เอเจนซี - สืบเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาดแมกนิจูด 6.4 ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน เมื่อช่วงเช้ามืดวันเสาร์ (6 ก.พ.) ซึ่งทำให้อาคารที่พักอาศัยพังถล่มสิบหลัง ประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 38 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก
หน่วยกู้ภัยต่างเร่งมือทำงานแข่งกับเวลา ปฏิบัติภารกิจค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิต ซึ่งคาดว่ายังติดค้างอยู่ใต้ซากปรักหักพังในเมืองไถหนัน โดยเฉพาะบริเวณที่อาคารสูง 17 ชั้นเอียงล้มลงมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยเชื่อว่า มีผู้เคราะห์ร้ายกำลังทุกข์ทรมานอีกนับร้อย
วานนี้ (8 ก.พ.) สื่อจีนและสื่อต่างประเทศ รายงานกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการค้นพบ “กระป๋องน้ำมันปรุงอาหารและกระป๋องสี” ฝังตัวอยู่ภายในโครงสร้างอาคารหลังดังกล่าว ซึ่งถือเป็นจุดที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด ก่อให้เกิดคำถามถึงมาตรฐานของการก่อสร้างและความปลอดภัย
ทั้งนี้ อาคารเว่ยกวน จินหลง (WeiGuan Jinlong) ความสูง 17 ชั้น ตั้งอยู่ในเขตหย่งคังของเมืองไถหนัน ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2526 ประกอบด้วยห้องพักราว 200 ยูนิต ปัจจุบันเป็นบ้านของผู้พักอาศัย 256 คน ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการท้องถิ่น
นายสี่ว์ เหวิน-หลง หัวหน้าหน่วยการวางแผนและการก่อสร้างของกระทรวงมหาดไทยของไต้หวันกล่าวว่า อาคารฯ สร้างเสร็จในเดือนพ.ย. 2537 ด้วยฝีมือสองบริษัทก่อสร้างซึ่งปิดตัวไปแล้ว และหนึ่งบริษัทผู้ออกแบบที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ โดยมันไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอันตราย
หลังจากภาพถ่ายซากอาคารฯ ที่ถูกแรงสั่นสะเทือนถอนรากถอนโคนดังโค่นต้นไม้ล้มเผยแพร่ออกไป ชาวเน็ตไต้หวันและชาติอื่นๆ ยังได้อึ้งต่อเนื่อง เมื่อความเสียหายเผยให้เห็นกระป๋องน้ำมันและกระป๋องสีซ่อนอยู่ในเสาหรือพื้นของอาคาร ร้อนถึงเจ้ากระทรวงมหาดไทย นายเฉิน เว่ย-เจิน ต้องประกาศดำเนินการสอบสวนทีมนักพัฒนาอาคารทันที
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนแสดงความเห็นว่า กรณีกระป๋องน้ำมันและกระป๋องสีนั้น ไม่น่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้อาคารพังถล่มลงมา
นายไต้ อวิ๋นฟา วิศวกรด้านโครงสร้างให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอของไต้หวันว่า กระป๋องน้ำมันปรุงอาหารถูกใช้เป็นวัสดุอัดข้างในเสาเพื่อเพิ่มขนาดให้ดูใหญ่ขึ้น โดยพบได้ในอาคารหลายหลัง ที่ก่อสร้างก่อนวันที่ 21 ก.ย. 2542 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวขนาดแมกนิจูด 7.3 และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,400 คน
“ปกติเสาค้ำโครงสร้างอาคารจะถูกหล่อจากคอนกรีตเสริมแรง แต่สถาปนิกอาจคำนึงเรื่องสุนทรียศาสตร์ (aesthetics) ความปลอดภัย และอาจต้องการขยายตัวเสาโดยไม่เพิ่มน้ำหนักจนเกินไป นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเสาของอาคารฯ มีกระป๋องน้ำมันเรียงตัวเป็นชั้นอยู่ใต้ชั้นปูนฉาบ”
“การใช้กระป๋องน้ำมันเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวในงานก่อสร้าง ไม่ถือว่าผิดกฎหมายจนกระทั่งเดือนก.ย. 2542 ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาใช้แบบหล่อคอนกรีตชนิดพอลิสไตรีน (styrofoam) แทน” ไต้กล่าว “แต่ก็เป็นเรื่องแปลกๆ ที่คิดว่ากระป๋องน้ำมันจะช่วยค้ำหรือทดแทนคอนกรีตเสริมแรงได้”
“ยังไงก็ตามการที่อาคารพังถล่มในเหตุแผ่นดินไหว ดูจะเป็นเพราะปัญหาด้านการออกแบบโครงสร้าง และคุณภาพระดับต่ำของงานก่อสร้างมากกว่า”