xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: คนจีนยุคใหม่ลงทุนให้เงินงอกเงยกันอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
ผู้เขียน ร่มฉัตร จันทรานุกูลUniversity of International Business and Economics,School of International Education

ก่อนจะกล่าวถึงการลงทุนอาจจะต้องกล่าวถึงการเก็บเงินกันก่อน ผู้เขียนมองว่าแต่ละคนมีวิธีการเก็บเงินของตัวเอง เมื่อชีวิตของคนเราย่างเข้าสู่วัยทำงาน ภาระในชีวิตด้านต่างๆก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นการวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งการลงทุนนำมาซึ่งอิสรภาพทางการเงิน ทุกวันนี้คำว่าอิสรภาพทางการเงินก็ถูกตีความหมายกันไปต่างๆนานา สำหรับตัวผู้เขียนเองมองว่า การมีอิสรภาพทางการเงินคือ การไม่มีหนี้และเรายังคงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติแม้ว่าจะไม่มีงานทำ

หากว่าคุณต้องการมีอิสรภาพทางการเงินหรืออย่างน้อยต้องการมีรายได้เพิ่มเติมจากแรงงานของตัวเอง แน่นอนว่า “การลงทุน” เพื่อให้เงินที่มีอยู่งอกเงยด้วยตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณมีโอกาสบรรลุถึงเป้าหมายของการมีอิสรภาพทางการเงินนั่นเอง การลงทุนเป็นเรื่องของคนทั้งโลก แต่ละประเทศมีสภาพแวดล้อมและตลาดการลงทุนที่แตกต่างกัน ที่เห็นกันทั่วไปเช่น การฝากเงินในธนาคารแบบต่างๆเพื่อกินดอกเบี้ย การลงทุนซื้อกองทุนหรือหุ้นต่างๆ การลงทุนซื้อประกันชีวิต การลงทุนทองคำ การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

การลงทุนทั่วไปของคนจีนนั้นเป็นอย่างไร?จีนเปิดประเทศและพัฒนาด้านเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 1978 จนถึงขณะนี้ก็ 42 ปี การเติบโตด้านเศรษฐกิจของจีนหลายคนมองว่ามหัศจรรย์ จีนเติบโตแบบกระโดดก้าวข้ามมาจนปัจจุบันเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก จากประเทศที่ยากจนมาจนเป็นประเทศที่อู่ฟู่ มีเงินสำรองต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมาหลายสมัย ชาวจีนผ่านอะไรมามากมายเพราะความไม่มีทำให้ชาวจีนต้องดิ้นรน ทำให้ช่วงหลังที่คนจีนเริ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การกลัวความยากจน ทำให้นิสัยของคนจีน (โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าๆ) ชอบออมเงิน อัตราการออมเงินของชาวจีนสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก จากการประกาศตัวเลขของธนาคารประชาชนจีนในปี 2019 ประชากรทั่วประเทศ 1,400 ล้านคนมีเงินออมเฉลี่ยคนละ 5 หมื่นหยวนหรือประมาณ 2.3 แสนบาท แต่ทั้งนี้จีนก็มีช่องว่างทางรายได้ค่อนข้างสูงเลยทำให้ตัวเลขเฉลี่ยที่ทางการประกาศนี้ ประชาชนมองว่าไม่ใช่ตัวเลขแท้จริง ความจริงแล้วเงินออมรวมของคนทั้งประเทศกว่า 60 เปอร์เซ็นต์อยู่ในมือของมหาเศรษฐีจีนที่มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

จนถึงปัจจุบันสินทรัพย์ของครอบครัวคนจีนมากกว่า  70 เปอร์เซ็นต์อยู่ในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
ประชาชนจีนนำเงินออมที่มีอยู่กระจายการลงทุนกันอย่างไร จากการประกาศสถิติตัวเลขของ The Boston Consulting Group ของปี 2019 รายงานว่าประชาชนจีน 51 เปอร์เซ็นต์เลือกฝากเงินกับธนาคาร 15 เปอร์เซ็นต์เลือกซื้อกองทุนรวมของธนาคาร 10 เปอร์เซ็นต์เลือกซื้อประกันชีวิตแบบออมเงิน 6 เปอร์เซ็นต์เลือกซื้อหุ้น 6 เปอร์เซ็นต์เลือกซื้อกองทุนรวมในตลาด(นอกเหนือจากกองทุนของธนาคาร) 3 เปอร์เซ็นต์เลือกซื้อตราสารหนี้ ตัวเลขดรรชนีนี้ทำให้เราเห็นว่าคนจีนส่วนใหญ่ในประเทศยังชอบออมเงินในธนาคารมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่เกิดในช่วงระหว่างปี 1950-1970 (กลุ่มคนช่วงอายุ 50-70ปี) สำหรับบัญชีเงินฝากประจำจีน ณ ปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ บัญชีออมทรัพย์ ณ ปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 0.5-1 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันรัฐบาลจีนประกันเงินฝากที่จำนวน 5 แสนหยวนหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 2.2 ล้านบาท หมายความว่าหากธนาคารล้มละลายไปรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินฝากคืนให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบบัญชีละเท่ากับหรือน้อยกว่า 5 แสนหยวน

จากการเปิดเผยตัวเลขเงินฝากของประชาชนในปี 2019 รายงานว่าทั้งประเทศจีนบัญชีเงินฝากที่มีเงิน 5 แสนหยวนขึ้นไปมีอยู่ 0.37 เปอร์เซ็นต์ และบัญชีเงินฝาก 1 ล้านหยวนขึ้นไปมีอยู่ 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หมายความว่าถึงแม้คนจีนจะชอบการฝากเงินมากที่สุดแต่คนที่มีเงินสดฝากธนาคารมากกว่า 5 แสนหยวนเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยเท่านั้น กลับกันในด้านของสถิติการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวคนจีน 96 เปอร์เซ็นต์มีบ้านเฉลี่ยครอบครัวละ 1.5 แห่ง แสดงให้เห็นว่าคนจีนนำเงินออมลงมาไว้ที่อสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว

ในช่วงปี 1981-2008 จีนได้พัฒนาระบบการเงินการธนาคารภายในประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มพัฒนาตลาดตราสารหนี้ กองทุนและตลาดหุ้น เปิดให้ประชาชนเลือกลงทุนได้อย่างเสรี แต่เปอร์เซ็นต์ของคนที่ลงทุนในตราสารหนี้ กองทุนและตลาดหุ้นยังเป็นคนส่วนน้อยมากๆ ซึ่งคนส่วนนี้กระจุกตัวในเมืองใหญ่ มีความรู้ด้านการเงินเป็นอย่างดี หลังจากปี 2007-2008 เป็นต้นมาคนจีนส่วนใหญ่เปลี่ยนผ่านจากการฝากเงินในธนาคาร ไปสู่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่นับวันเริ่มที่จะร้อนแรงขึ้นมาจนปี 2018-2019 ที่เริ่มผ่อนกำลังความร้อนแรงลง ตรงนี้ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจว่า ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนมีแต่เพิ่มไม่มีลง ทำให้ชาวจีนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ แถมเป็นสิ่งที่จับต้องได้และคนจีนเห็นว่าการมีบ้านอยู่ของตัวเองสำคัญอย่างยิ่ง การแต่งงานของคนรุ่นใหม่มองว่าการมีรถ มีบ้านเป็นสิ่งที่จำเป็น

ตารางเปรียบเทียบราคาเฉลี่ยอสังหาริมทรัพย์ในเมืองหลักของจีนในรอบ 10 ปี (ข้อมูลมาจาก Wangyi Fangchan)


ตารางเปรียบเทียบราคาเฉลี่ยอสังหาริมทรัพย์ในเมืองหลักของจีนในรอบ 10 ปี (ข้อมูลมาจาก Wangyi Fangchan)

จากตารางด้านบนราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น ในรอบสิบปีเพิ่มเป็นหลายเท่าตัวทีเดียว จากตัวเลขสถิติบอกทำให้เรารู้ถึงเหตุผลว่าทำไมที่ผ่านมาคนจีนถึงนิยมลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ จนถึงปัจจุบันสินทรัพย์ของครอบครัวคนจีนมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์อยู่ในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการเติบโตที่รวดเร็วเกินไปทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่างทั้งเงินเฟ้อ ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ทวีคูณและความเสี่ยงของการเกิดฟองสบู่แตก เป็นเหตุผลให้ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ออกมาตรการร้อยแปดมายับยั้งพฤติกรรมการเก็งกำไรบ้านของคนจีน โดยมีคำขวัญที่ยังเน้นย้ำมาถึงปัจจุบันเพื่อเตือนสติว่า “บ้านมีไว้อยู่ไม่ได้มีไว้เก็งกำไร”เป็นผลให้หลังปี 2018 เป็นต้นมาตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนเริ่มลดความร้อนแรงลงไปมากและหลายคนก็มองว่ายุคทองของการลงทุนอสังหาริมทรัพย์จีนได้ผ่านไปแล้ว ในช่วงหลังนี้ราคาเฉลี่ยของอสังหาริมทรัพย์จีนค่อนข้างทรงตัว บางพื้นที่ที่มีศักยภาพราคาขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่หวือหวาเหมือนในสมัยก่อน

หลังจากการขจัดการเก็งกำไรบ้านของประชาชนแล้ว ในช่วงปีหลังๆนี้คนจีนมีแนวโน้มที่จะนำเงินกระจายลงทุนออกไปมากขึ้นเพราะตลาดได้ถูกเปิดมากขึ้น โดยอย่างแพลตฟอร์ม E-wallet ของอาลีเพย์และวีแชทเองก็ยังได้ออกผลิตภัณฑ์เหมือนเงินฝากออมทรัพย์แต่ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารทำให้คนจำนวนมากโอนเงินออกจากธนาคารมาเข้าฝากในแพลตฟอร์มพวกนี้แทน นอกจากนี้ยังมีกองทุนลงทุนทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากออกมาในตลาด บริษัทประกันภัยของจีนก็ลงมาเล่นตลาดฝากเงินพ่วงการคุ้มครองชีวิต ที่ให้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูงกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้แล้วคนจีนในกลุ่มมั่งคั่งก็เริ่มมีออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยการรายงานสถิติของสถาบัน FT กล่าวไว้ว่าในร้อยคนที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ 72 เปอร์เซ็นต์เป็นการลงทุนซื้อบ้าน ที่เหลือคือการลงทุนในหุ้นหรือการฝากเงิน เป็นต้น จุดประสงค์ของการลงทุนของคนจีนกลุ่มนี้หลักๆเพื่อการศึกษาเรียนต่อของลูกหลานหรือเตรียมพร้อมการย้ายถิ่นฐาน อีกจำนวนหนึ่งเพราะต้องการหาการลงทุนที่มีดอกผลที่ดีกว่าในประเทศนั่นเอง

เราจะเห็นว่าแนวโน้มการลงทุนของประชาชนจีนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย นโยบาย ตลาดที่ส่งเสริม กลับมามองสถานการณ์หลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 หลายๆคนพูดเสียงเดียวกันว่า เงินสดคือพระเจ้า ดังนั้นหลังจากนี้ไปผู้เขียนคาดการณ์ว่าคนจีนก็น่าจะมีแนวโน้มที่จะเก็บเงินสดกันมากขึ้นอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น