เอเอฟพี - ผลวิจัยขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผย เด็กราว 300 ล้านคนทั่วโลกต้องสูดดมอากาศที่เป็นพิษนอกบ้าน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดปกติทางด้านร่างกายอย่างรุนแรง และกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง
รายงานของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ซึ่งเผยแพร่วันนี้ (31 ต.ค.) ระบุว่า มลพิษทางอากาศคือปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การเสียชีวิตในวัยเด็ก และพบว่าเด็กเกือบ 1 ใน 7 คนทั่วโลกต้องสูดอากาศนอกบ้านที่เป็นพิษเกินมาตรฐานสากลอย่างน้อย 6 เท่า
ผลการศึกษาของ UNICEF ถูกเผยแพร่ราว 1 สัปดาห์ ก่อนที่การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะเปิดฉากขึ้นที่โมร็อกโก ระหว่างวันที่ 7-18 พ.ย.
UNICEF ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดยูเอ็นที่ส่งเสริมสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กๆ เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกมีมาตรการลดมลพิษในอากาศอย่างเร่งด่วนและจริงจัง
“มลพิษทางอากาศคือสาเหตุของการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบราว 600,000 คนต่อปี และยังคุกคามชีวิตและอนาคตของผู้คนนับล้านๆ ทุกวัน” แอนโธนี เลค ผู้อำนวยการบริหาร UNICEF แถลง
“สารพิษเหล่านี้ไม่เพียงเข้าไปทำลายปอดที่กำลังพัฒนาของเด็กๆ แต่ยังสามารถแทรกซึมผ่านเลือดและสมองเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อสมองอย่างถาวร ซึ่งเท่ากับทำลายอนาคตของพวกเขาด้วย ทุกสังคมจึงไม่ควรมองข้ามภัยร้ายจากมลพิษ” เลค กล่าว
UNICEF ยังแสดงภาพถ่ายดาวเทียมเป็นเครื่องยืนยันว่า มีเด็กราว 2,000 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษเกินกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศขั้นต่ำสุดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้
มลพิษเหล่านี้เกิดจากไอเสียรถยนต์ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ฝุ่นละออง การเผาขยะ และอนุภาคอื่นๆ ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ
เอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีเด็กอาศัยอยู่ในเขตมลพิษสูงเกินมาตรฐานมากที่สุด 620 ล้านคน รองลงมาได้แก่ทวีปแอฟริกา 520 ล้านคน และเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก 450 ล้านคน
งานวิจัยชิ้นนี้ยังศึกษาผลกระทบจากมลพิษภายในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาถ่านหรือไม้เพื่อหุงต้มและให้ความอบอุ่น
ผลการศึกษาพบว่า มลพิษทั้งในและนอกบ้านมีส่วนเชื่อมโยงโดยตรงกับโรคปอดอักเสบ และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบราว 1 ใน 10 คน
UNICEF ชี้ว่า เด็กๆ นั้นเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากมลภาวะทั้งในและนอกบ้านมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากปอด สมอง และระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ และสารพิษก็สามารถแทรกซึมผ่านทางเดินหายใจของเด็กได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
เด็กที่เสี่ยงต่อการล้มป่วยเพราะมลพิษมากที่สุดก็คือเด็กๆ ที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ซึ่งส่วนใหญ่สุขภาพไม่ดีเป็นทุนเดิม และยังขาดโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุข
UNICEF เรียกร้องให้ทุกประเทศมีมาตรการต่อสู้ปัญหามลภาวะอย่างจริงจัง และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์แก่เด็กๆ ตลอดจนเฝ้าจับตาและลดโอกาสที่เยาวชนจะต้องสัมผัสกับอากาศที่เป็นพิษ