เอเจนซี--ผู้คุมกฎด้านสื่อแดนมังกรเซนเซอร์หั่นรายการโทรทัศน์ เรียลลิตี้โชว์ ที่นำเด็กๆลูกหลานของเหล่าเซเลบมาออกรายการ สื่อทางการจีนชี้ เรียลลิตี้โชว์ ทำลายพัฒนาการทางจิตใจของเด็ก ด้วย“ชื่อเสียงในชั่วข้ามคืน”
ในเดือนที่แล้ว (มี.ค.2559) คณะบริหารดูแลสื่อ สิ่งพิมพ์ วิทยุ ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ (SAPPRFT)* เพิ่งได้ออกกฎห้ามรายการโชว์ทางโทรทัศน์ นำเสนอเนื้อหาในแนวทาง “เสื่อมโทรม ไร้ศีลธรรม และเนื้อหาที่อาจทำลายสุขภาพอื่นๆ” รวมทั้งการสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า พฤติกรรมชู้รัก เสรีภาพทางเซ็กซ์ รักร่วมเพศ การบิดเบือน การกลับชาติมาเกิดใหม่
แต่ดูเหมือนผู้คุมกฎสื่อจีนยังลืมบางอย่าง... สื่อทางการจีน สำนักข่าวซินหวารายงานว่า SAPPRFT ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ห้ามผู้จัดรายการโทรทัศน์นำลูกหลานคนเด่นคนดังมาออกรายการ โดยเฉพาะรายการเรียลลิตี้โชว์ ให้มีการ “ควบคุมอย่างเข้มงวด”
อนึ่ง เมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว (2558) SAPPRFT ได้ประกาศข้อจำกัดการนำเด็กและเยาวชนมาออกรายการเรียลลิตี้โชว์
สำนักข่าวซินหวา ยังระบุในรายงานข่าวว่ามีประชาชนหลายคนเป็นห่วงการนำเด็กออกรายการโทรทัศน์ อาจส่งผลด้านลบต่อจิตใจและพัฒนาการด้านร่างกายของเด็ก จึงต้องมีการควบคุมรายการเรียลลิตี้โชว์ที่นำเด็กมาออกรายการอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น
“การควบคุมดังกล่าว ไม่เพียงแต่ปรับปรุงคุณภาพรายการโทรทัศน์ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ปล่อยเด็กให้เป็นเด็ก” หวง ลี่ ผู้ทำรายงานบันเทิงรายหนึ่งกล่าว
การเติบโตที่เจ็บปวดภายใต้แสงไฟ
รายงานข่าวของซินหวายังได้ระดมความเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ...
“ในอดีต กลุ่มเซเลปพยายามปกป้องเด็กจากสายตาสาธารณะ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนไปเมื่อเกิดรายการโทรทัศน์อย่างเรียลลิตี้โชว์ ที่บางรายการตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นชีวิตส่วนตัวของกลุ่มเซเลป
“เด็กๆที่ต้อง “โชว์ตัว” ในตอนอายุน้อยๆ อาจส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมเด็ก ผู้จัดรายการโทรทัศน์ได้โกยเงินโกยทองกันมหาศาลกับการหากินกับเด็กๆ” หม่า เสี่ยวเหยียน อาจารย์ประจำคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยครูมณฑลซันตง (Shangdong Normal University) กล่าว
ขณะที่สาธารณชนบางกลุ่มตีตราว่ากลุ่มดาราเด็ก “ซับซ้อน เจ้าอารมณ์ หรือนิสัยเสีย” ก็มีการตั้งคำถามว่า “เป็นความถูกต้องทางจริยธรรมแล้วหรือ ที่จะมาตัดสินเด็กๆขณะที่พวกเขากำลังเติบโตและแสวงหาทางของตัวเอง?”
ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เตือนว่า การนำเด็กมา “เสริมสวย” และแสดงบทบาทหน้ากล้อง จะส่งผลที่ไม่ดีต่อเด็ก
การสร้างดาราเด็กเป็นเรื่องอันตรายมาก โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ผลักดันให้ลูกเป็นดาราดัง มากกว่าเป็นความต้องการจากตัวเด็กเอง นักจิตวิทยาเด็ก โหว หลี่ซย่า กล่าว
ฟ้าผ่าโทรทัศน์หูหนัน “พ่อ พ่อ เราจะไปไหนกัน?” ต้องอำลาจอแก้ว
การเซนเซอร์เด็กออกรายการโทรทัศน์นี้ เหมือนฟ้าผ่าเหล่าสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น ที่กำลังฮิตนำเด็กๆมาออกรายการฯ เรียลลิตี้โชว์ยอดฮิต "พ่อ พ่อ เราจะไปไหนกัน” (爸爸去哪儿) ชื่ออังกฤษ "Where Are We Going, Dad?" ของสถานีโทรทัศน์หูหนัน ก็มีอันต้องลาจอแก้วไป
Where Are We Going, Dad? ของจีนนี้ ดัดแปลงมาจากเรียลลิตี้เกาหลี โดยใช้ชื่อเดียวกัน เป็นเรื่องราวของคุณพ่อคนดังห้าคนพาลูกๆของพวกเขาไปท่องเที่ยวในชนบท ได้รับความนิยมในจีนมาก มีผู้ชมกระฉูดถึงสัปดาห์ละ 75 ล้านคน
สถานีโทรทัศน์หูหนัน ยังต้องทำใจยกเลิกรายการที่วางแผนไว้ว่าจะนำเสนอและฟันกำไรมหาศาลในกลางปีนี้ ได้แก่ ยกเลิกการออกอากาศ "Dad Came Back" และ "My Mom is a Superwoman" ซึ่งเป็นภาคย่อยของรายการเรียลลิตี้โชว์ยอดฮิต โดยจะนำเสนอทางออนไลน์แทน
จากข้อมูลสถิติของ SAPPRFT ระบุว่าในปี 2558 มีรายการบันเทิงที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ มากกว่า 100 รายการ โดยหลายรายการเป็นเรียลลิตี้โชว์ที่นำเด็กมาออกรายการ โกยรายได้จากการโฆษณา 10,000 ล้านหยวน หรือ กว่า 50,000 ล้านบาท
*The State Administration of Press, Publication, Radio, Film and Television ชื่อย่อ SAPPRFT