xs
xsm
sm
md
lg

แชเฉาจุ้ย น้ำต้มสมุนไพรสดในหน้าร้อนของชาวจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อั่งเต็ก/ว่านกาบหอย ขอบคุณภาพจาก www.52yhua.com/zhuanti/6378.html
โดย พชร ธนภัทรกุล

อากาศในเมืองจีนเริ่มอุ่นขึ้นในช่วงคาบฤดูที่จีนเรียกว่า “ชุงหุ่ง” (春分) ซึ่งป็นวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน เพราะดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกตรงกับทิศตะวันออกและตะวันตกพอดี ไม่เอียงไปทางเหนือหรือทางใต้เหมือนวันอื่นๆ ไทยเรียกวันนี้ว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และปีนี้ตรงกับวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา

ตามปฏิทินสุรยคติจีน วันนี้ถือเป็นวันกึ่งกลางฤดูใบไม้ผลิพอดี และนับจากวันนี้ไปจนถึงวันเช็งเม้ง (4-5 เมษายน) จะเป็นช่วงที่ธาตุไม้มีอิทธิพลสูงสุด พืชพรรณต่างๆอยู่ในช่วงแตกยอดผลิใบอ่อน

ทางแพทย์แผนจีน (Chinese Traditional Medicine -CTM) มองว่า เป็นช่วงที่เลือดและของเหลวในร่างกายคนเราอยู่ในภาวะสมบูรณ์ที่สุด

แต่ที่เมืองไทย เราได้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนกันมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ หรือกว่าเดือนครึ่งมาแล้ว และจะไปสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ช่วงนี้ อากาศจะเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสภาวะอากาศที่เปลี่ยนไป ย่อมมีผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของคนเรา
โพวตี่กิ้ม/หญ้าเกล็ดหอย ขอบคุณภาพจาก http://blog.xuite.net/hsu042/twblog1/122927988
นานนับพันปีมาแล้ว ที่ชาวจีนเลือกดูแลสุขภาพตัวเองและคนในครอบครัวในช่วงอากาศเริ่มร้อนนี้ ด้วยน้ำต้มสมุนไพรสดและน้ำต้มยาจีน โดยเรียกรวมกันไปว่า เหลียงฉา (凉茶 จีนกลาง) ชาวจีนที่พูดสำเนียงอื่น ซึ่งไม่ใช่เสียงจีนกลาง ก็จะออกเสียงต่างกันไป เช่น เหลี่ยงแต๊ เลี่ยงเต๊ เหลียมฉ่า เป็นต้น แต่ชาวบ้านแต้จิ๋วจะเรียกตามภาษาปากของตนว่า เหลี่ยงจุ้ย (凉水คำนี้ยังมีอีกความหมายหนึ่งว่า น้ำเย็น)

เมื่อก่อน ย่านเยาวราชมีร้านขาย “เหลี่ยงจุ้ย” อยู่หลายเจ้า มีทั้งที่เป็นร้านและที่เป็นหาบเร่ข้างทาง น้ำ “เหลี่ยงจุ้ย” ที่นิยมขายกันก็มีน้ำต้มรากบัว น้ำต้มแห้ว น้ำต้มหล่อฮั้งก้วย และน้ำต้มเก๊กฮวย แต่น้ำเหลี่ยงจุ้ยที่ดังหน่อยเห็นจะเป็นน้ำขมของร้านคั้นกี่

คนขายจะตักน้ำ “เหลี่ยงจุ้ย” ใส่แก้วใบเล็กตั้งเรียงเป็นแถว ใช้แผ่นแก้วกลมเป็นฝาปิดปากแก้วไว้กันฝุ่นผง และเอาไว้วางแก้วซ้อนได้อีกชั้นหนึ่ง ลูกค้าก็เลือกหยิบกันเอาเอง อยากดื่มที่ไม่ร้อนมาก ก็หยิบแก้วที่เขาตั้งเรียงอยู่แล้วดื่มได้เลย แต่ถ้าอยากดื่มร้อนหน่อย ก็ต้องบอกคนขายให้ตักจากหม้อต้ม อย่างนี้จะได้ “เหลี่ยงจุ้ย” ร้อนอุ่นกำลังดีไม่ลวกปากลวกคอ ดื่มชื่นใจ รู้สึกอุ่นกรุ่นไปถึงในท้อง หากแต่สมัยนี้นิยมใส่ในแก้วพลาสติกหรือบรรจุขวดแช่เย็นไว้ ชาวจีนรุ่นอากงรุ่นอาม่าไม่นิยมดื่มน้ำ “เหลี่ยงจุ้ย” แช่จนเย็นจัดอย่างนี้กัน

นอกจาก “เหลี่ยงจุ้ย” ที่ใช้เป็นชื่อรวมสำหรับเรียกน้ำต้มสมุนไพรสดและน้ำต้มยาจีนแล้ว ชาวแต้จิ๋วยังเรียกน้ำต้มยาจีนกับน้ำต้มสมุนไพรสดแยกจากกันต่างหาก โดยเรียกน้ำต้มยาจีน ซึ่งมักใช้ยาจีนหลายชนิดว่า จับเลี้ยง (杂凉什凉) ซึ่งคำว่า จับ/จั๊บ (杂/什) สองคำนี้ มีความหมายเดียวกัน คือหมายถึงของหลายอย่างปนกัน ผสมกัน ไม่ได้แปลว่า สิบ เพราะจับเลี้ยงหลายตำรับใช้ยาจีนมากถึงสิบกว่ายี่สิบอย่างผสมกันก็มี

แต่หากใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะไม่เรียกว่าจับเลี้ยง แต่จะเรียกตามชื่อยาจีนชนิดนั้นๆ เช่น ใช้หล่อฮั้งก้วย (罗汉果) เพียงอย่างเดียวต้มน้ำ ก็จะเรียกน้ำต้มนั้นว่า หล่อฮั้งก๋วยจุ้ย (罗汉果水) หรือน้ำหล่อฮั้งก้วย หรือใช้เก๊กฮวยอย่างเดียวต้มหรือชงน้ำ ก็จะเรียก เก็กฮวยจุ้ย (菊花水) หรือน้ำเก๊กฮวย เป็นต้น

ส่วนน้ำต้มสมุนไพรสด ชาวบ้านแต้จิ๋วเรียกว่า “แชเฉาจุ้ย” (青草水) ที่เรียกอย่างนี้เพราะชาวแต้จิ๋วเรียกสมุนไพรสดว่า แชเช่า (青草) นั่นเอง
ฮัมขักเช่า/ใบบัวบก ขอบคุณภาพจาก https://baike.baidu.com
ชาวแต้จิ๋วเอาสมุนไพรสดหรือแชเช่าหลายอย่างมาต้มรวมในหม้อเดียวกัน ความนิยมดื่มน้ำต้ม “แชเฉาจุ้ย” ของชาวแต้จิ๋ว ไปไกลถึงขนาดที่มีแผงขาย “แชเช่า” โดยเฉพาะ แม้แต่แผงขายผักบางเจ้าก็มีแชเช่าขายด้วย ซึ่งเมื่อราวสี่สิห้าสิบปีก่อน จะพบเห็นแผงขายแชเช่าที่ว่านี้ตามตลาดสดในย่านที่มีคนจีนอยู่กันมาก เช่น ตลาดเก่าเยาวราช ตลาดใหม่ (เล่งบ๋วยเอี๊ย) ตลาดท่าดินแดง ตลาดวงเวียนใหญ่ เป็นต้น

แชเช่าที่ขายมีหลายชนิด เช่น โพวตี่กิ้ม อั่งเต็ก ฮำขักเช่า จั่วจิเช่า ใบหม่อน ใบบัว กลีบดอกบัว กล้วยหอมดิบ และอื่นๆ สมุนไพรสดเหล่านี้ เอามาต้มน้ำดื่มได้ แต่ผมไม่เคยพบเห็นใครต้มน้ำแชเช่ามาขาย ที่เคยเห็นและยังมีขายอยู่ในทุกวันนี้ มีก็เพียงรากหรือหัวเหง้าของพืชบางชนิดเท่านั้น ที่มีคนเอามาต้มน้ำขาย เช่น น้ำต้มรากบัว น้ำต้มแห้ว หรือน้ำคั้นใบบัวบก

ดังนั้น ถ้าอยากดื่มน้ำแชเฉาจุ้ย ก็ต้องไปซื้อมาต้มเอง ยาจีนที่ใช้ต้มน้ำเหลี่ยงจุ้ยหรือจับเลี้ยง เราต้องไปซื้อจากร้านขายยาจีน ซึ่งแต่ละร้านจะมีตำรับของทางร้านเอง และการจัดยาจีนแต่ละอย่าง ก็ต้องชั่งให้ได้น้ำหนักตามที่ระบุไว้พอดี ไม่ให้ขาดไม่ให้เกิน ซึ่งผิดกับสมุนไพรสดหรือแชเช่าที่เอามาต้มน้ำ “แชเฉาจุ้ย” ที่สามารถไปซื้อได้จากในตลาดสด หรือเก็บเด็ดเอาจากที่ตัวเองปลูกไว้ การจัดสมุนไพรสดจึงใช้วิธีกะประมาณเอาเองแบบง่ายๆ เพราะน้ำ “แชเฉาจุ้ย” ไม่มีตำรับที่แน่นอน และไม่เคร่งครัดเรื่องน้ำหนักของสมุนไพรสดแต่ละอย่างที่ใช้นั่นเอง

เวลาผมไปซื้อแชเช่าจากแผงขายในตลาดสด คนขายจะจัดชนิดและกะปริมาณสมุนไพรแต่ละชนิดให้เอง หยิบโพวตี่กิ้มมากำใหญ่ ดอกบัวสองสามกลีบ อั่งเต็กใบสองใบ ฮำขักเช่าเล็กน้อย รากบัวปล้องเล็กๆหนึ่งปล้อง กล้วยหอมดิบลูกไม่ใหญ่นักหนึ่งลูก ฉีกใบบัวให้เสี้ยวหนึ่ง และอื่นๆอีกเล็กๆน้อยๆ จากนั้น ก็รวบทุกอย่างไว้ด้วยกันใช้เชือกมัดไว้ และส่วนมากจะได้โพวตี่กิ้มมาเยอะสุด จนบางครั้งก็เลยซื้อแต่โพวตี่อิ้มอย่างเดียว
ใบบัวสดตากแห้ง ขอบคุณภาพจากwww.leha.com/health/133673
พอได้แชเช่ามาแล้ว อาม่าก็จัดแจงล้างทุกอย่างให้สะอาด หั่นกล้วยหอมเป็นชิ้นหนา ใส่ทุกอย่างในหม้อใหญ่ เติมน้ำ 3-4 ลิตร ต้มให้เดือด เดือดแล้วตักกากทั้งหมดทิ้ง ใส่น้ำตาลกรวด พอให้ได้รสหวาน ได้น้ำ “แชเฉาจุ้ย” ให้ทุกคนในบ้านดื่มได้ทั้งวัน นี่เป็นน้ำแชเฉาจุ้ยจากสมุนไพรสดหลายชนิด

น้ำแชเฉาจุ้ยที่ใช้สมุนไพรสดชนิดเดียวก็มี อย่างที่บ้านเคยปลูก “อั่งเต็ก” ไว้เป็นไม้ประดับอยู่หลายกระถาง ซึ่งอั่งเต็กเป็นทั้งไม้ประดับและพืชสมุนไพร บ่อยครั้งที่อาม่าเก็บอั่งเต็กมา 3-4 ใบ ล้างสะอาด ใส่น้ำ 3-4 ลิตร ต้มให้เดือด ใส่น้ำตาลกรวดพอให้มีรสหวาน ได้น้ำต้มอั่งเต็กหม้อใหญ่ ไว้ดื่มแก้ร้อนใน ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไอ ให้ดื่มกันได้ทั้งบ้าน

บางครั้ง อาม่าก็เอาใบไม้ใบหญ้าและพืชผักบางชนิด เช่น ใบอ่อนของไผ่ ไหมหรือฝอยข้าวโพด เปลือกฟักแก่ ใบหม่อน รากบัว แห้วจีน และอื่นๆ มาต้มน้ำให้พวกเราดื่ม โดยเฉพาะแห้วจีนสดและรากบัวสด

น้ำต้มแห้วจีน ดื่มแล้วเลือดลมเดินสะดวก ดับร้อนลดไข้ ละลายเสมหะ ขับปัสสาวะ ดื่มเป็นประจำ ช่วยทุเลาอาการปัสสาวะขุ่น หรือขัดเบาได้

ส่วนน้ำต้มรากบัว ดื่มแก้กระหาย ป้องกันอาการเป็นลมแดด ขับเสมหะ ขับน้ำลาย ย่อยอาหาร บำรุงเลือดด้วย เป็นหนึ่งในน้ำต้มสมุนไพรสดประจำบ้าน
กล้วยหอมดิบ ขอบคุณภาพจาก https://www.xinshipu.com/zuofa/194852
อาม่าต้มน้ำ “แชเฉาจุ้ย” บ่อยเสียจนดูเหมือนเป็นหน้าที่รับผิดชอบอย่างหนึ่ง ที่ต้องทำประจำ เพราะอย่างนี้เอง ผมจึงคุ้นเคยกับน้ำ “แชเฉาจุ้ย” มาตั้งแต่เด็ก

ผมพูดถึงแชเช่าหรือสมุนไพรสดไว้หลายชนิด แต่จะแนะนำให้รูจักกันสักสองชนิด

อั่งเต็ก (红竹) ไม้ประดับในบ้านที่อาม่าริดใบมาต้มน้ำให้ทุกคนดื่มอยู่บ่อยๆ เป็นที่ที่ชาวแต้จิ๋วเรียกกัน ชื่อนี้แปลว่า ไผ่แดง แต่จริงๆ พืชชนิดนี้ไม่ใช่ไผ่ แต่เป็นว่านชนิดหนึ่ง มีชื่อจีนสามัญว่า จื่อ-เป้ย-ว่าน-เหนียน-ชิง (紫背万年青 จีนกลาง) แปลว่า เขียวหมื่นปีหลังม่วง และยังมีชื่ออื่นๆอีกร่วมสิบชื่อ ชื่อที่ฟังดูน่ารัก เช่น จื่อ-จิ่น-หลัน (紫锦兰) หรือ จื่อ-หลัน (紫兰) แปลว่า ลิลี่สีม่วง (ที่ไม่ใช่ลิลี่)ชื่อที่ฟังดูแปลก คือ หง-เมี่ยน-เจียง-จวิน (红面将军) เพราะแปลว่า ขุนพลหน้าแดง

อั่งเต็กมีชื่อไทยว่า ว่านกาบหอย ด้วยลักษณะใบที่มีสีเขียวด้านหน้าใบกับสีม่วงอมแดงด้านหลังใบ ที่ตัดกันอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ดูสวยไม่แพ้ไม้ประดับอื่นๆ จึงมีคนปลูกไว้เป็นไม้ประดับ แต่ก็เป็นพืชสมุนไพรด้วย

อั่งเต็กมีรสหวานออกจืด มีคุณสมบัติเย็น สรรพคุณคือดับร้อนถอนพิษ ละลายเสมหะ ใช้แก้แห้ง แก้ไอกรน วัณโรคในต่อมน้ำเหลือง แก้บิดถ่ายเป็นเลือด แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ชาวจีนเก็บใบมาต้มน้ำดื่ม เพื่อแก้กระหาย แก้ร้อนใน แก้ไอ เป็นสำคัญ

โพวตี่กิ้ม (铺地锦) หรือเทียงโอ่วซุย (天胡荽) และยังมีอีกหลายชื่อ แต่เอาเฉพาะสองชื่อนี้ที่ใช้กันค่อนข้างมากก็พอ ไทยเรียก หญ้าเกล็ดหอยเทศ เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นเป็นเส้นเล็กยาว แผ่เลื้อยไปตามหน้าดิน ปกคลุมดินเป็นแผ่น โดยมีรากฝอยแตกออกจากข้อของลำต้นยึดดินไว้ โดยมักพบขึ้นเองตามที่โล่งชุ่มชื้น ตามแหล่งน้ำ ตามที่รกร้างทั่วไป เอามาปลูกในกระบะกระถาง หรือปลูกคลุมดินไว้ก็ได้ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทุกมณฑลทางภาคใต้ของจีนตั้งแต่ฮกเกี้ยนไปจนถึงเสฉวนและยูนนาน รวมทั้งที่ไต้หวันด้วย
โหน่ยเก๋า/รากบัวสด ขอบคุณภาพจาก http://www.yacook.org/node/699
ในตำราเภสัชศาสตร์แผนจีนระบุไว้ว่า โพวตี่กิ้มมีรสขม เผ็ด มีคุณสมบัติเย็นจัด มีสรรพคุณช่วยดับร้อนถอนพิษ แก้ไข้ ขับปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ขับนิ่วในไตในทางเดินปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ท้องมาน ดีซ่าน แก้เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ตาแดง ตาเป็นต้อ ยังมีสรรพคุณอื่นๆอีก แต่ไม่ว่าจะมีสรรพคุณมากเพียงใด ชาวบ้านอย่างอาม่า ก็ต้มน้ำโพวตี่กิ้ม ดื่มเพื่อแก้ร้อนใน ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ และแก้กระหายเท่านั้น

เหตุผลเดียวที่ อาม่าคอยต้มน้ำ “แชเฉาจุ้ย” ให้ทุกคนในบ้านดื่ม ก็คืออยากให้ทุกคนไม่เกิดอาการ “คะยัวะ” หรือร้อนในนั่นเอง นับเป็นการดูแลสุขภาพของทุกคนในบ้านในลักษณะป้องกันไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆน้อยๆตามความรู้ความเชื่อที่ถ่ายอดกันมาเป็นรุ่นๆ และความรู้ความเชื่อนี้ ก็ซึมแทรกอยู่ในเลือดของชาวจีนทุกคนมานับร้อยๆปี


กำลังโหลดความคิดเห็น