xs
xsm
sm
md
lg

จี20 มหาชุมนุม แผนกู้โลก ที่ต้องรอดูภาคต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

กลุ่มผู้นำโลกถ่ายภาพร่วมกันระหว่างการประชุมสุดยอด G 20  ในนครหังโจว มณฑลเจ้อเจียง เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2559 (ภาพ รอยเตอร์ส)
โกลบอลไทม์ส/ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การประชุมสำคัญหลายวาระ รวมถึงการหารือพูดคุยประเด็นต่างๆ ระหว่างผู้นำทั่วโลก ในการประชุมจี 20 ปีนี้ กล่าวได้ว่ามีหลายประเด็นถูกนำมาเป็นวาระฯ เพราะการนำของจีน ซึ่งมีราศีภาวะผู้นำโลกที่น่าจับตามอง เช่นเดียวกับติดตามดูความแข็งแกร่งของกลุ่มเศรษฐกิจ จี20

บทบาทของกลุ่มจี20 แต่เดิมทีนั้น เริ่มต้นคล้ายกับกลุ่มจี7 ซึ่งประกอบด้วยชาติอุตสาหกรรมใหญ่ อย่าง แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ที่ร่วมกันครอบครองเศรษฐกิจโลกยุคใหม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมานานนับร้อยปี จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินเอเชียในปี 1997 เยอรมนีจึงได้เสนอให้กลุ่มจี7 ไปรวมตัวกับชาติอื่นๆ ก่อตั้งเป็นกลุ่มจี 20 ซึ่งได้แก่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำเดิม (จี7) ที่เพิ่มเติมคือ สหภาพยุโรป รัสเซีย และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 11 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี

เมื่อวิกฤติการเงินโลก 2008 ทำให้แกนเศรษฐกิจโลกเอียงแกว่ง กลุ่มประเทศมหาอำนาจเดิมยอมรับว่านโยบายทางการเงินเพียงลำพังไม่สามารถสร้างสมดุลการเติบโตได้ ต้องดิ้นรนหาสมดุลแรงเหวี่ยงจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนให้มาช่วยกอบกู้ผ่านวิกฤติ

การทะยานขึ้นมาของประเทศกำลังพัฒนาเช่น จีน ที่แข็งแกร่งและรอปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล ทำให้บรรดามหาอำนาจไม่อาจมองข้ามกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานอกสายตาต่อไป

การประชุมจี20 ที่เดิมเป็นเพียงเวทีสำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับผู้ว่าการธนาคารกลาง เพื่อหารือนโยบายทางการเงินระหว่างประเทศ สนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ตลอดจนปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ จึงเริ่มให้ความสนใจปัญหาอื่นๆ ที่ใหญ่โต มองไกลกว่า โดยผู้นำประเทศจะมาเข้าร่วมงานนี้เอง เพื่อรับรู้จัดการกับปัญหาที่ใหญ่โต แสวงความท้าทายใหม่ๆ

พลังขับเคลื่อนของกลุ่มจี 20 นับว่ามีความสำคัญกับเศรษฐกิจโลกมาก ด้วยมีสัดส่วนครองเศรษฐกิจการค้าโลกถึงร้อยละ 80 มีประชากรรวมกันสัดส่วน 2 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมด มีอาณาเขตรวมถึงร้อยละ 60 ของแผ่นดินทั้งหมดในโลก

การประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ณ เมืองหังโจว ประเทศจีน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 กันยายนที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ประเทศจีนได้เป็นเจ้าภาพฯ และในฐานะผู้นำการประชุมฯ จีนเป็นผู้ริเริ่มให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนา ด้วยการเชิญผู้นำของประเทศกำลังพัฒนา 8 ชาติ มาประชุมร่วมกับผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม 20 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 7 องค์กร จนทำให้การประชุมครั้งนี้เป็นการรวมผู้นำประเทศมากที่สุดในประวัติศาสตร์การประชุมจี 20

นอกจากนี้ วาระการประชุมยังไม่จำกัดกรอบเพียงแก้ปัญหาวิกฤติการเงิน หรือการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่มองไปถึงการสร้างนวัตกรรม ลดการกีดกันฯ มุ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ เป็นวาระสำคัญอันดับต้นๆ เปลี่ยนจากกลไกที่เน้นเพียงแก้ปัญหาการเงิน ไปสู่การปรับโครงสร้างธรรมาภิบาลเศรษฐกิจโลกในระยะยาว

ด้วยการริเริ่มใหม่นี้ ทำให้การประชุมสุดยอดจี20 ในหังโจว ประเทศจีน ถูกคาดหวังสูงว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต แม้ว่าความจริงการประชุมหรือเจรจากันในเวทีนี้จะไม่มีผลผูกพันใดๆ ก็ตาม

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต่างกล่าวยอมรับว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างยั่งยืนในระยะยาว และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นกำลังสำคัญในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เพื่อให้โลกมีความสมดุลมากขึ้น เพราะช่องว่างที่ลดลงระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนาจะช่วยปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจโลก

การหารือฉันทามติเกี่ยวกับนวัตกรรม เป็นอีกความสำเร็จภายใต้การนำของประธานาธิบดีจีน ไม่เพียงเพิ่มความเชื่อมั่นในการเจริญเติบโต แต่ยังมีความสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างตลอดจนกำกับดูแลเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมมากที่สุดระหว่างการประชุมครั้งนี้ คือวาระพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การให้สัตยาบันต่อข้อตกลงปารีสของจีนและสหรัฐฯ ในการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และนโยบาย "การเงินสีเขียว" สนับสนุนเศรษฐกิจโลกปรับสู่เศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม

ในขณะเดียวกัน การประชุมยังสนับสนุนประเทศแอฟริกาและอุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ให้มีสิทธิมีเสียง และมองหาระบบเศรษฐกิจโลกที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางขึ้น

ส่วนในประเด็นอื่นๆ แม้สหรัฐฯ พยายามหารือกับรัสเซียรอบนอกการประชุม เพื่อบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในซีเรีย แต่ต้องพบกับความล้มเหลว

แม้ความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงก่อการร้ายและผู้อพยพก่อความซับซ้อนแก่แนวโน้มเศรษฐกิจโลก แต่เหล่าผู้นำจี20 เห็นพ้องถึงการหาทางออกด้วยการใช้การเมืองมากกว่าการทหาร

จิน คั่นหรง ศาสตราจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาเหรินหมิน กล่าวว่า กลุ่มจี20 ยังเป็นเพียงเวทีหารือ ก็เหมือนกันการประชุมหารือทั่วไป ที่ยังขาดกลไกประสิทธิภาพในการดำเนินการ เมื่อเทียบกับความร่วมมือของกลุ่มจี 7 แล้ว จึงเป็นสิ่งท้าทายของกลุ่มจี 20 เพราะ ณ เวลานี้ จี20 ยังคงไม่สามารถแทนที่กลุ่ม จี7 ได้

"ความยากลำบากอยู่ที่การประสานมือระหว่างสมาชิกของจี20 และความสามารถในการดำเนินการของแต่ละประเทศ ขณะที่จี20 จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าจะเป็นตัวแทนของโลกได้อย่างไร"

"คงเป็นไปไม่ได้ที่จี20 จะเข้าแทนที่ จี7 ได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะสมาชิกกลุ่มจี 7 จับมือร่วมกันมานานกว่า 40 ปี มีความเหนียวแน่นด้วยอุดมการณ์ เป้าหมายและวิถีปฏิบัติในทางเดียวกัน อันเป็นสิ่งที่กลุ่มจี20 ยังขาดอยู่ และคงต้องใช้เวลาในการแสวงจุดเดินร่วมไปในแนวทางเดียวกัน" หวัง กล่าว และคาดหมายว่าประเด็นต่างๆ ที่ได้ริเริ่มมาแล้วในปีนี้ ตลอดจนโอกาสของประเทศกำลังพัฒนา จะได้รับการหารือต่อเนื่องในการประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ครั้งหน้า ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ในปี 2017
กำลังโหลดความคิดเห็น