xs
xsm
sm
md
lg

จีนอัปเกรดระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วครั้งใหญ่ เพิ่มความแม่นยำสูงสำหรับการทหารและสมาร์ตโฟน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พรรณพืไล นาคธน

จีนยิงจรวดขนส่ง ลองมาร์ช – 3 บี /หยวนเจิง- 1 บรรทุกดาวเทียมรุ่นใหม่ 2 ดวงสำหรับระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่ว ขึ้นสู่อวกาศ จากสถานียิงดาวเทียมซีฉังในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) เมื่อวันที่ 25 ก.ค. พ.ศ. 2558 (ภาพ : ซินหวา)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - พญามังกรเตรียมอัปเกรด ( upgrade) ระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่ว ซึ่งเป็นเทคโนโลยี ที่จีนสามารถคิดค้นและพัฒนาขึ้นเองครั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการบอกพิกัด สำหรับการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองในทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกันยังส่งผลดีต่อผู้ใช้สมาร์ตโฟนไปพร้อมกัน

การสร้างระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่ว เริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2543 และมีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ในปีพ.ศ. 2563 โดยจะใช้ดาวเทียมปฏิบัติการทั้งหมดเกือบ 40 ดวง

ปัจจุบัน จีนมีการติดตั้งระบบเป่ยโต่วบนโทรศัพท์มือถือจำนวนมาก ที่จีนผลิตขึ้น แต่เป็นเวอร์ชัน ที่ไม่มีความซับซ้อน และบอกพิกัดได้แม่นยำสูง แตกต่างจากเวอร์ชัน ที่รัฐบาลปักกิ่งนำมาใช้ในงานด้านข่าวกรองและในกองทัพจีน ซึ่งระบบจีพีเอส (GPS) ของสหรัฐฯ ก็ทำแบบนี้

อย่างไรก็ตาม อีกไม่นานเกินรอ ระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วสำหรับโทรศัพท์มือถือของประชาชนทั่วไปจะมีความแม่นยำสูง เป็นที่พึงพอใจสำหรับผู้ใช้อย่างแน่นอน

จากการแถลงข่าวของนาย หรั่น เฉิงฉี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการดาวเทียมนำร่องของจีน เมื่อวันพฤหัส ฯ ( 16 มิ.ย.) ความแม่นยำในการบอกพิกัดของระบบเป่ยโต่วในปัจจุบันคือประมาณ 10 เมตร สำหรับโทรศัพท์มือถือ แต่จากนี้จะมีการปรับปรุงระบบทั้งหมดขนานใหญ่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การใช้งานของพลเรือนและด้านการทหาร โดยความแม่นยำจะเพิ่มจากเดิมอีกหลายร้อยเท่า

“ จะเป็นการเปลี่ยนแปลง จาก 10 เมตร เป็นเดซิเมตร เป็นเซนติเมตร” นายหรั่นกล่าว

“ ยกตัวอย่าง ถ้าเราใช้โทรศัพท์มือถือเรียกบริการรถแท็กซี่ด้วยความแม่นยำเช่นนี้ เราไม่จำเป็นต้องบอกคนขับว่า เรายืนอยู่ตรงไหน เพราะรถแท็กซี่จะตรงดิ่งมาจอดตรงที่เรายืนเลยทีเดียว” เขาอธิบาย

นายหรั่นยอมรับว่า เป่ยโต่วยังล้าหลังระบบดาวเทียมนำรองของชาติอื่น ๆ เช่น ระบบจีพีเอส ของสหรัฐฯ แต่การอัปเกรดจะทำให้เป่ยโต่วเพิ่มประสิทธิภาพอย่างมาก

นายหรั่นระบุว่า โดยพื้นฐานแล้ว ระบบเป่ยโต่วสร้างขึ้นมา เพื่อรองรับงานด้านยุทธศาสตร์ของจีน และสามารถใช้ในการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองท่ามกลางความขัดแย้งจากข้อพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับหลายชาติ

เป่ยโต่วแตกต่างจากระบบดาวเทียมนำร่องของชาติอื่นๆ เช่น จีพีเอส เพราะเป่ยโต่วนำมาใช้งานได้โดยตรงในการรวบรวมข้อมูลข่าวกรอง สถานีปลายทางของเป่ยโต่วบนภาคพื้นดินสามารถสื่อสารกับดาวเทียม เพื่อรับคำสั่ง หรือส่งข้อมูล โดยใช้ช่องทางพิเศษ ซึ่งกำกับดูแล โดยผู้ควบคุมระบบในกรุงปักกิ่ง

นายหรั่นระบุว่า ประภาคารส่วนใหญ่ของจีน หน่วยงานทหาร และเรือประมงหลายหมื่นลำในทะเลจีนใต้ ติดตั้งอุปกรณ์รับส่งข้อมูลของเป่ยโต่ว เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของรัฐบาลจีนในการควบคุมทะเลจีนใต้

ยกตัวอย่าง ประภาคารแห่งหนึ่งสามารถบันทึกข้อมูลและระบุเรือแต่ละลำที่แล่นผ่านมาใกล้ จากนั้น ถ่ายทอดข้อมูล ที่มีความอ่อนไหวไปยังกรุงปักกิ่ง

ระบบเป่ยโต่วยังทำให้รัฐบาลจีนรู้ตำแหน่งที่ตั้งของเรือประมงหลายหมื่นลำ และดำเนินการได้ในทันที หากเรือเหล่านั้นประสบปัญหาในน่านน้ำข้อพิพาท

จากการเปิดเผยของนายหรั่น รัฐบาลฮ่องกงมี “การติดต่ออย่างใกล้ชิด” กับปักกิ่ง เพื่อนำระบบเป่ยโต่วมาใช้ที่ฮ่องกง และเริ่มมีการใช้งานขั้นแรกไปแล้ว โดยฮ่องกงจะอยู่ในเครือข่ายการใช้ระบบดาวเทียมนำร่อง ที่มีการอัปเกรดดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ โทรศัพท์มือถือจำนวนกว่า 1 ใน 3 ที่จีนส่งออกในไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2559 ได้ติดตั้งชิ้ปรับส่งข้อมูลของเป่ยโต่ว ซึ่งทำให้ต่างชาติเกิดความวิตกเรื่องปัญหาความมั่นคง นอกจากนั้น ผู้ใช้บางคนยังกังวลว่า สมาร์ตโฟน ที่ติดตั้งระบบนำร่องเป่ยโต่วจะทำให้ทางการจีนทราบพิกัดและคอยติดตามตำแหน่งของผู้ใช้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ซึ่งไม่เปิดเผยนามคนหนึ่งบนแผ่นดินใหญ่ระบุว่า ชิ้ปเป่ยโต่วส่วนใหญ่ไม่มีฟังก์ชันในการสื่อสารโดยตรงกับดาวเทียมในระบบนำร่องนี้ และผู้ใช้ ที่ถูกคัดเลือกแล้วเท่านั้น จึงจะเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ โดยการเชื่อมโยงกับดาวเทียมต้องใช้เสาอากาศแบบพิเศษและใช้แหล่งพลังงาน ที่ใหญ่ ซึ่งลำพังสมาร์ตโฟน ที่ผู้คนใช้ทั่วไป ไม่สามารถอัดเข้าไปได้

อย่างไรก็ตาม จากการแถลงของนายหรั่น ความแม่นยำของเป่ยโต่วระดับใช้ด้านการทหาร เมื่ออัปเกรดแล้ว จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ด้วย นอกจากนั้น จีนยังมีการติดต่อกับองค์การระหว่างประเทศหลายองค์การ และอีกหลายชาติ เช่น ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน เพื่อทาบทามให้มีการใช้ระบบเป่ยโต่วอีกด้วย

ขณะที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organisation) ยังได้อนุมัติการนำระบบเป่ยโต่วมาใช้กับเรือ ที่ออกทะเล ส่วนองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organisation) ก็กำลังพิจารณาทบทวนความปลอดภัยและความเป็นไปได้ในการติดตั้งระบบเป่ยโต่วบนเครื่องบิน

สำหรับการอัปเกรดระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วครั้งใหญ่ของจีนจะมีการทดสอบระบบในสิ้นปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น