ไชน่าเดลี รายงาน (5 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่ระดับสูงจีน ยอมรับว่าสภาพอากาศจีน มีมลพิษมากที่สุดในโลก ปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย เป็นหนึ่งในเมืองที่อากาศเป็นพิษมากสุดของโลก และยังขาดงบประมาณในการติดตามแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2017
เจ้าหน้าที่จีน กล่าวในการประชุมที่เมืองกว่างตง ว่า ปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย เป็นเขตอุตสาหกรรมหนาแน่นมีมลพิษสูงสุดในโลก
หวัง จิ่นหนาน หัวหน้าวิศวกรจากสถาบันวางแผนสิ่งแวดล้อมจีน กล่าวกับ ลีกัลเดลี่ เมื่อวันจันทร์ (5 ธ.ค.) ว่า จำเป็นต้องใช้งบประมาณ 1.75 ล้านล้านหยวน เพื่อแก้ปัญหามลพิษ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะถึงกำหนดในปีหน้า ซึ่งงบการลงทุนในปัจจุบัน ยังห่างไกลที่จะจัดการกับปัญหาใหญ่นี้
"จีนปล่อยมลพิษทางอากาศทุกประเภท มากที่สุดในโลก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพอากาศ" หวัง กล่าวในการประชุมบริษัทมหาชน ที่ทำกิจการรักษาสิ่งแวดล้อมฯ และระบุว่า ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่อันตรายต่อสุขภาพของประชาชน มีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ทัศนวิสัยในชั้นบรรยากาศลดต่ำลงทั่วพื้นที่กรุงปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากสุดในโลก
เล่ย เหวิน เจ้าหน้าที่จากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนได้แซงหน้าสหรัฐอเมริกาเป็นรายใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2011 แต่ความไร้มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมยังคงเป็นสาเหตุหลักของมลพิษตลอดมา
ขณะที่โรงงานถ่านหินในจีนส่วนใหญ่ แม้มีการกรองมลพิษหลายชั้น แต่การเผาไหม้ถ่านหินในอุตสาหกรรมยังไม่มีการตรวจสอบเข้มงวด หลายๆ รายยังคงพ่นพิษสู่ชั้นบรรยากาศ
ซีซีไอดีกรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาของกระทรวงฯ กล่าวว่า ปริมาณการใช้ถ่านหินในปี 2015 มีสัดส่วนร้อยละ 46 ของถ่านหินทั้งหมด แต่โรงงานฯ เหล่านี้ ยังไม่ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมพลังงานความร้อน
หวัง จิ่นหนาน กล่าวว่า การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมสะอาดยังขาดแคลนอยู่มาก แม้ว่ารัฐบาลกลางจะให้คำมั่นในการจัดสรรงบประมาณด้านนี้ในสัดส่วนร้อยละ 1.5 ของจีดีพี ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ แต่ในความเป็นจริง ยังได้เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงาน (30 มิ.ย.) ผลวิจัยของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ระบุว่า มลพิษจากอุตสาหกรรมพลังงาน ทำคนจีนอายุสั้นลงเฉลี่ย 25 เดือน โดยคนจีนรายร้อยละ 97 สูดหายใจเอาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในปริมาณมากกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) กำหนด ส่งผลให้มีคนจีนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนับล้านคนทุกปี
นอกจากนี้ มลพิษภาคครัวเรือน ซึ่งเกิดจากการเผาวัสดุต่างๆเพื่อใช้ความร้อนทำอาหาร หรือการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลคุณภาพต่ำเพื่อสร้างความอบอุ่นในบ้าน ก็สร้างมลภาวะในอากาศ ส่งผลให้มีคนจีนเสียชีวิตราว 1.2 ล้านคนต่อปี
รายงานระบุว่า ปัญหามลภาวะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปก่อนเวลาอันควรราว 6.5 ล้านคนต่อปี