xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสวาทะการทูตจีน: พันธมิตรหรือภัยคุกคาม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปกหนังสือ วาทกรรมการทูตจีนร่วมสมัย: ความหมายและบทบาท
เมื่ออิทธิพลของจีนเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนสยายปีกอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน การทำความเข้าใจบริบทเชิงอำนาจดังกล่าวจึงเป็นผลดีต่อการล่วงรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการคืบคลานเข้ามาของอำนาจจีน หนึ่งในวิธีการทำความเข้าใจบริบทเชิงอำนาจดังกล่าวก็คือ วิธีการถอดรหัสทางภาษา

ภาษามีอำนาจในการกำหนดคุณค่าเชิงบวกเชิงลบ ภาษาที่ใช้ในเวทีทางการทูตของจีนย่อมสามารถแสดงออกถึงคุณค่าต่าง ๆ เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี งานวิจัยที่ผสมผสานแนวคิดทางภาษาศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ รศ.ดร.พัชนี ตั้งยืนยง ที่ได้รับตีพิมพ์เป็นหนังสือ “วาทกรรมการทูตจีนร่วมสมัย: ความหมายและบทบาท” ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้กล่าวในตำแหน่งแห่งที่ต่าง ๆ ว่ามีบทบาทและความหมายต่อแผนการทะยานขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของจีนอย่างยิ่งยวด การทะยานดังกล่าวของจีนนั้นเป็นมิตร เป็นคู่แข่ง หรือเป็นภัยคุกคาม เหล่านี้คือมุมมองที่ประเทศต่าง ๆ จะเลือกพิจารณาและกำหนดนโยบายต่อจีน

ดร.พัชนี ชี้ว่า หากเข้าใจว่าจีนเป็น “คู่แข่ง” ย่อมมีนัยยะในเชิงยุทธศาสตร์การต่อสู้แข่งขัน แต่หากมองจีนเป็น “ภัยคุกคาม” ย่อมถือเป็นการตัดสินเชิงคุณค่าจากมุมมองของผู้วิเคราะห์ว่าฝ่ายตรงข้ามบกพร่องเรื่องมาตรฐานทางศีลธรรม และคำว่า “ภัยคุกคามจีน” นี้เองเป็นเครื่องมือที่สหรัฐฯ หยิบยกมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการการปิดล้อมจีน และช่วยสร้างภาพลักษณ์การเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ให้เด่นชัด

กระนั้นจีนก็ตระหนักดีว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของตนต้องการสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มีสันติ แม้โอกาสที่การทูตแบบมุ่งสร้างสันติภาพด้วยความอดทนจนกลายเป็นผู้ชนะ กำลังถูกลดทอนลง จีนก็จะยอมให้เกิดสงครามขึ้นมิได้ ดร.พัชนี ชี้ว่า จีนใช้ยุทธศาสตร์หลายด้านในการแหวกวงล้อมของสหรัฐฯ หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญก็คือ จีนใช้กลวิธีทางวาทกรรมในการตอบโต้ทางการเมือง เพื่อพลิกสถานการณ์จากการเป็นผู้ถูกกล่าวหาให้กลายเป็นผู้บริสุทธิ์

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผลิตซ้ำตอกย้ำคุณค่าความเชื่อของจีนอันเกี่ยวกับการพัฒนา โดยมุ่งหวังว่าการพัฒนาของจีนจะนำไปสู่การพัฒนาที่แตกต่างจากที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ สีชี้ให้เห็นว่า การพัฒนามีสองแนวทางอันได้แก่ การพัฒนาที่เน้นคุณค่าการแข่งขัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบทุนนิยมที่เน้นความชอบธรรมของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ผลประโยชน์จากการพัฒนาจะตกเป็นของผู้แข็งแรงหรือผู้ที่ได้เปรียบกว่า

ประการที่สอง คือการพัฒนาที่เน้นคุณค่าความร่วมมือในแบบของจีน ผลประโยชน์ของการพัฒนาจะตกเป็นของทุกฝ่าย โดยเฉพาะคนเสียเปรียบหรือด้อยโอกาสก็จะได้รับผลประโยชน์ด้วย

วาทกรรมการพัฒนาในสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงมีระบบคุณค่าที่มุ่งเน้นการพัฒนาของจีนในประการที่สองเป็นสำคัญ ซึ่งเน้นความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่แข่งขันชิงดีชิงเด่นเอาเปรียบ และที่สำคัญผลประโยชน์ของการพัฒนาจะไม่ตกเป็นของจีนเพียงฝ่ายเดียว แต่จะเป็นของทุกฝ่าย
รศ.ดร.พัชนี ตั้งยืนยง อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.พัชนีอธิบายด้วยว่า วาทะทางการทูตของสี จิ้นผิง สะท้อนให้เห็นว่านโยบายเศรษฐกิจที่จีนนำมาใช้นั้น มีความรับผิดชอบต่อทั้งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เมื่อครั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิงแสดงปาฐกถาสำคัญ ณ วิทยาลัยแห่งยุโรป เมืองบรูกซ์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ความว่า “ในฐานะญาติหวังให้ญาติอยู่ดีมีสุข ในฐานะเพื่อนบ้านหวังให้เพื่อนบ้านอยู่ดีมีสุข” จีนยืนหยัดที่จะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน เป็นหุ้นส่วนกับเพื่อนบ้าน สร้างสันติสุขกับเพื่อนบ้าน และสร้างความมั่งคั่งแก่เพื่อนบ้าน ยึดมั่นในแนวคิด “สนิทสนม ซื่อสัตย์ เกื้อกูล ให้อภัย” และมุมานะที่จะทำให้การพัฒนาของตนเองเอื้อประโยชน์แก่ประเทศในเอเชียได้ดียิ่งขึ้น เหล่านี้คือสิ่งที่จีนนำเสนอ

นอกจากนั้น ดร.พัชนียังได้กล่าวอีกว่า จีนได้สร้างโมเดลของตนเองที่เรียกว่า “โมเดลจีน” โดยจีนมุ่งหวังสนับสนุนทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ไม่จำแนกว่าเล็กหรือใหญ่ เข้มแข็งหรืออ่อนแอ ร่ำรวยหรือยากจน เคารพสิทธิในการเลือกเส้นทางการพัฒนาของประชาชนแต่ละประเทศ ต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “รองเท้าพอดีเท้าหรือไม่ ใส่เองแล้วจึงจะรู้” เส้นทางการพัฒนาของแต่ละประเทศจะเหมาะสมหรือไม่นั้น มีเพียงประชาชนของประเทศนั้นเท่านั้นที่มีสิทธิ์มากที่สุดที่จะวิพากษ์วิจารณ์ โมเดลดังกล่าวนี้จึงเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในของต่างประเทศของจีน

จีนเองก็มีความฝัน “ฝันของจีน” ต่างจาก “ฝันของอเมริกัน” ความฝันอเมริกันมาจากจิตวิญญาณและพื้นฐานแนวคิดลัทธิปัจเจกชน ให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคล ความเป็นอิสระ ความเป็นตัวของตัวเอง ส่วนความฝันของจีนคือการเน้นคุณค่ากลุ่ม ความรู้สึกผูกพันเป็นกลุ่ม การอยู่ร่วมกัน การรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม ในความหมายของจีนคือการบรรลุฝันของประชาชาติทั้งหมดร่วมกัน

จีนยังได้ขยายความความฝันจีนไปกว้างขวาง ได้แก่ “ความฝันของจีน” และ “ความฝันของโลก” โดยความฝันจีนไม่ใช่เพียงความฝันของจีนเท่านั้น การดำเนินการเพื่อบรรลุความฝันจีนจะไม่มีชาติใดต้องเสียผลประโยชน์ การบรรลุความฝันจีนยังได้สร้างโอกาสให้แก่การพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ทั้งมีส่วนในการช่วยส่งเสริมการผลักดันการพัฒนา และแสวงหาสันติภาพของมนุษยชาติ นี่คือสิ่งที่จีนชูโรงในวาทกรรมทางการทูต

จากการศึกษาวิจัยของ ดร.พัชนี พบว่ากลวิธีในการใช้ภาษาทางการทูตของสี จิ้นผิงมีความแตกต่างหลากหลาย อาทิ ความสุภาพแบบตรงประเด็น การกล่าวถ่อมตน การกล่าวสัญญา จีนสัญญาว่าจะพัฒนาตนเองอย่างสันติ จีนสัญญาว่าจะร่วมมือกับประเทศอื่นเพื่อประโยชน์ร่วมกัน จีนสัญญาว่าจะรับผิดชอบต่อประเทศเพื่อนบ้านและต่อประชาคมโลก การแสดงความสนใจหรือห่วงใย การใช้คำขวัญ สร้างความฝัน สร้างโอกาส สร้างใจสู้ กลวิธีความสุภาพและอีกนานัปการ

ควรตระหนักด้วยว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว จีนถือเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ไทยจึงต้องรู้เท่าทันสิ่งที่จีนพูดหรือกระทำ การรู้เท่าทันจะทำให้ไทยซึ่งเปรียบได้กับ “เรือเล็กในมรสุมโลก” ปรับตัวโดยได้ประโยชน์สูงสุดจากการที่ศูนย์กลางโลกกำลังจะเปลี่ยนมาทางตะวันออก ในขณะที่ชาติตะวันตกต่างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและยังคงหาทางออกมิได้

ข้อมูลหนังสือ
ชื่อหนังสือ วาทกรรมการทูตจีนร่วมสมัย: ความหมายและบทบาท
ผู้เขียน พัชนี ตั้งยืนยง
จัดพิมพ์โดย ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2558
จำนวนหน้า 160 หน้า
ราคา 180 บาท
ISBN 978-616-551-967-0

หมายเหตุ : หน่วยงาน/บุคคลใดที่ต้องการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับจีนในรูปแบบหนังสือ สามารถส่งหนังสือมาได้ที่ “โต๊ะจีน เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการ 102/1 ถ.พระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200” กรุณาวงเล็บด้วยว่า “(คอลัมน์หิ้งหนังสือ)”


กำลังโหลดความคิดเห็น