว่าอุณหภูมิ ความชื้น และลักษณะพื้นผิว ส่งผลต่อระยะเวลาระเหยแห้งของฝอยละอองจากระบบทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อไวรัส
รายงานผลการศึกษานี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารฟิสิกส์ ออฟ ฟลูอิดส์ (Physics of Fluids) เมื่อวันอังคาร (9 มิ.ย.) คณะนักวิจัยได้ศึกษาช่วงเวลาระเหยแห้งของฝอยละอองจากระบบทางเดินหายใจผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 บนพื้นผิวที่มีลักษณะแตกต่างกัน และเป็นพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิดหรือมือจับประตู และหน้าจอสัมผัสสมาร์ทโฟน โดยทำการศึกษาใน 6 เมืองทั่วโลก ได้แก่ นิวยอร์ก ชิคาโก ลอสแอนเจลิส ไมอามี ซิดนีย์ และสิงคโปร์
ฝอยละอองที่ลอยออกจากปากหรือจมูกของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในขณะที่ไอ จาม หรือแม้แต่ขณะพูดนั้น มีขนาดใกล้เคียงกับความกว้างของเส้นผมมนุษย์
การคำนวณระยะเวลาที่ฝอยละอองระเหยแห้งไปนั้นได้อาศัยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นตามหลักการวิทยาศาสตร์พื้นผิวร่วม (interface science) และได้ผลลัพธ์ว่าอุณหภูมิแวดล้อม ชนิดของพื้นผิว และความชื้นสัมพัทธ์ เป็นเงื่อนไขสำคัญในการระเหยแห้งของฝอยละออง
การศึกษาระบุว่า “อุณหภูมิแวดล้อมที่สูงขึ้น” ช่วยให้ฝอยละอองแห้งเร็วขึ้น นอกจากนี้ “สถานที่ที่มีความชื้นมากกว่า” จะทำให้ฝอยละอองปนเปื้อนบนพื้นผิวได้นานขึ้น ทำให้ไวรัสมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นด้วย
นักวิจัยยังได้จับเวลาดูว่าละอองฝอยในสภาพอากาศกลางแจ้งที่แตกต่างกันใช้เวลานานเท่าใดในการระเหยแห้ง และนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการศึกษาอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือไม่
“ความเข้าใจถึงการอยู่รอดของไวรัสในฝอยละอองและการระเหยแห้งนั้น อาจเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจโรคอื่นๆ ที่แพร่กระจายผ่านฝอยละอองจากทางเดินหายใจ อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (influenza A)” อามิต อากราวัล (Amit Agrawal) หนึ่งในผู้เขียนวิจัย ระบุ
นอกจากนี้การศึกษาแนะนำว่าเราควรทำความสะอาดพื้นผิวอย่างหน้าจอสมาร์ทโฟน ผ้าฝ้าย และไม้ บ่อยครั้งกว่าพื้นผิวกระจกและเหล็ก เนื่องจากพื้นผิวกระจกและเหล็กมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างชอบน้ำ (hydrophilic) ทำให้ฝอยละอองระเหยได้เร็วกว่า