xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: มารู้จัก อาลีบาบา และหลังจากการเข้ามาของ อาลีบาบา การค้าออนไลน์ไทย จะเปลี่ยนไปอย่างไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อปี  ค.ศ. 1999 แจ็ค หม่ากำลังประชุมกับผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทอาลีบาบา ทั้ง 18 คน และลูกน้องบริษัท ที่มา เอเจนซี่
โดย ร่ม ฉัตร จันทรานุกุล

ผู้เขียนเชื่อว่าในเวลานี้ข่าวในไทยที่ฮิตฮอตแซงทางโค้งมากที่สุด น่าจะเป็นข่าวที่นาย แจ็ค หม่าผู้ก่อตั้ง อาลีบาบา (Alibaba) ไปเยือนเมืองไทยโดยการเชิญของรัฐบาลไทย และได้เข้าพบกับท่านนายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้แจ็ค หม่าได้เซ็นสัญญาร่วมมือกับทางรัฐบาลไทย 4 สัญญาด้วยกัน การไปเยือนไทยในครั้งนี้ของแจ็ค หม่า ไม่ใช่แค่สะเทือนข่าวในไทยเท่านั้น ที่จีนเองก็มีข่าวออกมาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเช่นกัน

การเข้ามาของ อาลีบาบา เกิดมีความคิดเห็นต่างๆมากมายในสังคมไทย ทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุน สำหรับผู้เขียนคิดว่าการเข้ามาของ อาลีบาบาเป็นสิ่งที่คาดเดาได้เพราะการพัฒนาของตลาดและระบบอีคอมเมิร์ช (E-commerce) กำลังขยายออกไปทั่วโลก จีนเองถือเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีการพัฒนาอีคอมเมิร์ชมากที่สุด ตลาดใหญ่ที่สุด ผู้คนใช้จ่ายผ่านออนไลน์มากที่สุดเพราะฉะนั้นคงไม่ต้องสงสัยว่าทำไม อาลีบาบาถึงเติบโตเร็วขนาดนี้

วันนี้ผู้เขียนขอใช้โอกาสนี้มาบอกเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับ Alibaba Group โดยคร่าวๆแล้วมาวิเคราะห์กันเล่นๆว่า การที่ อาลีบาบา เข้ามาไทยการค้าออนไลน์ของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

บริษัท อาลีบาบา ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1999 โดย นาย แจ็คหม่า และกลุ่มเพื่อน 18 คนในเมืองหังโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงเริ่มก่อตั้งบริษัทของแจ็ค หม่า ต้องการหาทีม หาคนมาร่วมหัวลงท้าย มีหลายคนบอกว่าเขาบ้าไปแล้วไม่ก็ขายฝัน ในเวลานั้นไม่มีใครรู้อนาคตและคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพูด เพราะในช่วงก่อตั้งเขามีความมุ่งมั่นที่จะเอาสินค้าต่างๆจากทั่วประเทศขึ้นไปบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตและให้ผู้ขายกับผู้ซื้อเจอกันบนแพลตฟอร์ออนไลน์ และขายสินค้าไม่ใช่แค่ในประเทศแต่คือทั่วโลก ในขณะนั้นระบบอินเทอร์เน็ตในจีนยังล้าหลังและยังใช้กันไม่กว้างขวางนัก

การริเริ่มธุรกิจของกลุ่มแจ็ค หม่า อยู่บนพื้นฐาน “เพื่อให้กลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กได้รับประโยชน์สูงสุด เราเชื่อว่าแพลตฟอร์มออนไลน์นี้จะสามารถสร้างการแข่งขันในตลาดที่เป็นธรรม บริษัทต่างๆเหล่านี้จะได้รับบริการที่ใช้เทคโนโลยี ช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย ทำให้การแข่งขันในประเทศและต่างประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามกลไกของตลาด”

ผู้เขียนขอเท้าความถึง “เถาเป่า ดอท คอม” (Taobao.com) ซึ่งอยู่ภายใต้อาลีบาบา กรุ๊ป การเกิดขึ้นของเถาเป่าในช่วงเริ่มต้นและระยะการเติบโตมีผู้ค้าจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบและมีกระแสต่อต้านเถาเป่า อย่างเช่นที่ปักกิ่ง “จงกวนชุน” ย่านการค้าทั้งค้าปลีกและขายส่งอิเล็กทรอนิก คอมพิวเตอร์ ร้านค้าหลายรายต้องปิดตัวลงตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา เพราะการเติบโตของการซื้อขายออนไลน์ ประชาชนสะดวก อยู่บ้านก็ช้อปปิ้งได้ มีสินค้าหลากหลายให้เลือก เปรียบเทียบราคาหลายร้านได้ในทีเดียว ได้รับการประกันสินค้าจากร้านค้าแบรนด์โดยตรง การเปลี่ยนสินค้าก็สะดวกง่ายดายรวดเร็วเพราะระบบโลจิสติกส์ที่ทั่วถึง ทุกวันนี้แหล่งจงกวนชุนที่เคยเป็นศูนย์การค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์หลักของปักกิ่งแทบไม่หลงเหลืออยู่แล้ว ขณะนี้ได้กลายเป็นห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารเป็นหลัก

ผลกระทบถัดมาคือห้างสรรพสินค้า ห้างสรรพสินค้าที่ไม่มีการปรับตัวกับการตลาดที่นับวันยิ่งแข่งขันรุนแรง ไม่ทันสมัยก็ทยอยปิดตัวลง ภายใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ในปักกิ่งมีห้างสรรพสินค้าจำนวนหนึ่งที่ปิดตัวลง

ต่อมาหลังจากการเติบโตของเถาเป่ามาได้สักระยะ ก็เริ่มมีปฎิกิริยาต่อต้านจากผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ว่า เถาเป่าเป็นแหล่งขายสินค้าปลอมดีๆนี่เอง ลูกค้าจำนวนมากที่ซื้อสินค้าผ่านเถาเป่าเจอแจ็คพ็อตได้สินค้าปลอมอยู่เนืองๆ เรื่องนี้เป็นกระแสที่แรงพอสมควรในช่วงนั้น

แจ็ค หม่าได้ออกมากล่าวถึงกรณีสินค้าปลอมในเถาเป่าว่า “เถาเป่ามีสินค้าปลอมเกิดขึ้น...ตั้งแต่มีมนุษย์ชาติเกิดขึ้น ของปลอมก็มีมาตลอด ของปลอมเกิดขึ้นจากความอยากของมนุษย์ มนุษย์มีความโลภ มนุษย์ชอบของถูก มนุษย์ก็มีความอยากร่ำรวยอย่างรวดเร็วเพราะฉะนั้นผู้ซื้อสินค้าในเถาเป่า ต้องมีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่งที่อาจจำแนกได้ว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม ”

ในแง่ของการแก้ไขปัญหาสินค้าปลอมนี้ แจ็ค หม่าได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “หากพบว่ามีผู้ค้าขายสินค้าปลอม ให้ร้องเรียนได้ทันทีเพราะทางเถาเป่า มี IP ของผู้ขายสามารถที่จะติดตามได้ และที่สำคัญเราได้แชร์ข้อมูลทั้งหมดกับทางตำรวจเพื่อตามจับแหล่งผลิตและแหล่งขายสินค้าปลอม”

ตามที่แจ็ค หม่ากล่าวถึงนี้ความหมายก็คือ สินค้าปลอมที่ขายในตลาดไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ สินค้าปลอมไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีเถาเป่า แต่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้แจ็ค หม่าก็ยอมรับกรณีสินค้าปลอมที่มีขายในเถเป่า และก็พยายามแก้ไขปัญหานี้

หลังจากมีเถาเป่าได้ไม่นาน อาลีบาบากรุ๊ปได้ออกแพลตฟอร์มใหม่คือ ทีมอลล์ (Tmall) เป็นการซื้อขายลักษณะเดียวกับเถาเป่า แต่ว่ามีการควบคุมการเข้ามาของร้านค้าอย่างเข้มงวด ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนถึงจะเปิดร้านในทีมอลล์ได้ เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าที่นำขึ้นมาขายและเป็นการประกันคุณภาพสินค้าให้แก่ผู้ซื้ออีกทางหนึ่ง

ร้านค้าแบรนด์เนมจำนวนมากเลือกที่จะเปิดร้านในทีมอลล์เพราะเป็นการขยายตลาดออนไลน์ ไม่ใช่แค่ขายในร้านค้าตามห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ซึ่งช่วยขยายกลุ่มลูกค้าทั่วประเทศได้ง่ายและรวดเร็วกว่า การเปิดร้านในทีมอลล์ช่วยดันยอดขายให้แก่แบรนด์ได้มาก อีกอย่างคือโปรโมชั่นลดราคาต่างๆจะมากกว่าร้านค้าที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าเสียอีก เนื่องจากร้านค้าออนไลน์ต้นทุนไม่สูงเท่าร้านค้าจริง การส่งสินค้าจากโกดังสินค้าถึงมือลูกค้าได้โดยตรง
โลโกบริการแพลตฟอร์มต่างๆที่อยู่ภายใต้อาลีบาบา กรุ๊ปในปัจจุบัน ที่มา เอเจนซี่
อีกบริการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของอาลีบาบากรุ๊ปคือ อาลีเพย์ (Alipay) แพลตฟอร์มบริการทางการเงิน ตัวกลางชำระเงินระหว่างผู้ซื้อขายและธนาคาร การเริ่มต้นของ Alipay คือเป็นตัวกลางในการชำระเงินซื้อสินค้าบนเถาเป่าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย กล่าวคือหากผู้ซื้อจ่ายเงินค่าสินค้าแล้ว เงินจะไปอยู่บนอาลีเพย์ก่อน ไม่โอนเข้าบัญชีผู้ขายโดยตรง/ทันที จากนั้นระบบซื้อขายจะแจ้งเตือนผู้ขายว่า ผู้ซื้อได้ชำระค่าสินค้าแล้วให้รีบส่งสินค้า ผู้ขายจะจัดการส่งสินค้าให้ผู้ซื้อ โดยหลังจากส่งแล้วต้องส่ง หมายเลขติดตามสินค้า (tracking no) ของใบส่งสินค้าไปที่ระบบเถาเป่าให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบการเดินทางของสินค้าได้ หลังจากที่ผู้ซื้อเซ็นชื่อรับสินค้าจากโลจิสติกส์แล้ว ระบบจะแจ้งว่ามีการเซ็นชื่อรับสินค้าแล้ว ถึงตอนนี้เงินจากอาลีเพย์ จึงถูกโอนเข้าบัญชีผู้ขาย

การเกิดขึ้นของอาลีเพย์ เป็นการประกันการซื้อขายให้แก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ป้องกันการโกงของผู้ขายที่อาจได้รับเงินโอนค่าสินค้าแล้วชิ่งหนี การมีระบบตัวกลางคือ อาลีเพย์ นี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เถาเป่า และทีมอลล์ รวมถึงแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์อื่นๆภายใต้อาลีบาบากรุ๊ปเติบโตอย่างต่อเนื่อง

หลังๆมาบริการต่างๆของอาลีเพย์ แตกแขนงมากขึ้นทั้งบริการรับเงินฝากดอกเบี้ยสูง บรืการให้กู้ยืมเงิน ขายกองทุนรวมต่างๆ บริการเหล่านี้ได้รับการยอมรับจากประชาชนจีนอย่างสูง ทำให้บริการบัตรเดบิตและเครดิตของธนาคารได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย ต้องปรับตัวกันมากทีเดียว

หลังจากเกริ่นไปซะนานผู้เขียนขอเข้าเรื่องที่ว่าหลังจากที่อาลีบาบาประกาศ
อย่างเป็นทางการที่จะเข้ามาเมืองไทยและประเทศในแถบอาเซียน จะเกิดอะไรขึ้น?อาลีบาบาบุกไทยเพราะเห็นโอกาส “Two-Way” คือนำสินค้าไทยที่จีนต้องการออกไปขายและขยายสินค้าจีนเข้ามาในไทยมากขึ้น ตรงนี้เริ่มมีคนเป็นห่วง พ่อค้าคนกลางหรือคนที่ทำธุรกิจนำเข้าสินค้าจีนหรือคนที่ทำธุรกิจค้าปลีกส่ง อาจจะได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าในอนาคต



ผู้เขียนขอไม่โลกสวยมีความเห็นว่าเป็นไปได้ทีเดียวที่ทุกคนต้องรีบปรับตัวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในจีนใน 10 ปีที่ผ่านมาอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไปข้างต้นกำลังจะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันในไทย ดังนั้นตอนนี้จะไปต่อต้านหรือมีอคติคงไม่ได้เพราะการเติบโตของอีคอมเมิร์ซเป็นเทรนด์ไปแล้ว เมืองไทยอาจจะช้ากว่าจีน 5-10 ปี เราต้องยอมรับและรับมือ ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง ในตลาดของผู้บริโภคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความหลากหลายมากขึ้น บริษัททั้งหลายต้องมีกลยุทธ์รับมือกับคลื่นลูกใหม่นี้เพราะในอนาคตผู้ซื้อจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะเลือกสินค้าและบริการ ใครที่ปรับตัวไม่ทันหรือไม่อัพเดทสินค้าและบริการจะตกขบวนอย่างรวดเร็ว วงจรของธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงเร็วมากขึ้น ผู้ค้าที่ไมแข็งแกร่งพอจะถูกคัดออกและจะมีผู้ค้าใหม่เข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว ในมุมของผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด มีทางเลือกมากมายในการบริโภค สำหรับการเข้ามาของอาลีบาบาครั้งนี้ผู้ค้าทุกท่านมีกลยุทธ์ในใจแล้วหรือยัง


กำลังโหลดความคิดเห็น