เอเอฟพี – การตัดสินใจจะเชิญว่าประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี20 ในเดือนพฤศจิกายนนี้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องยังอยู่อีกห่างไกลนัก ออสเตรเลียซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมระบุวันนี้ (3) โดยจะมีการขอคำปรึกษาจากเหล่าพันมิตรองค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในสัปดาห์นี้เสียก่อน
รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์แดนจิงโจ้กล่าวเตือนเมื่อวานนี้ (2) ว่าเสียงคัดค้านการเข้าร่วมประชุมจี 20 ของ ปูติน ที่เมืองบริสเบนกำลังเพิ่มมากขึ้นจากสิ่งที่มอสโกกระทำต่อยูเครน
จูลี บิชอป รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า เธอจะพูดคุยกับเหล่าสมาชิกนาโตในการประชุมที่แคว้นเวลส์เพื่อขอความคิดเห็น แต่ยังพอมีเวลาให้ผู้นำรัสเซียพิสูจน์ว่าเหตุใดเขาจึงยังสมควรมีที่นั่งในการประชุมนี้ต่อไป
“ดิฉันขออธิบายให้ชัดเจนว่า ดิฉันไม่ได้พูดว่า จะไปหานาโตเพื่อล็อบบีการเข้าร่วมประชุมจี20 ของประธานาธิบดี ปูติน” เธอบอกกับผู้สื่อข่าวก่อนเดินทางไปแคว้นเวลส์
“สิ่งที่ดิฉันพูดคือ ดิฉันหวังว่าจะมีการปรึกษาหารือกันถึงประเด็นนี้ ซึ่งออกจะดูไร้เดียงสาไปหน่อยหาดคิดว่าเรื่องนี้จะไม่ถูกยกขึ้นมาหารือกัน”
“แต่ประเด็นคือ ยังมีการประชุมนานาชาติอีกหลายนัดก่อนถึงการประชุมจี 20” เธอกล่าว โดยชี้ถึงการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่กรุงปักกิ่ง และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในพม่า
“ดิฉันคิดว่า เราจะได้แนวคิดบางอย่างที่ดีกว่านี้จากความเห็นของประชาคมโลกรวมถึงความเห็นของประธานาธิบดี ปูติน ที่มีต่อการการเข้าร่วมประชุมเหล่านั้น ก่อนที่เราจะมาพิจารณาเรื่องการประชุมจี 20 “
บิชอป เสริมว่า ในฐานะเจ้าภาพการประชุมจี 20 บทบาทของออสเตรเลียคือ “ขอคำปรึกษา และบรรลุตามฉันทามติ”
“ทว่าการตัดสินใจนั้นยังอีกยาวไกล และแน่นอนว่าจะต้องมีการหยั่งเสียงและดิฉันมั่นใจว่าคนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับดิฉัน แต่นั่นไม่ใช่ความต้องการของออสเตรเลีย” เธอกล่าว
ระยะนี้ นายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ แห่งออสเตรเลีย ได้ใช้ถ้อยคำรุนแรงต่อรัสเซีย โดยเฉพาะตั้งแต่เครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ถูกยิงตกเหนือภาคตะวันออกของยูเครน พร้อมปลิดชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่อง 298 ราย ในนั้นรวมถึงพลเมืองออสเตรเลีย 38 คน
ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุแห่งหนึ่งเมื่อวานนี้ (2) แอบบ็อตต์ กล่าวว่า รัสเซียกำลังเล่น “เกมสกปรก” ในยูเครน และกล่าวหารัสเซียว่าข่มเหงรังแกประเทศเพื่อนบ้านที่เล็กกว่าตัวเอง
ปูติน ถูกสหรัฐฯและเหล่าพันธมิตรอเมริกาเพิกเฉยมาโดยตลอดกีดกันไม่ให้เข้าพวก หลังจากรัสเซียได้ควบรวมคาบสมุทรไครเมีย ทั้งยังถูกตัดออกจากการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ที่กรุงบรัสเซลส์ในเดือนมิถุนายนด้วย