นิวยอร์กไทม์ส รายงาน (11 มิ.ย.) ว่าสะพานชี่ฉือ ต้าเฉียว ทางด่วนเซี่ยะเหมิน-เฉิงตู ความยาว 1,500 เมตร สูง 270 เมตร ที่เขตชี่ฉือ มณฑลหูหนาน เป็นอีกหนึ่งในหลายร้อยสะพานที่สร้างขึ้นทั่วประเทศจีนในไม่กี่ปีมานี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นเฉลิมฉลองพิธีเปิดสะพานเหล่านี้ ด้วยต้องการพิสูจน์ศักยภาพในการสร้างโครงการสาธารณูปโภคที่ใหญ่โตกว่า ดีกว่า และสูงกว่าที่ชาติอื่นๆ จะสามารถทำได้ และปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีสะพานสูงที่สุดในโลก สะพานที่ยาวที่สุดในโลก และที่สุดในโลกอื่นๆ อีกมากมาย
สะพานยักษ์เหล่านี้ ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทาง สะดวกในการติดต่อการค้าธุรกิจ และสร้างเศรษฐกิจในประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเติบโตอย่างมีอนาคต
แต่โครงการสาธารณูปโภคเหล่านี้ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดหลายปีมานี้ มีการกล่าวถึงความคุ้มทุนของหนี้รัฐบาลท้องถิ่น และการตรวจสอบผลประโยชน์ที่บริษัทผู้รับเหมา กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทับซ้อนกันอยู่ หลายโครงการกำลังก่อหนี้สาธารณะมหาศาล อย่างไม่ชอบมาพากล อีกทั้งมีคำถามมากมายถึงประโยชน์ในด้านการขนส่ง
กรณีของสะพานชี่ฉือ ในมณฑลหูหนาน แสดงให้เห็นถึงความต้องการกระตุ้นสร้างโครงการด้านสาธารณูปโภคของจีน ใช้เงินไปราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ถึง 50% โครงการยังมีอุปสรรคล่าช้า อุบัติเหตุในการทำงานที่รุนแรง และก่อความเสียหายเพราะทุจริต และนับตั้งแต่เปิดใช้งานเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2559) สะพานและทางด่วนนี้ ไม่ค่อยมีคนใช้ ขณะที่หนี้ยังจมอยู่มหาศาล
ค่าธรรมเนียมในการใช้สะพานชี่ฉือนี้ อยู่ที่ครั้งละ 3 เหรียญสหรัฐ ขึ้นอยู่กับขนาดของยานพาหนะด้วย ขณะที่ชาวบ้านชี่ฉือ ซึ่งอยู่ข้างใต้สะพาน ไม่มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์
อาทิฟ อันซาร์ ศาสตราจารย์ด้านการจัดการของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ผู้ติดตามศึกษาการใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคของจีน กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานเป็นดาบสองคม แม้จะดีสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากมากเกินไป ก็เป็นอันตราย มายาคติที่ว่า สร้างไปก่อนเดี๋ยวก็มีคนมาใช้เองนั้น อาจจะไม่ได้ผล โดยเฉพาะกับประเทศจีน ซึ่งสร้างไปก่อนจนมากมายแล้ว
การศึกษาข้อมูลฯ ที่นายอาทิฟ อันซาร ร่วมเขียนนั้น ระบุจากการสำรวจสะพานและทางด่วนกับทางรถไฟ 65 โครงการ พบว่าราวหนึ่งในสามเท่านั้น ที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจแท้จริง ที่เหลือนอกจากนั้นคือกองหนี้ อันเกินความจำเป็นใช้งานจริง นอกจากนั้น ยังเป็นโครงการที่จัดการบริหารการลงทุนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเสี่ยงว่าจะส่งผลให้เกิดวิกฤติทางการเงิน
ในประเทศที่สร้างกำแพงเมืองจีนได้ ย่อมฝังใจกับความภาคภูมิในสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ จีนมีการงานวิศวกรรมที่สุดยอดเช่นทางรถไฟบนหลังคาโลก ชิงไห่-ลาซา โครงการเขื่อนยักษ์สามโตรก, ขุดคลองชลประทาน 800 ไมล์ จากแม่น้ำแยงซีสู่ปักกิ่ง อันเป็นโครงการชลประทานที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวปกป้องงานสร้างมหึมาเหล่านี้เมื่อครั้งไปเปิดสะพานอ้ายจ้าย ในมณฑลหูหนาน เมื่อปีพ.ศ. 2556 ว่าเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาของจีน คือการปรับปรุงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อให้ภูมิภาคที่ยากจนหลุดพ้นความแร้นแค้น และการพัฒนาสามารถไปถึงได้ พร้อมย้ำว่าต้องสร้างมากกว่านี้ และสนับสนุนยิ่งๆ ขึ้นไป
ในด้านประสิทธิผลของโครงการนั้น ถนนและทางรถไฟสายใหม่ๆ ได้รับความนิยมเพียงพื้นที่เจริญแล้ว มีการคมนาคมหนาแน่น แต่ในพื้นที่อื่นๆ นั้น คณะผู้กำหนดนโยบาย ก็คงไม่คิดสนใจถึงประสิทธิผลการใช้งานจริงๆ นัก เพราะมัวแต่ภูมิใจความมีหน้ามีตาทางวิศวกรรม
"จำนวนการก่อสร้างสะพานสูงในประเทศจีนดูจะชักจะมากไป" อิริก ซาโควสกี้ ผู้เชี่ยวชาญสะพานชาวอเมริกัน กล่าวว่า จีนเปิดสะพานสูงปีละ 50 แห่ง ขณะที่ทั่วโลกรวมกันยังเพียง 10 แห่งเท่านั้น
ข้อมูลของซาโควสกี้ ยังระบุว่า สะพานที่สูงที่สุดในโลก 100 แห่ง อยู่ในจีน 81 แห่ง รวมทั้งที่ยังสร้างไม่เสร็จอีกแห่ง (สะพานชี่ฉือ อยู่อันดับ 162) จีนยังมีสะพานยาวที่สุดในโลก (102 ไมล์) คือสะพาน ต้านหยัง-คุนซัน ที่วิ่งขนานไปกับแม่น้ำแยงซี ฯลฯ
ข้อมูลของแมคคินซีย์ บริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ ระบุว่าทางด่วนสายต่างๆ ที่สร้างกันอย่างมากมายในจีนไม่กี่ปีมานี้ เปรียบเทียบได้กับสหรัฐอเมริกาในยุค 50 แต่สำหรับจีนนั้น ได้เอาเงินจากระบบเศรษฐกิจของตนไปใช้กับสาธารณูปโภคในสัดส่วนที่สูงกว่าการพัฒนาของชาติตะวันตกมากนัก เทียบประมาณ 9: 2.5
โครงการสาธารณูปโภคอาจจะเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลักที่ใช้ในช่วงหลังวิกฤตการเงินโลก 2008 เพราะแต่ละสะพานสามารถหมุนเวียนให้เกิดการใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจนับหลายพันล้านเหรียญ มีการจ้างงานมากมายหลายร้อยตำแหน่ง ตลอดระยะหลายปีต่อเนื่อง แต่วงจรนี้ ก็มีช่องทางที่เงินรั่วไหล และเกิดการทุจริตงบประมาณ ซึ่งบิดเบือนวัตถุประสงค์ของโครงการ
ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ มักจะสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นเส้นทางไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลท้องถิ่น ด้านรัฐบาลท้องถิ่นเอง ก็ลากโครงการไปกินด้วยการทุจริตและผลประโยชน์ที่ล่อตาล่อใจ
เมื่อแต่ละความยาวของสะพาน กับถนนทอดออกไปสู่พื้นที่โล่งบางของประชากรไร้การใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ผลกำไรเฉลี่ยตามระยะทางก็ยิ่งลดลงตามนั้น เช่นตัวอย่างของสะพานชี่ฉือ ซึ่งอ้างเมื่อครั้งเริ่มสัญญาว่า ช่วยให้ฝั่งตะวันตกมีการคมนาคมเข้าถึงทะเลอย่างสะดวกรวดเร็ว มั่นใจว่าจะสร้างความมั่งคั่งให้กับชาวหูหนาน จึงขยายเส้นทางเพิ่มจาก 872 ไมล์ ในปี 2548 เป็น 3,778 ไมล์ ล่าสุดปีที่แล้ว
สุดท้ายเส้นทางนี้ ก็สร้างความมั่งคั่งจริงๆ แต่เป็นความมั่งคั่งของเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นหูหนาน มากกว่า 27 คน ซึ่งตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ค่อยๆ ทยอยโดนจับกุมสอบสวนข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น
เฉิน หมิงเซียน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานคมนาคมประจำมณฑลหูหนาน ซึ่งได้รับคำสรรเสริญอย่างมากเมื่อครั้งเปิดโครงการสะพานชี่ฉือ แต่ในเวลาต่อมาเขาและลูกน้องยอมรับว่า รับสินบนใน 8 โครงการคมนาคม เป็นเงินกว่า 4.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงเวลา 2 ปี ในตำแหน่ง
สะพานชี่ฉือ จึงเป็นอีกหนึ่งสะพานที่ใช้ทุนสร้างมหาศาลนี้ทิ้งภาระหนี้สินให้กับรัฐบาลท้องถิ่น ตลอดจนผู้ที่อยู่อาศัยในท้องถิ่นฯ
"ถ้าคุณไม่สร้างถนน ก็ไม่มีความเจริญ แต่นี่มันทางด่วน ไม่ใช่ถนนที่เราจะใช้ ซึ่งถ้าคุณสร้างตามที่เราใช้ได้ ก็คงจะดีสำหรับพวกเราที่นี่" หวง ซั่นเหลียง ชาวนาในเขตชี่ฉือ วัย 56 ปี ผู้อาศัยอยู่ใต้สะพานฯ กล่าวฯ