xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อแพนด้ายักษ์คืนสู่วิถีแห่งป่า พร้อมวิชากังฟู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เกรียงไกร

“เซียงเซียง” (2001 – 2007) แพนด้ายักษ์เพศผู้วัย 5 ปี ซึ่งเป็นแพนด้ายักษ์ตัวแรกของศูนย์ ที่ปล่อยคืนป่า แต่กลับต้องจบชีวิตถูกฆ่าตายด้วยกรงเล็บของแพนด้าป่า หลังจากเซียงเซียง ได้ใช้ชีวิตจริงในป่าเพียง 10 เดือน (ภาพเอเจนซี)
ซั่งไห่เดลี่ - ต้อนรับการกลับมาของกังฟูแพนด้า 3 ที่กำลังฉายทั่วประเทศจีนเวลานี้ อันเป็นตอนที่ โป พระเอกแพนด้าได้พัฒนาพลังฝีมือบรรลุเป็นจอมยุทธระดับเดียวกับอาจารย์ ด้านหนึ่งแพนด้ายักษ์ในศูนย์วิจัยฯ ก็กำลังฝึกเข้มเพื่อกลับคืนสู่ป่า

ชีวิตของโป ก็ไม่แตกต่างจากแพนด้ายักษ์ในศูนย์วิจัยอนุรักษ์ และขยายพันธุ์หลายๆ แห่งในจีน นั่นคือถูกอุปการะโดยมนุษย์ ซึ่งเป็นอีกสายพันธุ์ชีวิตหนึ่ง และเมื่อโตก็ต้องผ่านการฝึกฝนการดำรงชีวิตเอาตัวรอด เพื่อกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติอันเป็นยุทธจักรแท้จริงของตน

ชีวิตจริงของแพนด้ายักษ์ คงไม่มีเรื่องวิชากังฟู แต่ทักษะการเอาตัวรอดให้ได้ในป่าก็คงไม่ง่ายกว่ากันเท่าไหร่

หวง ยั่น เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์และวิจัยแพนด้ายักษ์ กล่าวว่า “เราได้เริ่มคิดถึงการฝึกทักษะการดำรงชีวิต และการต่อสู้ในป่า ซึ่งมีแต่ผู้แข็งแรงที่อยู่รอด โดยมีแพนด้ายักษ์ตัวแรกในศูนย์ฯ ถูกปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติในปี 2006”

การปล่อยคืนป่าครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าเศร้า เมื่อ “เซียงเซียง” (2001 - 2007) แพนด้ายักษ์เพศผู้วัย 5 ปี ซึ่งเป็นแพนด้ายักษ์ตัวแรกของศูนย์ ที่ปล่อยคืนป่า แต่กลับต้องจบชีวิต ตกจากต้นไม้และถูกฆ่าตายด้วยกรงเล็บของแพนด้าป่า หลังจากเซียงเซียง ได้ใช้ชีวิตจริงในป่าเพียง 10 เดือน

“เรารู้ว่าการจะมีชีวิตรอดในป่านั้น ร่างกายที่แข็งแรงยังไม่พอ แต่แพนด้าจะต้องมีสัญชาติญาณสัตว์ป่าจริงๆ อยู่ด้วย เพื่อจะเอาตัวรอดในป่าที่ไม่ได้ใช้กฎมารยาทใดๆ”

บทเรียนจากโศกนาฎกรรมของเซียง เซียง ทำให้แพนด้าตัวต่อๆ ไป ที่จะได้รับการปล่อยเข้าป่า จะต้องถูกเลี้ยงดูในสภาพกึ่งป่า อันมีการต่อสู้ แย่งชิง และใช้ทักษะเอาตัวรอดที่ได้รับการฝึกฝนจนเกิดสัญชาติญาณมาตั้งแต่เกิด

ศูนย์วิจัยแพนด้าฯ ได้เริ่มโครงการฝึกแพนด้าทั้งแม่และลูกเป็นเวลา 2 ปี โดยจะมีแพนด้าในศูนย์ฯ เข้าฝึก 2-3 ตัว ในแต่ละปี

หัว หยาน แพนด้าเพศเมียวัย 2 ปี ได้ผ่านการฝึกในโครงการนี้อย่างเข้มงวดตั้งแต่เกิด และเธออาจจะเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ได้รับการปล่อยคืนสู่ป่าในฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึงนี้

หัว หยาน เติบโตและได้รับการฝึกในศูนย์ฝึกเขตป่าสงวน อันเป็นป่าปิดที่มณฑลเสฉวน ตั้งแต่แรกเกิดเมื่อปี 2013

เจ้าหน้าที่ฯ หวง กล่าวว่า แพนด้าหัวหยาน มีแม่ของตนเองเป็นครูฝึกสอน โดยเริ่มฝึกเดินเมื่อ 3 เดือน หัดปีนป่ายต้นไม้ตอน 6 เดือน และพอ 1 ขวบ แม่ก็พาตระเวนหาอาหารกินเอง

แม่ของหัวหยาน ยังสอนการหลบหนีภัยอันตรายจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นโคลน หรือหินถล่ม ทนฝ่าความหนาวเย็นของพายุฝนและหิมะ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการฝึกต่อสู้กับสัตว์ป่าด้วยกัน

บันไดขั้นแรกของการเป็นกังฟูแพนด้า คือความแข็งแกร่งของร่างกาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ต้องสร้างโรงยิมให้กับหัวหยาน เช่นแคร่ห้างไม้ สำหรับปีนป่าย ซึ่งก็เป็นกิจกรรมโปรดของแพนด้าอยู่แล้ว

“เราต้องปรับความสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามร่างกายที่โตขึ้น และเพิ่มระดับความยากตามทักษะที่พัฒนา โดยเราต้องผลักดันให้หัวหยานเก่งขึ้น เร็วขึ้น และแกร่งขึ้น” หวงกล่าว

สิ่งแรกที่จอมยุทธ์ต้องจำขึ้นใจ คือการเอาตัวรอดเป็นยอดดี และการเรียนรู้หลบเลี่ยงศัตรู บางครั้งก็สำคัญกว่าการเรียนรู้เพื่อต่อสู้

หัวหยาน เรียนรู้มากมายจากแม่ของเธอ ถึงตอนนี้พี่เลี้ยงมนุษย์ก็เริ่มเข้ามาแยกเธอออกจากแม่ เพื่อส่งทดสอบใช้ชีวิตในป่าเพียงลำพัง โดยหัวหยาน จะต้องอยู่ในป่าปิดล้อม ที่เจ้าหน้าที่จะเปิดเสียงคำรามของเสือ และหมีป่า

อู่ ไต้ปู่ ผู้เชี่ยวชาญพฤติกรรมแพนด้า กล่าวว่า หัวหยาน มีปฏิกิริยากับเสียงดังกล่าวทันที และพยายามหาที่หลบซ่อนตัวตามสัญชาติญาณเอาตัวรอด

ขั้นต่อมา แพนด้ายักษ์ที่จะกลับป่า ต้องสัมผัสมนุษย์ให้น้อยที่สุด มนุษย์เข้าใกล้ได้เพียงการตรวจร่างกายตามปกติ ซึ่งผู้ดูแลฯ ยังต้องสวมชุดแพนด้าที่พรางกลิ่นเนื้อตัวมนุษย์ไว้เช่นกัน

“มันเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่คือความจริงที่ว่ามนุษย์คือภัยร้ายของแพนด้า และเราไม่ต้องการให้แพนด้าคุ้นเคยกับมนุษย์มากเกินไป ในทางตรงข้าม เราต้องการให้มันตื่นกลัวและหนีห่างมนุษย์”

หัวหยาน เริ่มใช้ชีวิตร่วมพื้นที่ป่ากับสัตว์ป่าอื่นๆ ได้ อาทิ หมีดำ กับหมูป่า ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้เห็นมูลสดๆ ของแพนด้าป่า ในบริเวณนั้นเช่นกัน

“หัวหยาน ได้ใช้อาณาเขตร่วมกับแพนด้าอื่นๆ ซึ่งปกติแพนด้าจะมีสัมผัสไวในเรื่องอาณาเขตอย่างมาก และหัวหยานก็แข็งแกร่งพอที่จะกลับคืนป่าแล้ว”

ทั่วโลกมีแพนด้าเพาะเลี้ยงในศูนย์ฯ อยู่ราว 400 ตัว และจีนยังมีโครงการฝึกแพนด้าผ่านแม่ของพวกมันและรวมถึงการฝึกในรูปแบบอื่นๆ ทั้งแยกเดี่ยวจากแม่ หรือกระทั่งการปล่อยแม่แพนด้าท้องอ่อนๆ ไปใช้ชีวิตและคลอดลูกตามธรรมชาติด้วย

“เรากำลังพิจารณาวิธีการใหม่ๆ ในการพัฒนาทักษะการเอาตัวรอด การต่อสู้ในสถานการณ์จริง อาทิเช่น จากเดิมที่เคยใช้การจับคู่ ก็มาเป็นปล่อยให้แพนด้าเพศผู้สองตัวแย่งเพศเมียตัวเดียวกันเอง อันเป็นเรื่องที่แพนด้ายักษ์ต้องต่อสู้ด้วยตนเองตามวิถีของป่า” หวงกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น