โดย สุทธิดา มะลิแก้ว
“พี่จะกินอะไรดีคะ” ลินห์ (นามสมมติ) สาวน้อยหน้าใสวัย 22 ปี พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารแห่งหนึ่งในย่านธุรกิจสำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯถามพร้อมยื่นเมนู เธอมาจากจังหวัดห่าติ๊งห์ (Ha Tinh) ทางภาคเหนือตอนกลางของเวียดนาม ลินห์ พูดภาษาไทยได้ดีพอสมควร เธอบอกว่าเธอทำงานที่นี่ได้ประมาณ 3 ปีกว่าแล้ว ก็เหมือนกับคนอื่นๆที่อยากให้ชีวิตดีขึ้นแต่งานหายากในบ้านเกิดของเธอ โดยเฉพาะความรู้ระดับ ม.3 ของเธอคงมีทางเลือกไม่มากนัก เมื่อมีคนอาสาจะหางานให้ที่เมืองไทย เธอเลยตอบตกลง และโชคก็เข้าข้างเธอที่ได้งานนี้ที่เป็นที่เธอชอบและเป็นงานทำให้เธอมีรายได้ดีพอสมควรที่จะสามารถส่งเงินกลับไปช่วยเหลือครอบครัวได้ ทุกวันนี้เธอทำงานสัปดาห์ละ 6 วันได้หยุดวันอาทิตย์ 1 วัน ในวันทำงานก็ได้กินอาหารกับที่ร้าน เธอได้ค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ คือวันละ 300 บาท แต่เนื่องจากเวลาทำงานของเธอเริ่มตั้งแต่เช้า 8.00 น. ไปจนถึงเที่ยงคืน (เวลาเปิดให้บริการของร้าน 10:30-23.00 น.) นายจ้างเลยจ่ายให้เธอวันละ 600-700 บาท โดยได้รับค่าแรงสัปดาห์ละครั้งก็ประมาณ 4,200 บาท
ไม่ต่างกับลินห์ เหือง (นามสมมติ) ชายหนุ่มวัยใกล้ 30 ปี จากเวียดนามก็เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ 3 ปีกว่าๆแล้วเช่นกัน แต่เหือง มาจากจังหวัดแท็งห์หัว (Thanh Hoa) และทำงานมาแล้วหลายอย่างจากการกรรมกรแบกหาม รับจ้างทั่วไป จนปัจจุบันเขาคือช่างเย็บผ้าและเป็นหัวหน้ากลุ่มช่างเย็บผ้าที่รับช่วงมาจากเถ้าแก่คนไทย เขาพักที่ห้องแถวเล็กๆ 2 ชั้นอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 คน มีเหืองกับภรรยาและเพื่อนๆของเขาอีก 4 คน ที่มาจากจังหวัดเดียวกัน พวกเขาใช้ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย ส่วนชั้นล่างใช้ทำงานคือเย็บเสื้อผ้าโหล ที่จำหน่ายตามตลาดโบ๊เบ๊และประตูน้ำ รายได้ของการเย็บผ้านั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนชิ้นของงาน เช่น เสื้อคอกลมหรือคอวีตกตัวละ 10 บาท กางเกงตัวละ 18-19 บาท และเนื่องจากรายได้คิดตามจำนวนชิ้นงานนี่เอง พวกเขาเลยทำงานกันหนักมากโดยที่แต่ละคนทำงานกันวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยมีรายได้จากการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000-12,000 ต่อเดือน
นี่คือตัวอย่าง ส่วนหนึ่งของชาวเวียดนามแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในทุกวันนี้ ซึ่งอันที่จริงแล้วการมีแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้แรงงานเวียดนามซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในสถานะแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เพียงแต่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเพราะยังมีจำนวนไม่มากเท่ากับแรงงานจากพม่า ลาวและกัมพูชาที่ เข้ามานานและมีจำนวนมากจนทางไทยต้องมีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เจาะจงเฉพาะ 3 ประเทศ แม้ภายหลังจากที่ไทยและเวียดนามเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้วอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2519 ก็ตามแต่ก็ไม่ได้มีปัจจัยที่เอื้อหรือสนับสนุนให้ชาวเวียดนามสามารถเดินทางมาทำงานในประเทศไทยได้สะดวกนัก การปรากฏตัวของแรงงานเวียดนามจึงเป็นจำนวนน้อยอยู่
จนกระทั่งภายหลังจากไทยและเวียดนามได้มีบันทึกความเข้าใจกันในเรื่องความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะหลังจากที่มีการยกเว้นวีซ่าในการเข้าประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีแรกของการยกเว้นวีซ่ามีชาวเวียดนามเดินทางเข้าประเทศไทย 45,485 คน ในขณะที่ไทยเดินทางไปเวียดนามถึง 26,366 คน จากข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศที่สรุปไว้จนถึงในปี พ.ศ. 2555 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเวียดนามจำนวน 225,866คน และมีนักท่องเที่ยวเวียดนามเดินทางมาไทย 617,804 คน การเดินทางและกฎระเบียบที่เอื้อให้การไปมาหาสู่กันสะดวกขึ้นนี้เองที่สร้างโอกาสใหม่แก่คนบางกลุ่มที่เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวแล้วลักลอบทำงาน
แม้อาจยังไม่มีสถิติแน่นอนว่าแรงงานที่เข้ามาในลักษณะของนักท่องเที่ยวที่มีหนังสือเดินทางแล้วลักลอบทำงานมีจำนวนเท่าใด แต่จากรายงาน เรื่อง แรงงานข้ามชาติจากเวียดนาม โดยสราวุธ ไพฑูรพงศ์ เผยแพร่ในเว็บไซด์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557 อ้างตัวเลขประมาณการจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวว่าแรงงานเวียดนามที่ลักลอบทำงานทั่วประเทศอาจจะมีมากถึง 50,000 คน
รัฐบาลไทยและเวียดนามก็รับรู้ปัญหาดังกล่าวและได้พยายามแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดการการจ้างงานชาวเวียดนามอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เริ่มจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับแรงงานที่เข้ามาทำงานอยู่แล้ว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2015 ไทยได้มีมติครม.ผ่อนผันให้ผู้ที่ทำงานก่อนหน้าที่จะมีมติให้มาจดทะเบียนแรงงานในเดือน ธ.ค. 2015 โดยอนุญาตให้ทำงานในไทยเป็นเวลา 1 ปี ในงาน 4 ประเภท คือ ประมง กรรมกร คนทำงานในบ้าน และพนักงานบริการในร้านอาหาร อย่างไรก็ตามความพยายามครั้งนี้ดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พบว่ามีปัญหาว่าคนตกหล่นไปมาก ผู้ที่ไปจดทะเบียนน้อยกว่าความเป็นจริงมาก กล่าวคือมีคนงานก่อสร้าง 411 คน คนงานร้านอาหาร 723 คน และ คนงานรับใช้ในบ้าน 435 คน เท่านั้น
ขณะเดียวกัน รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือกันหาทางแก้ปัญหาแรงงานอย่างยั่งยืน โดยให้ชาวเวียดนามสามารถเข้ามาทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ในช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีเหวียน เติ่น สวุง ( Nguyen Tan Dung) ของเวียดนามได้เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ก็ได้มีการบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน และบันทึกข้อตกลงด้านการจ้างแรงงานลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯของ 2 ประเทศ
นอกจากนั้น ยังได้มีการประเด็นแรงงานชาวเวียดนามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติทั้งระบบในระดับภูมิภาคด้วย โดยในปีที่ผ่านมา( กันยายน 2558) ไทยได้ริเริ่มการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องความร่วมมือด้านแรงงานขึ้น โดยเป็นประชุมร่วมกันของประเทศคือ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม จากเดิมที่การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของไทยนั้นมุ่งเน้นเฉพาะแรงงานที่มีจาก 3 ประเทศคือ กัมพูชา ลาวและพม่า เท่านั้น และในวันที่ 16-18 มิถุนายน ปีนี้ (2559) ก็ได้จัดการประชุมความร่วมมือด้านแรงงานของทั้ง 5 ประเทศที่ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาอีกวาระหนึ่ง
อย่างไรก็ตามในส่วนของ MOU ว่าด้วยการจ้างงานแรงงานเวียดนามนั้น เจ้าหน้าที่การทูตเวียดนามท่านหนึ่งกล่าวว่าได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจไม่สามารถปฏิบัติได้จริงทั้งหมด และไม่สามารถแก้ปัญหาการลักลอบทำงานของชาวเวียดนามในไทยได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากMOU ไทยอนุญาตให้นำเข้าแรงงานเพียง 2 ประเภทคือ ประมงและก่อสร้าง
“กรณีแรงงานก่อสร้างก็พอจะเป็นไปได้ แรงงานเวียดนามมีทักษะในการก่อสร้างมีจำนวนมาก แม้งานก่อสร้างในเวียดนามเอง ก็มีอยู่แต่ค่าแรงที่ไทยอาจจะดึงดูดใจให้แรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานที่ไทยได้ แต่กรณีที่ไทยจะนำเข้าแรงงานประมงนี่คิดว่าอาจจะไม่เป็นจริง เพราะว่าเวียดนามเองก็มีอุตสาหกรรมประมงที่ใหญ่มาก การลงเรือเป็นแรงงานประมงนั้น ค่าแรงที่ไทยและเวียดนามก็คงไม่ต่างกัน ผมคิดว่าหากคนที่เลือกจะทำงานประมงน่าจะเลือกทำงานประมงกับเรือเวียดนามมากกว่าที่จะสมัครมาอยู่ที่ไทย”
นอกจากนั้น เขายังเพิ่มเติมอีกว่า เนื่องจากอาชีพที่แรงงานเวียดนามทำอยู่นั้นอยู่ในภาคบริการและอุตสาหกรรม ถ้าเป็นไปได้ควรที่จะเพิ่มแรงงานใน 2 ประเภทนี้เข้าไปเพื่อแก้ปัญหาการลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย
“เห็นคนเวียดนามมาทำงานแบบผิดกฎหมายก็ไม่สบายใจ ก็ต้องการเห็นเขาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะว่าการที่มีแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานนั้นเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ กล่าวคือ แรงงานมาช่วยพัฒนาทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น ที่สำคัญคนเหล่านี้ตั้งใจที่จะมาทำงานจริงๆเพราะฉะนั้นเวลาเขาทั้งหมดจะทุ่มเทให้กับงานซึ่งเป็นดีต่อนายจ้างไทยและประเทศไทย ในขณะเดียวกันเขาก็มีรายได้กับไปดูแลครอบครัวดีต่อประเทศเวียดนาม และหากเปรียบเทียบกับแรงงานชาติอื่นแล้วเชื่อว่าแรงงาน
เวียดนามจะมีทักษะในการทำงานที่ดีกว่าและเรียนรู้เร็วทั้งเรื่องงานและเรื่องภาษา ดังนั้นเพื่อจะให้เขาสามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมายใน MOU ควรเพิ่มอาชีพแรงงานทำงานบ้าน ภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร และในภาคอุตสาหกรรมเข้าไปด้วย ” เขากล่าว
โปรดอ่านต่อตอนนที่สอง