ไชน่าเดลี่ - นักการทูตอาวุโสจีนกล่าวว่า จีนสามารถจัดตั้งเขตป้องกันภัยทางอากาศเหนือทะเลจีนใต้ ถ้ารู้สึกว่าถูกคุกคามอธิปไตย ประเทศอื่นๆ ไม่ควรใช้โอกาสนี้ในการคุกคามจีน และไม่ปล่อยให้เหตุการณ์บานปลายขยายผลไปเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม หลังอนุญาโตตุลาการตัดสินจีนไม่มีสิทธิเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้
ไชน่าเดลี่ อ้าง (14 ก.ค.) คำกล่าวของ หลิว เจิ้นหมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ นักการทูตอาวุโสจีน เมื่อวันพุธที่ 13 กรกฎาคมว่า จีนสามารถจัดตั้งเขตป้องกันภัยทางอากาศเหนือทะเลจีนใต้ ถ้ารู้สึกว่าถูกคุกคามอธิปไตย หลังบรรยากาศการเมืองตึงเครียดสืบเนื่องจากกรณีที่อนุญาโตตุลาการตัดสินตามคำร้องขอฝ่ายเดียวของประเทศฟิลิปปินส์ว่าจีนไม่มีสิทธิเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนหมู่เกาะเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ของจีนนั้น ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย
หลิว เจิ้นหมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศกล่าวว่า การประกาศเขตดังกล่าว ซึ่งจะต้องมีการนำกำลังทางอากาศเข้ารักษาการปกป้องอธิปไตยนี้ ขึ้นอยู่กับ "ระดับของภัยคุกคามที่เผชิญ"
"ถ้าหากมีภัยคุกคามความมั่นคงฯ แน่นอนว่าเรามีสิทธิที่จะกำหนดเขตป้องกันภัยฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์โดยรวม" หลิว กล่าวและเสริมว่า ประเทศอื่นๆ ไม่ควรใช้โอกาสนี้ในการคุกคามจีน และไม่ปล่อยให้เหตุการณ์บานปลายขยายผลไปเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม
หลิว กล่าวว่า จีนมีจุดมุ่งหมายในการสร้างสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือฯ ในทะเลจีนใต้ และยังกล่าวถึงสาระสำคัญของเนื้อหาที่ระบุในสมุดปกขาวของสภาแห่งรัฐเกี่ยวกับนโยบายแก้ปัญหาพิพาททะเลจีนใต้ผ่านการเจรจา
สมุดปกขาวฯ ระบุว่า ข้อพิพาทหลักๆ ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ คือเรื่องปัญหาเขตแดนอันเกิดจากการรุกรานยึดครองหมู่เกาะและแนวปะการังของหมู่เกาะหนานซา (หมู่เกาะสแปรตลีย์) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หลิว เจิ้นหมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ตั้งคำถามว่าคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่ง 4 คนมาจากประเทศยุโรป และอีกหนึ่งคนเป็นชาวกาน่า ที่อาศัยอยู่ในนยุโรปมานาน สามารถเข้าใจการเมืองทางภูมิศาสตร์ที่ซับซ้อนของเอเชียเพียงใด ขณะที่คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการนั้น ก็ไม่ได้พิจารณาข้อมูลประวัติศาสตร์เหนือทะเลจีนใต้ด้วย