ไชน่าเดลี / MGR Online - ปี 2016 ที่กำลังผ่านไปนับเป็นปีแห่งความสำเร็จในด้านต่างๆ ของจีนเช่นเดียวกับปีก่อนหน้าที่ผ่านๆ มา นอกจากความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งปี อาทิ ด้านการบินและอวกาศ, พันธุวิศวกรรม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดตัวดาวเทียมควอนตัมดวงแรกของโลก เปิดกล้องโทรทรรศน์วิทยุ (FAST) ใหญ่ที่สุดในโลก ความสำเร็จของการใช้ชีวิตบนสถานีอวกาศเทียนกง 2 ของนักบินอวกาศจีนทั้งสองคน ภารกิจบนอวกาศที่มีจำนวนวันยาวนานที่สุดของมนุษย์อวกาศจีน
สำหรับในมิติทางวัฒนธรรมจีนนั้น ตลอดปี 2016 นับเป็นปีแห่งความน่าประทับใจเช่นเดียวกัน ไชน่าเดลี ได้รวบรวมข่าวทางวัฒนธรรมจีนที่เกิดขึ้นในปี 2016 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ เพื่อทบทวนคุณค่าเหล่านี้อีกครั้งก่อนก้าวสู่วันใหม่ ปี 2017 โดย 10 ข่าววัฒนธรรมเด่นในปีนี้ของจีนได้แก่
1. ยูเนสโก ประกาศ "ปฏิทินสุริยคติจีน" เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโลก -
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ขึ้นทะเบียน "ปฏิทินสุริยคติจีน" เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโลก ในการประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม สมัยที่ 11 ที่กรุงอาดดิสอาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย ถือเป็นผลงานภูมิปัญญาชิ้นเอกทางวัฒนธรรมจีน ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมโลก รายการที่ 39 ของจีน โดยก่อนหน้านี้ มีอาทิ แบบตัวอักษรจีน ศิลปะตัดกระดาษ และงิ้วปักกิ่ง
ปฏิทินสุริยคติจีน ถือกำเนิดคิดค้นขึ้นเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน จากการเฝ้าติดตามการโคจรของดวงอาทิตย์ และศึกษาความสัมพันธ์กับฤดูกาล สภาพอากาศและชีพลักษณ์ หรือความสัมพันธ์ระหว่างภูมิอากาศและปรากฏการณ์ทางชีววิทยาที่เกี่ยวข้องกับเวลาต่างๆ
2. ประมูลภาพเขียน "5 กษัตริย์" กว่า 3,315 ล้านบาท -
เศรษฐีจีนรายหนึ่งประมูลภาพเขียน "5 กษัตริย์" Five Drunken Kings Return on Horses (五王醉归图卷) ของ เหริน เหรินฟา มูลค่ารวมถึง 663 ล้านหยวน หรือกว่า 3,315 ล้านบาท ในงานประมูลภาพ Beijing Poly Auction เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม
ภาพ Five Drunken Kings Return on Horses เป็นภาพเขียนม้วนมือ ความยาว 2 เมตร วาดโดย เหริน เหรินฟาจิตกรผู้มีฝีมือโดดเด่นในการวาดภาพม้า และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานควบคุมน้ำในยุคสมัยราชวงศ์หยวน (1271-1368)
3. กระแสรณรงค์โครงการ วางหนังสือให้คนหยิบอ่าน Scattering Books project -
บริษัทในกรุงปักกิ่งชื่อ ซินสื่อเซียง สร้างกระแสบนสื่อออนไลน์ (วีแชต) ได้รับการชื่นชมล้นหลามบนโลกอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม กลับไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนที่เดินไปมาในสถานีรถไฟใต้ดิน
วัตถุประสงค์ของโครงการวางหนังสือให้หยิบอ่านนี้ มีเจตนาเพื่อให้ผู้คนสามารถอ่านหนังสือได้ฟรีตามสถานีรถไฟ และนำออกไปอ่านที่ใดก็ได้ และเมื่ออ่านเสร็จหรือไม่ต้องการอ่านแล้ว ก็เพียงนำหนังสือนั้นกลับมาวางคืนในสถานีรถไฟ เพื่อส่งต่อให้คนอื่นๆ
4. นิยายโลกอนาคตแห่งหุ่นยนต์ นักเขียนสาวจีน “เหา จิ่งฟัง” คว้ารางวัล “ฮิวโก” -
“เหา จิ่งฟัง” นักเขียนหญิงชาวเทียนจินวัย 32 ปี ได้เดินทางไปยังเมืองแคนซัส รัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เพื่อรับรางวัลฮิวโก (The Hugo Award) สาขานิยายขนาดสั้นยอดเยี่ยม (BEST NOVELETTE) จากผลงานเรื่องสั้นเรื่อง “Folding Beijing”
เหาได้ถ่ายทอดจินตนาการเกี่ยวกับโลกอนาคตที่กลายเป็นโลกแห่งหุ่นยนต์ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาคนว่างงานและความซบเซาทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มคนที่อาศัยในกรุงปักกิ่งซึ่งมีสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกัน ได้กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในขณะที่มีการนำหุ่นยนต์มาทำงานแทนแรงงานด้อยทักษะ
5. ประมูลพระราชลัญจกรล้ำค่าของเฉียนหลงฮ่องเต้ 780 ล้านบาท -
ในการประมูลโดยสำนักประมูลดูฮูต์ (Drouot) ในกรุงปารีส เมื่อวันพุธ 14 ธ.ค. พระราชลัญจกรของฮ่องเต้เฉียนหลง แห่งราชสำนักจีนสมัยศตวรรษที่ 18 วัตถุทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ขนาดเท่าฝ่ามือที่ทำจากแร่หินสบู่สีแดงปนขาวถูกประมูลไปด้วยราคา 21 ล้านยูโร หรือราว 788 ล้านบาท จากเศรษฐีชาวจีนผู้ไม่เปิดเผยนาม
จักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ.1711-1799) เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์ชิง ราชวงศ์แมนจูที่ปกครองจีนอยู่เกือบสามร้อยปี โดยเฉียนหลงถือเป็นจักรพรรดิที่ปกครองจีนยาวนานที่สุดพระองค์หนึ่ง โดยเสด็จสวรรคตเมื่อมีพระชนมายุ 87 พรรษา ในปี ค.ศ.1799 ทั้งนี้ภายใต้การปกครองของพระองค์ประเทศจีนถือว่ารุ่งเรืองจนถึงขีดสุด จนอาจนับได้ว่าเป็นชาติมหาอำนาจแนวหน้าของโลกในเวลานั้น ภายหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคต ประเทศและสังคมจีนก็ก้าวเข้าสู่ยุคเสื่อมถอย
6. ครบรอบ 400 ปี มรณกรรม ทัง เสียนจู่ นักเขียนบทละคร ฉายา “วิลเลียม เชกสเปียร์เมืองจีน” -
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นครเซี่ยงไฮ้ได้เปิดนิทรรศการภาพเขียนอุปรากรจีนเพื่อรำลึกและเป็นเกียรติแด่ ทัง เสียนจู่ (ค.ศ.1550-1616) นักเขียนบทละคร ที่แฟนๆตั้งฉายาให้เป็น “วิลเลียม เชกสเปียร์เมืองจีน” ในโอกาสครบรอบ 400 ปี ที่นักเขียนบทละครนามกระเดื่องท่านนี้ได้ล่วงลับจากโลกมายาไป ทังเป็นคนร่วมยุคสมัยกับ วิลเลียม เชคเปียร์ เป็นนักเขียนที่โดดเด่นระหว่างยุคราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) ผลงานชิ้นเอกของเขาคือ งานเขียนชุด “สี่ฝัน” (临川四梦 /Four Dreams) ขณะที่ “ศาลาดอกโบตั๋น” (牡丹亭/The Peony Pavilion) หนึ่งในนิยาย ชุด “สี่ฝัน” นี้ ได้รับความนิยมมากและดังไปทั่วโลก ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานปลดปล่อยทางความคิดและต่อต้านลัทธิศักดินา เป็นตัวแทนของลัทธิโรแมนติกของโลกวรรณกรรมจีน
7. เฉา เหวินเซวียน นักเขียนวรรณกรรมเด็ก ได้รับรางวัล ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน 2016 -
เมื่อวันที่ 4 เมษายน นับเป็นชาวจีนคนแรกที่ชนะรางวัลดังกล่าว ซึ่งถือเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดระดับโลกสำหรับวรรณกรรมเด็ก โดยรางวัลนี้ จะมีการจัดขึ้นทุกสองปีในงานหนังสือเด็ก ณ เมือง โบโลนญ่า (Bologna Children's Book Fair) ประเทศอิตาลี มีขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ. 1956 (พ.ศ.2499) โดยเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น “รางวัลโนเบล สำหรับวรรณกรรมเด็ก” แพทริเซีย อัลดานา ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัล ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน 2016 กล่าวว่า “เฉาเขียนเรื่องราวซับซ้อนของชีวิตเด็กที่ต้องเผชิญอุปสรรคได้อย่างงดงาม”
อัลดานา ยกตัวอย่างนวนิยายของเฉา เรื่อง Bronze and Sunflower เรื่องราวเกิดในหมู่บ้านจีนชนบทยุคปฏิวัติวัฒนธรรม และซีรียส์ Dingding Dangdang ซึ่งเป็นเรื่องราวของของพี่น้องสองคน ที่มีอาการดาวน์ ซินโดรม ทั้งสองหลบหนีออกจากหมู่บ้านโดยแยกกันไปคนละทิศคนละทาง ต่อมาก็มาตามหากัน นับเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ที่ลึกซึ้งมาก โดยเผยโศกนาฏกรรมชีวิตเด็กๆ แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางมรสุมชีวิตพวกเขาก็ยังพบแสงสว่างความเมตตาที่คอยประคับประคองชีวิต
8. สานสัมพันธ์วัฒนธรรมละตินอเมริกา -
ปีนี้ เป็นปีนิมิตอันดีของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีนกับกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และแคริบเบียน โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้กล่าวถึงนโยบายนี้มาตั้งแต่เมื่อครั้งเดินทางไปประชุมที่บราซิลเลีย ประเทศบราซิล เมื่อปี 2014 โดยตลอดปีนี้ รัฐบาลจีนได้สนับสนุนประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมสองชาติสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจ และใกล้ชิดกัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ
9. นักโบราณคดีพบสุสานโบราณ ที่ฝังศพไว้ใน “ไห” ตั้งแต่ยุคจ้านกั๋ว-
เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทีมนักโบราณคดีได้ค้นพบสุสานโบราณที่แหล่งโบราณคดีในเมืองหวงหวา มณฑลเหอเป่ย ได้ค้นพบหลุมศพทั้งหมด 113 หลุม เป็นหลุมศพเด็ก 107 หลุม และศูนย์วิจัยโบราณคดีมหาวิทยาลัยจี๋หลิน ได้ยืนยันว่า หลุมศพอีก 6 หลุม เป็นศพผู้ใหญ่ โดยพบว่าการฝังศพภายในสุสานแห่งนี้ เป็นการฝังศพไว้ในไห (Urn Burial) ภาชนะดินเผาฝังศพทั้งหมด 20 กว่าชนิด ซึ่งสามารถยืนยันช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประเพณีการฝังศพ และสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคโบราณ 2,000 ปีที่แล้ว หรือตั้งแต่ยุคสงคราม (ยุคจ้านกั๋ว)
10. เหม่ย เปาจิ่ว ครูงิ้วปักกิ่งสิ้นลมในวัย 82 ปี -
เหม่ย เปาจิ่ว นักแสดงงิ้วอาวุโส ผู้เป็นดั่งลมหายใจของงิ้วปักกิ่ง ได้เสียชีวิตที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 25 เมษายน ปีนี้ ในวัย 82 ปี หลังเขาถูกส่งเข้ารับการรักษาอาการหลอดลมเกร็งตัวเมื่อวันที่ 31 มีนาคม แต่อาการไม่ดีขึ้น เหม่ย เปาจิ่ว เป็นบุตรคนที่ 9 ของเหม่ย หลานฟาง นักแสดงงิ้วปักกิ่งที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล และยังเป็นผู้นำการแสดงวัฒนธรรมนี้ ไปเผยแพร่ทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ในช่วงทศวรรษ 30