xs
xsm
sm
md
lg

พี่จีนใจดี เตรียมเปิดฐานปฏิบัติการบนอวกาศให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกทำการทดลอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จรวดขนส่ง ลองมาร์ช หรือฉังเจิง 2-เอฟ (Long March 2F) กำลังขนส่งยานเสินโจว 11ที่มีมนุษย์อวกาศควบคุมฯ ทะยานขึ้นจากศูนย์ส่งยานอวกาศจิ่วเฉวียน กลางทะเลทรายโกบี ในมณฑลกันซู่  (ภาพ เอเอฟพี)
ไชน่าเดลี่ สื่อจีนรายงาน (8 มิ.ย.) เมื่อไม่นานมานี้ “เว่ย ชวนเฟิง” นักวิจัยประจำสำนักงานวิศวกรรมอวกาศที่ดำเนินการโดยมนุษย์ สถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน (Chinese Academy of Space Technology-CAST) ได้เปิดเผยระหว่างการสัมมนาการสำรวจอวกาศโลกประจำปี 2560 ที่กรุงปักกิ่ง โดยระบุว่า สำนักงานฯ ได้ร่างกรอบยุทธศาสตร์สำหรับกลุ่มงานอวกาศชั้นนอกเพื่อความร่วมมือกับสหประชาชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว

รายงานระบุว่า จีนจะอนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกได้ใช้ทรัพยากรการวิจัย รวมถึงเข้าปฎิบัติการบนสถานีอวกาศของจีน โดยได้เปิดโอกาสให้นักวิจัยจากประเทศกำลังพัฒนาได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบนฐานปฎิบัติการอวกาศของจีน หลังจากที่การก่อสร้างฐานอวกาศได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565

นายหยาง หลี่เว่ย รองผู้อำนวยการสำนักงานวิศวกรรมอวกาศที่ดำเนินการโดยมนุษย์ และเป็นนักบินอวกาศคนแรกของจีนระบุว่า จีนจะเริ่มเปิดใช้ฐานปฎิบัติการบนอวกาศส่วนแรกในปี 2562 และจะเปิดส่วนการทดลองอีก 2 ส่วนในภายหลัง โดยฐานปฎิบัติการมีระบบที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์บนอวกาศได้นานถึง 6 เดือน

ทั้งนี้ จีนตั้งเป้าจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งมหาอำนาจด้านอวกาศภายในปี 2573 โดยที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกร้องการผลักดันภารกิจทางอวกาศ เพื่อทะยานสู่แท่นมหาอำนาจอวกาศ นอกไปจากนี้ จีนยังได้ทดลองขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียม ซึ่งมีเป้าหมายนอกเหนือไปจากเป้าหมายทางพลเรือน

ขณะที่จีนยืนยันโครงการอวกาศมีเป้าหมายในทางสันติ แต่ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯได้ชี้ถึงความสามารถที่เพิ่มพูนขึ้นของโครงการอวกาศมังกร และทางวอชิงตันได้ติดตามกิจกรรมอวกาศจีน เพื่อป้องกันฝ่ายตรงข้ามเข้ามาใช้สินทรัพย์ในอวกาศในยามเกิดวิกฤตการณ์

กำลังโหลดความคิดเห็น