xs
xsm
sm
md
lg

40 ปีสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม : ก้าวสู่ประเด็นแรงงานข้ามชาติ (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนุสรณ์สถานลุงโฮ ที่บ้านนาจอก จ. นครพนม ถือเป็นอนุสรณ์สถานนอกประเทศเวียดนามที่ใหญ่ที่สุดในโลก การสร้างอนุสรณ์สถานในลักษณะนี้ถือเป็นการยอมรับสายสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามที่ลึกซึ้งยาวนานและที่สำคัญฐานะของชาวเวียดเกี่ยวในประเทศไทยถูกยกสูงขึ้น (ภาพโดย Quang  Thuan, VNA)
โดย สุทธิดา มะลิแก้ว

แม้ไทยและเวียดนามได้พยายามแก้ปัญญาการลักลอบทำงานโดยการบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน และบันทึกข้อตกลงด้านการจ้างแรงงานงานขึ้น แต่เนื่องจากอาจจะไม่ตรงกับอาชีพที่แรงงานเวียดนามทำอยู่ในปัจจุบัน หลายๆส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจหรือนายจ้างที่มีคนงานชาวเวียดนามทำงานอยู่ต่างหวังว่าเขาจะมีโอกาสที่จะได้จ้างแรงงานอย่างถูกต้อง

เจ้าของร้านอาหารชาวไทยคนหนึ่งกล่าวว่า จากจำนวนแรงงานทั้งหมด 19 คน เธอมีแรงงานเวียดนาม 1 คนและ คนลาว 3 คน (มีบัตรอนุญาตทำงาน) เธอบอกว่าต้องการจ้างแรงงานเวียดนามอย่างถูกกฎหมายแต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะดูเหมือนว่าใน MOU จะไม่ได้พูดถึงอาชีพพนักงานในร้านอาหาร ตอนนี้แรงงานเวียดนามนั้นต้องรับผิดชอบเรื่องการเข้าเมืองเอง เธอคิดว่า ถ้าเปิดให้จ้างได้เสรีก็จะเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะเป็นตัวเลือกในการจ้างงานได้โดยเธอจ่ายค่าแรงคนงานเท่ากันในงานประเภทเดียวกัน

ส่วน สิน (นามสมมติ) เจ้าของกิจการผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นเชื้อสายเวียดนาม เห็นว่า ใน MOU ควรจะเพิ่มอาชีพในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในหมวดตัดเย็บเสื้อผ้าเข้ามาด้วย เพราะทุกวันนี้เขาจ้างงานโดยให้ลูกช่วงคิดค่าแรงให้เป็นชิ้นจ่ายเงินผ่านหัวหน้ากลุ่มแรงงาน โดยคนงานที่มารับช่วงปัจจุบันมีประมาณ 40 คน เป็นกลุ่มคนงานไทย 5 กลุ่ม และเวียดนาม 2 กลุ่ม เขาก็ค่อนข้างพอใจในการทำงานของแรงงานเวียดนาม

“คนไทยมักจะทำงานตามใจตัวเองทำเท่าที่อยากทำ ทำให้ผลผลิตต่อวันที่ได้น้อย บางครั้งอาจทำให้ส่งงานที่ไปรับเอาไว้ไม่ทันตามจำนวนยอดสั่งซื้อ ส่วนคนงานเวียดนามนั้นทำงานเร็วและผลิตงานได้จำนวนมากต่อวันและสามารถทุ่มเทเวลาทำงานให้ได้มากกว่า แต่ละวันเขาจึงได้ชิ้นงานมาจากการส่งงานไปให้แรงงานเวียดนามมากกว่าแรงงานไทย นอกจากนั้น การใช้แรงงานเวียดนาม เขาสะดวกที่จะสื่อสารหรือสั่งงานได้มากกว่า แต่ถึงวันนี้เขายังคงต้องรอทางรัฐบาลไทยว่าจะมีการเพิ่มอาชีพที่อนุญาตใน MOU หรือไม่”

ทั้งนี้ ในการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของ 2 ประเทศเมื่อในเดือนเมษายนที่ผ่านมา (2559) ทางเวียดนามก็ได้เจรจาขอให้ขยายอาชีพที่แรงงานชาวเวียดนามสามารถทำได้ภายใต้ MOU ด้านแรงงาน โดยเฉพาะอย่าง งานในภาคบริการและอุตสาหกรรมซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการเพิ่มอาชีพที่อนุญาตใน MOU หรือไม่
นายเหวียน วัน เน็น ประธานสำนักงานคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ตัวแทนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมตัวแทนฝ่ายไทย เป็นประธานร่วมในการทำพิธีเปิดอนุสรณ์สถานลุงโฮ
สินบอกว่า หากสามารถจ้างงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เขาคิดว่าเขาจะเปิดโรงงานเสื้อผ้าของเขาเองและมีลูกจ้างที่เขาสามารถดูแลได้เองจะได้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งก่อนหน้านี้เขาก็เคยให้คนงานที่เป็นชาวเวียดนามมาทำงานกับเขา แต่พบว่ามีภาระต้อง “เคลียร์” กับเจ้าหน้าที่ไปมาก ตอนนี้เลยต้องให้ทำงานแบบลูกช่วงรับไปและจัดการ “เคลียร์” เจ้าหน้าที่เอง ซึ่งจุดนี้สอดคล้องกับข้อสังเกตของเจ้าหน้าที่การทูตฯว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีคนบางกลุ่มที่ต้องเสียผลประโยชน์จากตรงนี้ไปจึงไม่ยอมให้การจ้างให้ถูกกฎหมายทั้งหมดเกิดขึ้น ซึ่งจากคำบอกเล่าของสินก็น่าจะเป็นคำตอบ

ในขณะที่เหืองเองก็เล่าถึงประเด็น “เคลียร์เจ้าหน้าที่”ให้ฟังว่า ในแต่ละเดือนจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ เข้ามาตรวจสอบในที่อยู่ของเขาซึ่งเขาก็ต้องจัดค่าธรรมเนียมนอกระบบให้ไป

“ทุกวันนี้ก็มีอย่างต่ำ 4 หน่วยงานที่เข้ามา แล้วจะนับรายหัวคนงานที่อยู่ด้วยกันว่ามีกี่คน แต่ละหน่วยก็คิด 400-500 บาท ต่อหัวต่อเดือน ดังนั้นทำให้คนงานในกลุ่มของเราก็ต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาทต่อเดือนสำหรับการ “เคลียร์” และไม่นับหากเจอการตรวจจากท้องที่อื่น”

นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่งคือเหล่าบรรดาพวกที่จัดการเรื่องการต่อใบอนุญาตเข้าเมือง แรงงานเหล่านี้ต้องจ่ายจ่าไปประทับตราเข้าเมืองทุกๆเดือนที่ด่านประเทศเพื่อนบ้าน เดือนละ 1,000 บาท แต่ในเดือนที่ 4 จะย้ายมาที่ด่านอีกประเทศเทศหนึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 2,700 -2,800 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ แรงงานเวียดนามเองไม่มีข้อมูลว่าเงินที่จ่ายกันไปนั้นตกไปถึงมือใครบ้าง แต่ก็ทำให้พวกเขาสามารถเข้าเมืองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม แม้มุมมองการบริหารจัดการทางกฎหมายจะมองการเพิ่มขึ้นของจำนวนแรงงานเวียดนามที่ลักลอบเข้ามาทำงานว่าเป็นปัญหา แต่หากมองในมิติความสัมพันธ์อาจจะตีความได้ว่าตัวเลขเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในเชิงความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี

ย้อนไปตั้งแต่ จากเดิมในยุคสงครามเย็นที่เคยอยู่กันคนละฝ่ายในระดับรัฐบาลและมีความระแวงคลางแคลงใจกันในระดับประชาชน จนกระทั่งช่วงต้นๆของการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกันอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่ก็มีช่วงความสัมพันธ์ที่ขรุขระหรือลุ่มๆดอนๆอยู่ในระยะเริ่มต้น *(ดูล้อมกรอบลำดับเหตุการณ์ฯ) ความใกล้ชิดกันของผู้คนทั้ง 2 ประเทศก็ยากจะเห็น มาถึงวันนี้ ระยะเวลา 40 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างกัน ก็เกิดปรากฎการณ์ใหม่ที่เราสามารถเห็นชาวเวียดนามเข้ามาอยู่ในประเทศได้อย่างกลมกลืนไปกับคนไทยอย่างปกติโดยไม่มีความหวาดระแวงกัน นี่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามก็พัฒนามาไกลทีเดียวโดยเฉพาะในส่วนของประชาชน ส่วนกรณีของความเป็นรัฐชาติและกฎหมายนั้นก็คงต้องอาศัยความร่วมมือกันในฐานะมิตรประเทศที่ดีในการช่วยกันแก้ปัญหาและพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกันต่อไป

*ลำดับเหตุการณ์ 40 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม

วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2519สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

- พ.ศ. 2521 ตกลงให้มีการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตระหว่างกัน

เมษายน 2521 เวียดนามส่งนายฮวง บ๋าว เซิน (Hoang Bao Son)เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยคนแรก

กรกฎาคม พ.ศ.2521 ไทยส่งดร.โกศล สินธวานนท์ไปเป็นเอกอัครราชทูตคนแรกประจำที่ฮานอย

- พ.ศ. 2522 ความสัมพันธ์ไทย- เวียดนาม หยุดชะงักลง (นาน 10 ปี)  เนื่องจากเวียดนามดำเนินนโยบายแทรกแซงการเมืองในกัมพูชาและการสู้รบในกัมพูชาทำให้ไทยได้รับผลกระทบ
โดยตรงจากการที่มีการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพ

- พ.ศ. 2532 - 2536 ความสัมพันธ์เริ่มมีสดใสและมีแลกเปลี่ยนการเยือนครั้งสำคัญและระดับสูง

มกราคม พ.ศ. 2532 พลเอกสิทธิ เศวตศิลา เดินทางไปเวียดนามเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาค และหารือเรื่อง
การวางรากฐานของสันติภาพในภูมิภาค (กันยายน พ.ศ. 2532 เวียดนามประกาศถอนทหารออกจากกัมพูชา)

กันยายน 2534 นายอาสา สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปเยือนเวียดนาม

ตุลาคม 2534 นายหวอ วัน เกียต นายกรัฐมนตรีเวียดนามเดินมามาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก

มกราคม 2535 นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนเวียดนาม

เดือนพฤศจิกายน 2535 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฎราชกุมาร เสด็จฯเยือนเวียดนามอย่างเป็น
ทางการในฐานะผู้แทนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
กุมภาพันธ์ 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราช เสด็จเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ
กุมารี

- พ.ศ. 2543 ยกเว้นวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวของ 2 ประเทศเป็นปีแรก

- พ.ศ.2556 เหงียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเดินทางมาเยือนประเทศไทย
ในการเยือนครั้งนี้ได้มอบเงิน 30,000 ล้านโด่ง (ประมาณ 45 ล้านบาท) ให้สมาคมไทย-เวียดนาม เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานโฮจมินห์ (หรือลุงโฮ) ที่บ้านนาจอกจังหวัดนครพนม โดยรัฐบาลไทยได้บริจาคที่ดินให้จำนวน 5 ไร่

- กรกฎาคม 2558 เหงียน เติ่น สวุง (Nguyen Tan Dung) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เยือนไทยอย่างเป็นทางการ การลงนามความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างไทยกับเวียดนามที่ลงนามโดยกระทรวงแรงงานฯของ
ไทยและเวียดนาม โดยนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศเป็นสักขีพยาน

-19 เมษายน 2559 พิธีเปิดอนุสรณ์สถานลุงโฮ

คลิกอ่าน: 40 ปีสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม : ก้าวสู่ประเด็นแรงงานข้ามชาติ (ตอนที่ 1)

กำลังโหลดความคิดเห็น