MGR Online - ตัวแทนเกษตร-แรงงานภาคเหนือ ร่วม 40 ชีวิต เดินทางร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ โดน บ.แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด หลอกซื้อผลผลิตและปิดกิจการ เบี้ยวจ่ายเงิน มูลค่าความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท
วันนี้ (2 พ.ค.) เวลา 10.30 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อมด้วยนายบุญเรือง คำวงศ์ษา ตัวแทนเกษตรกร จ.พะเยา และ นางประไพ พรมพิบาล ตัวแทนพนักงานโรงงาน นำกลุ่มเกษตรกรและพนักงานบริษัท แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด ประมาณ 40 คน เดินทางเข้าร้องขอความเป็นธรรม โดยมีนายบัณฑิต สังขนันท์ ผอ.ส่วนรับเรื่องร้องทุกข์ ดีเอสไอ เป็นตัวแทนรับเรื่องเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อนายประภาส ปิ่นวิเศษ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน หลังมูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้นกว่า 50 ล้านบาท
นายบุญเรืองเปิดเผยว่า กลุ่มตนเป็นเกษตรกร จ.พะเยา ส่งผลผลิต เช่น ข้าวโพดฟักอ่อน ข้าวโพดหวาน มะม่วง และไผ่ตง ให้กับบริษัทแอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งแต่ปี 2554-2556 ซึ่งบริษัทดังกล่าวมียอดเงินค้างจ่ายให้แก่กลุ่มเกษตรกร ทั้งหมด 94 ราย ตกเฉลี่ยรายละประมาณ 3 แสนบาท รวมมูลค่ากว่า 34 ล้านบาท ทั้งนี้ พวกตนทราบว่าทางบริษัท แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด เริ่มประสบปัญหาด้านการเงิน เมื่อปี 2554 แต่ทางบริษัทก็ยังมีการสั่งผลผลิตกับเกษตรกรตามปกติและทางเราคิดว่าจะได้ผลตอบแทนย้อนหลังคืน กระทั่งในปี 2556 ทางบริษัทได้ปิดกิจการลงจึงทำให้กลุ่มเกษตรกร 94 ราย ใน 4 จังหวัดภาคเหนือ คือ จ.พะเยา จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และจ.ลำปาง ได้รับความเสียหายอย่างมาก
นายบุญเรืองเปิดเผยอีกว่า การเดินทางมาในวันนี้กลุ่มเกษตรกรต้องการขอความช่วยเหลือจากดีเอสไอ เนื่องจากบริษัท แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด นำผลผลิตของพวกตนไปขายหมดแล้ว รวมทั้งค่าปุ๋ย ค่าดิน ในการปลูกผลผลิต ก็ไม่ยอมจ่ายเงินให้คืนจนได้รับความเดือนร้อน นอกจากนี้ พวกตนได้นำหลักฐานการทำสัญญาและใบเสร็จการซื้อขายกับทางบริษัทดังกล่าวมาให้แก่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2558 กลุ่มเกษตรและพนักงานของบริษัทได้เคยเดินทางมาร้องเรียนกับทางดีเอสไอแล้ว ซึ่งดีเอสไอได้ส่งเรื่องกลับไปยังจังหวัด เมื่อพวกเราเดินทางไปสอบถามความคืบหน้ากับผู้ว่าราชการจังหวัดกลับไม่ได้รับคำตอบว่าเรื่องดังกล่าวคืบหน้าไปอย่างไรบ้าง
ด้านนางประไพกล่าวว่า บริษัท แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ปิดกิจการเมื่อเดือน ก.ย. 2556 หลังจากนั้นทางพนักงานได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่สามารถติดต่อกับบริษัทได้เลย ซึ่งขณะนี้พนักงานบริษัท ทั้งหมด 178 คน ไม่ได้รับเงินเดือนที่ติดค้างค่าแรงหลังจากปิดกิจการ โดยก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องเพื่อขอความเป็นธรรมตามขั้นตอนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.พะเยา แต่ไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้ มูลค่าความเสียหายในส่วนของแรงงานทั้ง 178 คน ซึ่งได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300-400 บาท เฉลี่ยตามอายุการทำงาน รวมทั้งสิ้นกว่า 19 ล้านบาท
ขณะที่นายบัณฑิตเปิดเผยว่า ทางดีเอสไอจะรับเรื่องดังกล่าวพร้อมเอกสารและหลักฐานที่กลุ่มผู้เสียหายมายื่นเพิ่มเติม เนื่องจากก่อนหน้านี้กลุ่มผู้เสียหายได้เคยเข้ายื่นร้องทุกข์แล้วครั้งหนึ่ง แต่จากการตรวจสอบของดีเอสไอในครั้งที่ผ่านมาทราบว่ากลุ่มผู้เสียหายไปยื่นเรื่องร้องเรียนไว้หลายหน่วยงาน และทางดีเอสไอพบว่าอยู่ในขั้นตอนของการบังคับคดี เราจึงส่งเรื่องไปยังกรบังคับคดีซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชั้นนั้น แต่ในครั้งนี้ทราบว่าในชั้นศาลได้มีการยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น ดีเอสไอจะเร่งดำเนินการพิจารณาข้อมูลทั้งหมด เพื่อยื่นให้อธิบดีดีเอสไอพิจารณาเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของดีเอสไอรับไปดำเนินการต่อไป