รอยเตอร์ - โรงงาน ซึ่งกระจุกตัวกันอยู่ในเขตอุตสาหกรรมทางภาคใต้ของจีนกำลังถูกต้นทุนการผลิต ที่พุ่งสูง และความต้องการซื้อสินค้าที่เอาแน่ไม่ได้ บีบคอ ทำให้โรงงานบางรายต้องงัดกลยุทธ์ใหม่มาใช้ เพื่อรักษากิจการให้รอดด้วยวิธีการว่าจ้างแรงงานรายวัน แทนแรงงานประจำ
เช้าวันหนึ่งท่ามกลางอากาศ อันอบอุ่นในเมืองซือหลิ่ง มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) แรงงานหลายสิบคนมาชุมนุมกันกลางจตุรัส และต่อรองค่าแรงกับตัวแทนจากโรงงาน ซึ่งว่าจ้างผลิตกระเป๋ารายวัน โดยแรงงานเหล่านี้ต้องการค่าแรงประมาณ 20-30 ดอลลาร์ ( ราว 700-1050 บาท)
สภาพเช่นนี้ช่างแตกต่างลิบลับจากภาพในฝันของรัฐบาลปักกิ่ง ที่ต้องการให้จีนเป็นชาติผู้ผลิตสินค้าไฮเทคระดับโลก เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้ปในอนาคต
พวกเจ้าของโรงงานในเมืองผู้ผลิตเครื่องหนังแห่งนี้ และแถบใกล้เคียงกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การจ้างแรงงานรายวันทำให้โรงงานยังคงแข่งขันได้ แม้แรงงานรายวันมีค่าจ้างสูงกว่าแรงงานประจำก็ตาม
ขณะที่พวกแรงงานรายวันเองก็ยอมรับเงื่อนไขการจ้างงานแบบนี้ ซึ่งไม่ถูกกฎหมายเสียทีเดียว เพราะกลัวว่า โรงงาน ที่เสนองานประจำ อาจเบี้ยวไม่จ่ายค่าจ้าง ถ้าไม่มียอดสั่งซื้อสินค้าเข้ามา
“ เราไม่เคยใช้ลูกจ้างชั่วคราว เพราะเวลานั้นต้นทุนด้านค่าแรงยังไม่สูงมากนัก เรามีลูกจ้างประจำของเราเอง” นาย หวง ปี้เหลียง เจ้าของโรงงานผลิตกระดุมในเมืองตงกวนเปิดเผย
“ แต่เพิ่งไม่นาน ที่เราเริ่มจ้างแรงงานชั่วคราวมากขึ้น”
นาย เดวิด เจียงเหมิน ผู้จัดการโรงงานผลิตสเตนเลสในเมือง เจียงเหมิน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันเห็นว่า ยิ่งจ้างลูกจ้างประจำเพิ่ม ความเสี่ยงก็เพิ่มตามมา
ปัจจุบันแรงงานชั่วคราวมีอยู่ดาษดื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมในมณฑลก่วงตง ที่ต้องใช้แรงงาน ที่มีประสบการณ์ อาทิ การผลิตของเล่น เสื้อผ้า กระเป๋า และสเตนเลส
การปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างงานส่งผลให้ฐานอุตสาหกรรมการผลิต ที่ใช้แรงงานสูงบางส่วนในจีน ยังคงอยู่รอดได้ ทั้งที่น่าจะพ่ายแพ้ภูมิภาคอื่นในเอเชีย ที่มีต้นทุนแรงงานถูกกว่าไปแล้ว โดยนาย เบน ซิมเพนดอร์เฟอร์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษา ซิลก์ โรด แอสโซซิเอตส์ ( Silk Road Associates) ระบุว่า นี่เป็นสิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า จีนอาจประสบความสำเร็จและยังคงรักษาฐานการผลิตไว้ได้
นอกจากนั้น การจ้างแรงงานชั่วคราวยังอาจกำลังทำให้ทัศนคติเกี่ยวกับแรงงานของจีนเปลี่ยนแปลงไป ในภาวะที่ทางการกำลังมีการกวาดล้างการจ้างงานแบบไม่แน่นอน โดยมีการประกาศกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นเมื่อปี 2555 เพื่อคุ้มครองลูกจ้างประเภท dispatch workers (เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ที่บริษัทไม่ได้ว่าจ้างโดยตรง แต่รับมาจากบริษัทจัดหางานอีกต่อหนึ่ง และบริษัทใช้คนเหล่านี้ทำงานภายใต้เงื่อนไขในสัญญาที่ทำกับบริษัทจัดหางานนั้น )
เจ้าหน้าที่จีนหลายคนแสดงความวิตกเกี่ยวกับการประกาศกฎระเบียบที่เข้มงวดของรัฐบาล เกี่ยวกับการจ้างงาน รวมทั้งนายโหลว จี้เหว่ย รัฐมนตรีคลัง ที่ออกมาวิจารณ์เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับกฎหมายสัญญาว่าจ้างงาน ที่กำหนดให้บริษัทต้องทำเอกสารสัญญากับผู้รับจ้าง
แม้ไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการจ้างงาน ที่ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างต่อรองราคากันเอง โดยไม่มีการทำเอกสารสัญญา แต่นักวิชาการ บริษัทที่ปรึกษา และเจ้าของโรงงานระบุว่า มีการจ้างงานลักษณะนี้เพิ่มขึ้น มาตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงิน และถูกกระตุ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ผลสำรวจของเลเบอร์ลิงก์ ( Laborlink) ในนครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ พบว่า คนงานในจีนที่ลาออกก่อนทำงานครบหนึ่งปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2559
นาย เหอ ฟาน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไฉซิน อินไซต์ กรุ๊ป ( Caixin Insight Group) ระบุว่า การจ้างงานในการภาคการผลิตของจีนกำลังหดตัวก็จริง แต่มีการโยกย้ายไปสู่การเป็นแรงงานชั่วคราวกันมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากแรงงานรุ่นหนุ่มสาว และแรงงานชั่วคราวอาจเพิ่มจำนวนมากกว่าแรงงานถาวรในที่สุด
เช้าวันนั้นในเมืองซือหลิ่ง ซึ่งได้รับสมญานามว่า เมืองหลวงแห่งกระเป๋าของจีน พวกผู้จัดการโรงงานขับรถกระบะ หรือจักรยานยนต์มาจอดข้างถนน พร้อมกับนำตัวอย่างกระเป๋า ที่บริษัทของตนผลิต มาให้แรงงานชายหญิงกลุ่มนั้นดู และตีราคาค่าแรงกัน
หวัง ปินเกอ หญิง วัย 39 ปี ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
ครั้งหนึ่งเธอเคยเปิดโรงงานเล็ก ๆ ผลิตกระเป๋า ได้กำไรสามารถซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า และสร้างบ้านหลังหนึ่งในมณฑลหูหนันบ้านเกิด แต่ต้องปิดกิจการไปเมื่อ 3 ปีก่อน เพราะไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา
หวังต้องการได้ค่าแรงไม่ต่ำกว่า 27 ดอลลาร์ หรือประมาณ 945 บาท สำหรับการทำงานวันละ 12 ชั่วโมง
หวังไม่มีงานทำมานาน 4 วันแล้ว แต่เธอและคนอื่น ๆ กล่าวว่า ถึงแม้อยากได้งานทำที่มั่นคงกว่านี้ แต่การรับจ้างรายวันและได้เงินสดกลับบ้านไปเลยยังนับว่าปลอดภัยกว่าการเป็นลูกจ้างประจำ แล้วถูกเจ้าของโรงงานเบี้ยวค่าจ้างและปิดกิจการหนีอย่างแน่นอน