เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - บรรดานักวิเคราะห์เตือน หนี้เสียแดนมังกรพุ่งสูงกว่าตัวเลขที่ทางการระบุอย่างน้อยถึง 9 เท่า และยังคงโตวันโตคืน ในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แม้รัฐบาลปักกิ่งเข็นมาตรการหลายระลอกออกมากระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ตาม
นอกจากนั้น การแก้ปัญหาหนี้เสียจะมีความท้าทายยิ่งกว่าวิกฤตหนี้เน่าครั้งสุดท้ายเมื่อปีพ.ศ. 2541 เนื่องจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ( AMCs) ของจีนกลายเป็นบริษัทที่ถูกขับเคลื่อนด้วยตลาดมากกว่าที่แล้วมา
นาย ฟรานซิส เฉิง หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์จีนและฮ่องกงของ ซีแอลเอสเอ (Credit Lyonnais Securities Asia) บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของเอเชียระบุเมื่อวันศุกร์ ( 6 พ.ค. 2559) ว่า บริษัทประเมินสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ( เอ็นพีแอล)ในภาคธนาคารบนแผ่นดินใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 15-19 ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 1.6 จากที่ทางการประเมิน โดยธนาคารพาณิชย์จะต้องระดมเงินจำนวน 6.8 - 10.6 ล้านล้านหยวน ( ประมาณ 34 - 53 ล้านล้านบาท) ซึ่งเท่ากับร้อยละ 10-15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี จึงจะโปะหนี้เสียจำนวนดังกล่าวได้
นอกจากนั้น นายเฉิงระบุว่า หนี้เสียบนแผ่นดินใหญ่ต่อจีดีพีจะทะลุร้อยละ 300 ภายในปีพ.ศ. 2563 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ร้อยละ 200
เขามองว่า สัดส่วนเอ็นพีแอลของทางการที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมากนี้สะท้อนให้เห็นถึงการค้ำประกันรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนตามที่ทราบกันดี และการยินยอมให้มีการยืดเวลาการชำระหนี้ แตกต่างจากบรรทัดฐานของธนาคารชาติตะวันตก ซึ่งมีความเข้มงวดมากกว่า โดยเงินกู้ใด ๆ ก็ตาม ที่ไม่มีการชำระดอกเบี้ยเกิน 90 วัน ถือเป็นหนี้เสีย
ประเด็นสำคัญที่นายเฉิงเป็นห่วงข้อหนึ่งก็คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลปักกิ่งออกมาล่าสุด พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ได้ผลน้อยกว่าที่ตั้งเป้า แถมยังอาจสร้างหนี้เสียใหม่อีกด้วย
“ เราไม่มีความคิด ที่ชัดเจนว่า การปล่อยกู้ก้อนใหม่นี้ เงินกู้จะไปอยู่ที่ไหน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการปล่อยกู้ในระยะยาวแก่บริษัทเสียมาก และไปอยู่ที่โครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน” หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์จีนและฮ่องกงของ ซีแอลเอสเอ แสดงความวิตก ซึ่งเขาเกรงว่า สินเชื่อ ที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะเป็นการเสริมสภาพคล่องเสียมากกว่าการสนองความต้องการใช้สินเชื่อที่แท้จริง
หนีไม่พ้น : สัดส่วนหนี้เสียของจีนพุ่งทะยานปีนี้
นายเฉิงคาดการณ์ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 ของปีพ.ศ. 2559 จะดี หลังจากมีการอัดฉีดสินเชื่ออย่างเต็มที่ในไตรมาสแรก แม้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ ( พีเอ็มไอ) ซึ่งชี้วัดภาวะของอุตสาหกรรมการผลิตประจำเดือนเม.ย. จะชะลอการเติบโตก็ตาม
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ระบุเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาว่า จีนอาจมีสินเชื่อ ซี่งมีความเสี่ยงเป็นหนี้สูญ จำนวนสูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( ราว 45.5 ล้านล้านบาท) เท่ากับร้อยละ 7 ของจีดีพี
เมื่อหนี้สินพอกพูนเพิ่มขึ้น และเกิดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ ทางการจีนจึงมีการดำเนินการ หรือเสนอริเริ่มโครงการใหม่ ๆ เช่น การแปลงหนี้เป็นทุน ( debt-to-equity swap) การแปลงหนี้เป็นตราสารหนี้ (debt-to-bond swap) การแปลงหนี้เสียเป็นหลักทรัพย์ ( NPL securitization) และการขายหนี้เสียให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรับไปจัดการ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า รัฐบาลปักกิ่งไม่สามารถให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการดำเนินโครงการเหล่านี้
เตือนรัฐบาลจีนแผนแปลงหนี้เสียอาจไม่ง่าย
นาย เฉิน หลง นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัยเกฟคัล ดราโกโนมิกส์ (Gavekal Dragonomics) กล่าวว่า นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่า ในที่สุดแล้วรัฐบาลจีนจะเข้ามาแก้ปัญหาหนี้เสียอีกครั้ง เพื่อชำระล้างระบบธนาคาร
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญก็คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ 4 ราย ที่เคยเป็นเป็นผู้นำในการปรับโครงสร้างธนาคาร ในช่วงปีพ.ศ. 2541- 2548 ได้กลายเป็นบริษัทแสวงหากำไรมากกว่าจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของรัฐ และอาจจะไม่ฟื้นฟูบทบาทนำอย่างแต่ก่อน โดยปัจจุบันมี 2 รายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาด
นอกจากนั้น เขายังเคยได้ยินมาว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเหล่านี้ไม่ต้องการเข้ารับซื้อหนี้เสียในขณะนี้ เพราะเห็นว่าราคาจะตกลงอีก
สำหรับหนี้เสียนอกระบบในจีนนั้น นายเฉินระบุว่า หากเทียบกับชาติอื่น ๆ แล้ว ยังคงมีขนาดเล็ก ถึงกระนั้น เขายังคงประเมินให้หนี้เสียรนอกระบบบนแดนมังกรอยู่ที่ 4.6 ล้านล้านหยวน ( ราว 23 ล้านล้านบาท) ซึ่งเท่ากับร้อยละ 4 ของจีดีพีทีเดียว