เอเจนซี / Mgr Online - ไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้นกับกำแพงเมืองจีน ย่อมเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้คนเสมอ ด้วยกำแพงเมืองจีนคือสถาปัตยกรรมโบราณที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศจีน และบ้างว่าเป็นมหัศจรรย์สิ่งก่อสร้างเดียวบนพิภพที่มองเห็นได้จากนอกโลก ขนาดมีคำกล่าวว่า "คนที่ยังไม่เคยปีนกำแพงเมืองจีน ผู้นั้นยังมาไม่ถึงแดนมังกร" ข่าวการบูรณะกำแพงเมืองจีนในอำเภอซุ่ยจง เมืองหูหลูต่าว ซึ่งดูผิดปกติวิสัยงานบูรณะฯ จึงกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์จีนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 23 กันยายน กลุ่มสื่อจีนรายงาน ความผิดปกติวิสัยในการบูรณะกำแพงเมืองจีนในอำเภอซุ่ยจง เมืองหูหลูต่าว ซึ่งก่อนอื่นต้องย้อนความเป็นมาว่า กำแพงเมืองจีนนั้น มีหลายแบบหลายอารมณ์เปรียบเหมือนสิ่งมีชีวิต และเป็นสิ่งก่อสร้างสำคัญระดับมรดกโลก แต่ละส่วนนั้นถูกสร้างขึ้นคนละยุคคนละสมัยกัน ไม่ได้เหมือนกันหมดตลอดระยะนับพันปี ที่สร้างต่อเนื่องพาดผ่านขุนเขาสูงทั่วแผ่นดินจีน และการก่อสร้างกำแพงเมืองจีนในยุคราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) มีเทคนิคการก่อสร้างที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ด้วยการใช้ก้อนอิฐ ก้อนหินแกรนิตขนาดใหญ่ และก้อนหินในท้องถิ่น มาทำเป็นขนาดมาตรฐานเดียวกัน ผ่านกระบวนการเผาไล่ความชื้นด้วยความร้อน 1150 องศาเซลเซียส นานนับสัปดาห์ พร้อมกับสลักชื่อคนทำ /วันเวลาผลิต เพื่อควบคุมคุณภาพทุกก้อน ก่อนเรียงก่อเป็นกำแพงอย่างแน่นหนาปราณีต มีความสูงมาตรฐานที่ 7.5 เมตร และความกว้างที่ฐาน 4.5 - 9 เมตร
จากการศึกษาสมัยใหม่ยังพบความน่าทึ่งที่อยู่เบื้องหลังความทนทานของอิฐกำแพงเมืองจีนยุคหมิง ว่าถูกสร้างด้วยส่วนผสมอันหลากหลาย อาทิ โคลน ปูน และสูตรลับบางอย่าง ซึ่งสันนัษฐานว่าอาจจะเป็นแป้งข้าว
กำแพงยุคแรกในสมัยราชวงศ์ฉินนั้นผุพังไปสิ้น กำแพงที่สร้างขึ้นในภายหลัง โดยเฉพาะในยุคราชวงศ์หมิง อาทิ ด่านปาต้าหลิง ซึ่งเพิ่งสร้างในปีค.ศ. 1505 จึงมีสภาพที่ดีกว่าได้รับการประชาสัมพันธ์ คนรู้จักกันทั่วโลก แต่คนท้องถิ่นจะทราบว่าเป็นจุดที่ไม่ค่อยมีความขลังเท่าไหร่นัก หากพวกเขาจะพาใครไปชมกำแพงเมืองจีน เขาจะพาไปเที่ยวกำแพงเมืองจีน ส่วนที่เรียกว่า "กำแพงเมืองจีนป่า" ที่ยังคงลักษณะเดิมไว้ตั้งแต่สมัยโบราณ มีความขลังกลางสภาพแวดล้อมเดิมๆ อาทิเช่น กำแพงเมืองจีนป่าที่"ซือหม่าไถ" "จินซานหลิ่ง" และกู่เป่ยโข่ว" รวมถึง "กำแพงเมืองจีนป่า" ในอำเภอซุ่ยจง เมืองหูหลูต่าว มณฑลเหลียวหนิง อายุนานนับ 700 ปี นี้เช่นกัน แม้จะปรักหักพัง แต่ยังเปี่ยมด้วยวิญญาณบรรพชน จนได้รับการขนานนามเป็นกำแพงเมืองจีนฉบับดั้งเดิมที่ “สวยที่สุด”
"กำแพงเมืองจีนป่า" ในอำเภอซุ่ยจง ได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยรัฐบาลท้องถิ่นเมืองหูหลูต่าว มณฑลเหลียวหนิง ในปี 2556 และเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วภายในปีเดียว ปี 2557 แต่กลายเป็นงานบูรณะที่น่าวิตกยิ่ง ภาพกำแพงเมืองจีนที่ถูกบูรณะ (ไม่เรียบร้อย) แล้วนี้ ออกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต สภาพกำแพงเมืองจีนเปลี่ยนไปแบบหน้ามือหลังมือ เปรียบเหมือนคนทำศัลยกรรมใบหน้าแล้วผิดพลาด กำแพงกั้นทางเดินของกำแพงเมืองถูกทุบทิ้งหมดเกลี้ยง โดยมีขอบทางเท้าขนาดความสูงราว 3 นิ้วปรากฎขึ้นแทน และยังลาดทางเดินบนกำแพงเมืองจีนจนเรียบกริบ ดูคล้ายเป็นถนนเทปูนทั่วไป แตกต่างจากของเดิมที่ใช้ก้อนหินก่อเรียงกันอย่างบรรจง
หลิว ฟู่เซิง เจ้าหน้าที่สวนฯ ในอำเภอซุ่ยจง ซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่นำเรื่องงานซ่อมฯ กำแพงเมืองจีนซุ่ยจงนี้แพร่ไปยังโลกออนไลน์ กล่าวกับสื่อจีนว่า เป็นความไร้อารยธรรมที่กระทำในนามอนุรักษ์บูรณะ และว่าแม้แต่เด็กๆ ก็ยังดูออกว่า เป็นงานซ่อมที่หยาบลวกมาก ไม่หลงเหลือกำแพงเมืองจีนดังที่เคยเป็นมาอีกต่อไป
ชาวจีนผู้หวงแหนมรดกชาติ ต่างสะเทือนใจกับโฉมของ"กำแพงเมืองจีนป่า" ดังกล่าว หลายคนให้ความเห็นว่า ถ้าจะซ่อมแบบนี้ อย่าซ่อมเลยจะดีกว่า นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านท้องถิ่นออกโรงแฉว่า ผู้รับเหมาใช้ปูนซีเมนต์คุณภาพต่ำมาซ่อมแซม ใช้กิ่งไม้แทงแรงๆ ก็แตกร่อนแล้ว
เมื่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์แรง รัฐบาลท้องถิ่นจึงออกมาชี้แจงว่า ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ออกแบบแผนบูรณะซ่อมแซมกำแพงเมืองจีน และได้ผ่านการพิจารณาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องหลายระดับชั้น รวมถึงสำนักงานมรดกวัฒนธรรมแห่งรัฐ (State Administration of Cultural Heritage) ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน หากกำแพงโบราณถล่มลงมา ซึ่งชาวบ้านหลายคนที่เห็นสอดคล้องกับเรื่องนี้ กล่าวว่าซ่อมเสร็จแล้วแบบนี้ก็ดูดี ทำให้เดินไปมาสะดวกกว่า ไม่อันตรายเช่นเมื่อก่อนมาก
นายต่ง ย่าวฮุย ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์กำแพงเมืองจีน และรองประธานสมาคมกำแพงเมืองจีน กล่าวว่าโดยหลักการแล้ว การบูรณะกำแพงเมืองจีน หรือโบราณสถานใดๆ จะต้องรบกวนสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่สำคัญว่าจะใช้ปูนอะไร แต่การซ่อมแบบนี้ผิดพลาดมาก และเปรียบเหมือนการฝังกลบหน้าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากกว่า
นายติง ฮุย ผู้อำนวยการสำนักงานมรดกวัฒนธรรมแห่งรัฐท้องถิ่น ยอมรับว่าสภาพหลังการซ่อมแซมนั้นดูไม่ค่อยเข้าท่านัก แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย ทางสำนักงานฯ จึงไม่สามารถทำเรื่องขออนุมัติแก้ไขได้ในขณะนี้ โดยต้องรอให้ผ่านเวลาไปช่วงหนึ่งก่อน จึงจะสามารถเข้าประเมินสภาพกำแพงอีกครั้ง เพื่อทำโครงการเสนอให้รัฐบาลท้องถิ่นแก้ไขต่อไป
หลิว ฟู่เซิง ผู้หลงไหลและตระเวนศึกษาเรื่องกำแพงเมืองจีนนานกว่า 15 ปี กล่าวว่า ตอนนี้กำแพงเมืองจีนป่าซุ่ยจง เหมือนคนทำศัลยกรรมใบหน้าที่เฉือนจมูก และใบหูหายไป การบูรณะคือการนำกลับคืนมาดังเดิม แต่กำแพงเมืองจีนซุ่ยจงนี้ สิ่งที่ควรคืนกลับทีเดิม ถูกโกยทิ้งไปหมดแล้ว
ทั้งนี้ กำแพงเมืองจีนบนแผ่นดินมังกรนี้ ได้มีการสร้างกันมาตั้งแต่ราว 300 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ และสร้างต่อเนื่องตลอดเวลากว่าพันปี จนถึงในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) รวมมีความยาวอย่างเป็นทางการที่ 21,196.18 กิโลเมตร
ข้อมูลของ SACH ระบุว่า กว่าร้อยละ 30 ของกำแพงเมืองจีนที่สร้างเพิ่มในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งมีความยาว 6,200 กิโลเมตรนั้น ทรุดโทรมจนไม่เหลือสภาพเดิมอีกแล้ว และที่ยังสามารถอนุรักษ์ไว้ในสภาพสมบูรณ์นั้น มีไม่ถึงร้อยละ 10
ไชน่าเดลีรายงานว่า กำแพงเมืองจีนได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายจีน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1987 การกระทำความเสียหายใดๆ กับกำแพงเมืองจีนเป็นความผิดอาชญากรรม ดังนั้นเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องถูกดำเนินการสอบสวนว่า มีการบกพร่องต่อหน้าที่เพียงใด และประชาชนคงติดตามการบูรณะกำแพงเมืองจีนของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อให้เป็นสถาปัตยกรรมมหัศจรรย์ที่มีชีวิต มีวิญญาณอยู่คู่แผ่นดินมังกรตลอดไป