xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาศาสตร์ ใต้ธรณีแยกแผ่นดินไหวเสฉวน-ซินเจียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายดาวเทียม จากเว็บไซต์ earthquake-report.com แสดงลักษณะของแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวน และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยนักธรณีวิทยา เจย์ แพททัน (http://earthjay.com)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ / MGR Online - แผ่นดินไหวระดับ 7.0 ตามมาตราริกเตอร์ เมื่อค่ำวันที่ 8 สิงหาคม เวลา 21.12 น. (ตามเวลาท้องถิ่นปักกิ่ง) ที่จิ่วไจ้โกว มณฑลเสฉวน ประเทศจีน ตามด้วยแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ ที่เขตจิ่งเหอ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร ประเทศจีน เมื่อเช้าวันที่ 9 สิงหาคม อาจเป็นอุบัติภัยที่ไม่มีความเกี่ยวพันกัน แต่สั่นไหวให้กังวลได้ถึงภัยที่อาจรุนแรงยิ่งกว่าที่อาจเกิดตามมา

เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ อ้างความเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญฯ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม หลังเหตุธรณีวิปโยคสองครั้งที่มณฑลเสฉวน และเขตปกครองตนเองซินเจียง ชนชาติอุยกูร์ของจีน ว่าอาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน แต่เตือนให้ระวังอาฟเตอร์ช็อค ดินถล่ม และการสั่นไหว “รุนแรงยิ่งกว่า” ที่จะเกิดตามมา

เหตุแผ่นดินไหวครั้งแรก ที่มณฑลเสฉวนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อวันอังคาร (8 ส.ค.) นั้นมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอจิ่วไจ้โกว ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง วัดความรุนแรงได้ 7.0 ริกเตอร์ โดยเบื้องต้นพบประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 13 คน และบาดเจ็บ 175 คน

จากนั้น ไม่กี่ชั่วโมงถัดมาในช่วงเช้าของวันพุธ (9 ส.ค.) ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งที่สอง ขนาด 6.3 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอจิงเหอ ในแคว้นปกครองตนเองโปร์ตาลา มองโกล เขตปกครองตนเองซินเจียง ชนชาติอุยกูร์ ทางภาคตะวันตกสุดของจีน

นับว่าในห้วงยามเพียงชั่วข้ามคืน ไม่ถึงสิบชั่วโมง แดนมังกรต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึงสองครั้งติดต่อกัน!

อย่างไรก็ดี หลิว เมี้ยน นักธรณีฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัยมิสซูรีในสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่า “แผ่นดินไหวทั้งสองไม่น่าจะมีความสัมพันธ์เชิงกลไกโดยตรง เพราะพื้นที่ที่เกิดเหตุตั้งอยู่ห่างไกลกันมาก และจีนก็เจอแผ่นดินไหวระดับนี้มามากแล้ว”

“เสฉวนและซินเจียงตั้งอยู่บนภูมิภาคที่สามารถเกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยครั้ง ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจ” หลิวกล่าว

หลิวอธิบายว่า จีนนั้นมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ เกือบทั่วโลก เพราะมีการเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลก โดยเฉพาะทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ที่แผ่นยูเรเชียและแผ่นอินเดียเคลื่อนตัวเข้ากัน ณ บริเวณใกล้กับเขตที่ราบสูงทิเบต

“โชคดีที่แผ่นดินไหวสองครั้งล่าสุดไม่ได้มีขนาดใหญ่ยักษ์ และเกิดในถิ่นห่างไกลที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง” หลิวกล่าว “แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันกำลังอ่อนแรงหรือหยุดลงแล้วหรือไม่ ดังนั้นประชาชนจำเป็นต้องตื่นตัวอยู่เสมอ เพราะเป็นไปได้ว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิมตามมา”

หลิวกล่าวว่าหลังจากเสฉวนประสบเหตุแผ่นดินไหวครั้งแรก ขนาด 7.0 ริกเตอร์ ก็เกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีกมากกว่า 800 ครั้ง วัดความรุนแรงได้สูงถึง 4.8 ริกเตอร์ ขณะสำนักการจัดการเหตุแผ่นดินไหวแห่งประเทศจีน (China Earthquake Administration) ระบุความรุนแรงอาจแตะระดับ 6.0 ริกเตอร์

ด้าน หยัง หงเฟิง นักธรณีฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) ประเมินว่าแผ่นดินไหวทั้งสองครั้งที่เกิดในแถบเทือกเขาสูงชัน ก่อความเสี่ยงดินถล่มและภัยพิบัติระดับรอง (secondary hazards) อื่นๆ

“ดินถล่มเป็นอุบัติภัยที่ค่อนข้างร้ายแรง มันอาจปิดกั้นหรือทำลายถนนหนทาง ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการช่วยเหลือกู้ภัย” หยังกล่าว “บางครั้งอาจก่อความเสียหายมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะทำลายอาคารบ้านเรือนและคร่าชีวิตประชาชนจำนวนมาก”

มาร์ก ควิกลีย์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาแผ่นดินไหวประจำมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นของออสเตรเลีย สำทับความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่าตามมาอีก โดยแผ่นดินไหวที่เสฉวนเป็นการเกิดรอยเลื่อนตามแนวระดับ (slip-strike) ซึ่งมีสาเหตุจากการเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลกอย่างแผ่นอินเดียและแผ่นยูเรเชีย ที่เคลื่อนตัวราว 4-5 เซนติเมตรในแต่ละปี

“ขณะแผ่นอินเดียเคลื่อนเข้าใกล้แผ่นเอเชีย การดีดดันระหว่างกันก็ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวของเขตที่ราบสูงทิเบตไปทางทิศตะวันออก” ควิกลีย์กล่าว

อย่างไรก็ดี เนื่องจากพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดของเสฉวนไม่ได้มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น โดยพบสถิติจำนวนประชากรราว 68,000 คนในปี 2559 ทำให้ไม่มีการสูญเสียชีวิตเท่ากับแผ่นดินไหวเสฉวน ปี 2551 ซึ่งปลิดชีพประชาชนไปมากกว่า 69,000 คน

ควิกลีย์เผยว่า แม้เหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2551 ที่มีขนาด 8.0 ริกเตอร์ ไม่ได้เกิดห่างจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวเมื่อวันอังคาร แต่ในระดับการทำลายล้างนั้น มี “ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง” เพราะบนกระดานมาตราริกเตอร์ การเลื่อนขึ้นไปหนึ่งจุดหมายถึงพลังงานที่เพิ่มขึ้นและปลดปล่อยออกมากว่า 32 เท่า

“นั่นหมายความว่า แผ่นดินไหวเสฉวน ปี 2551 มีความรุนแรงมากกว่าแผ่นดินไหวเสฉวน ในคืนวันอังคาร ที่ผ่านมา (8 ส.ค.) อย่างน้อย 200 - 300 เท่าเลยทีเดียว” ควิกลีย์เสริมท้าย
ภาพเปรียบเทียบ สภาพก่อน-หลัง ของทะเลสาบห้าบุปผา จิ่วไจ้โกว มณฑลเสฉวน (ภาพจากคลิป miaopai.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น