xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟจีนลากจูงยุทธศาสตร์ “หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง” ถึงอัฟกาฯ รุดหน้านำคู่แข่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจากจีนเตรียมเดินทางออกจากสถานีต้นทางเมื่อเดือนส.ค. (ภาพ รอยเตอร์ส)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ยุทธศาสตร์พญามังกร “หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง” รุดหน้านำคู่แข่ง นักวิเคราะห์มอง “ปักกิ่ง” ผูกมิตร “อัฟกานิสถาน” หวังสยายปีกเหนือเอเชียกลาง

เมื่อช่วงปลายเดือนส.ค. ที่ผ่านมา รถไฟขนส่งสินค้าจากจีนได้เดินทางถึงสถานีในเมืองไฮราทัน (Hairatan) ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน หลังจากใช้เวลาสิบสามวันวิ่งลัดเลาะผ่านคาซัคสถานและอุซเบกิสถาน ระยะทางรวมกว่าเจ็ดพันกิโลเมตร ซึ่งหากมองผิวเผินอาจดูเป็นขบวนรถไฟหน้าตาธรรมดา แต่ความเป็นจริงกลับมีสิ่งซ่อนเร้นที่น่าสนใจ

เนื่องจากการมาถึงของม้าเหล็กฝูงนี้คือการส่งสัญญาณอีกครั้งของจีน ที่มุ่งมั่นจะเชื่อมโยงภูมิภาคผ่านยุทธศาสตร์ “หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) อันว่าด้วยการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและโครงสร้างสาธารณูปโภคในเส้นทางที่วางไว้

ยุทธศาสตร์ “หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง” ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หยิบยกสู่เวทีโลกตั้งแต่ปี 2556 กำลังเริ่มเข้าที่เข้าทางและพัฒนาไปในทางที่ดี ตรงข้ามกับโครงการ “ทางสายไหมใหม่” (New Silk Road) ของรัฐบาลสหรัฐฯ นำโดยนางฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในปี 2554 ซึ่งดูจะดำเนินไปอย่างไร้จุดหมาย

แถลงการณ์จากเว็บไซต์ของสถานทูตจีนท้องถิ่นระบุว่า นายเหยา จิง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศอัฟกานิสถาน ได้ต้อนรับขบวนรถไฟด้วยตนเอง กล่าวว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของเป้าหมายร่วมระหว่างปักกิ่งกับคาบูล ที่จะผนึกการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี การทำธุรกิจระหว่างจีนกับอัฟกานิสถานอาจไม่หอมหวานดังใจคิด เพราะแม้ทั้งสองจะมีดินแดนติดต่อกัน แต่กลับไม่มีถนนหรือทางรถไฟเชื่อมถึงกันโดยตรง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าจากจีนสู่อัฟกาฯ มีมูลค่าเพียง 400 ล้านดอลลาร์ หรือราวร้อยละ 5 ของมูลค่าสินค้าส่งออกจากจีนไปปากีสถานในปี 2557 เท่านั้น

บรรดานักวิเคราะห์มองว่า หากผู้นำจีนต้องการปรับปรุงการค้ากับภูมิภาคดังกล่าวให้เจริญงอกงาม ก็ต้องทำงานหนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ต่อไปอีกยาวไกล แต่วัดจากสถานการณ์ ณ ตอนนี้ ถือว่าจีนเต็มใจเข้าไปยืดเส้นยืดสายมากขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ จีนได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการทหารในอัฟกานิสถาน แม้จะมีข้อวิตกกังวลว่าอัฟกาฯ อาจเป็นฐานหลบภัยและฐานฝึกหัดของกองกำลังชาวอุยกูร์ ซึ่งแสวงหาการเป็นรัฐอิสระของเขตปกครองตนเองซินเจียง ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของแผ่นดินจีน

“การมาถึงของรถไฟบ่งชี้ว่าจีนพร้อมดำเนินบทบาทนำในการบูรณะยุคหลังสงคราม ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองในอัฟกานิสถาน” ความเห็นจาก หวัง เหลียน อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

“ต่อไปในภายภาคหน้า อัฟกานิสถานที่มั่นคงหรือนิยมจีนจะกลายเป็นระเบียงเศรษฐกิจสำคัญ ที่ปักกิ่งใช้ขยับขยายการเข้าถึงยุโรปตามยุทธศาสตร์หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง” อาจารย์หวังกล่าว “เส้นทางรถไฟจะเป็นขุมพลังของปักกิ่งในการแผ่อิทธิพลเหนือคาบูลและดินแดนรอบข้าง”

ทว่า ชู อิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกรุงปักกิ่ง ตั้งคำถามถึงประโยชน์ของการผลักดันเส้นทางขนส่งสินค้าข้ามภูมิภาค (transregional) ดังกล่าว เนื่องจากการขนส่งสินค้าข้ามภูมิภาคส่วนใหญ่ในจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น และสินค้าจีนอาจเสียราคาเมื่อเปรียบเทียบค่าขนส่งระหว่างทางรถไฟกับทางเรือ

กำลังโหลดความคิดเห็น