เจ้าหน้าที่ก็ได้พาคณะผู้สื่อข่าวอาเซียนไปยังเมืองท่าชินโจวในวันที่ 4 ธ.ค. ซึ่งเป็นเขตที่มีการจัดตั้งความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับความร่วมมือจีน-อาเซียน ชินโจวนี้เป็นหนึ่งในเมืองท่าสามแห่งของมณฑลกว่างซีซึ่งมีชายฝั่งทะเลยาวถึง 1,595 กม. โดยอีกสองแห่งคือ ฝางเฉิงกั่ง และเป่ยไห่
สำหรับเมืองท่าชินโจวนี้เป็นที่ตั้งท่าเรือที่จะออกเดินทางสู่เส้นทางสายไหมทางทะเลในยุคโบราณ โดยตั้งอยู่ใจกลางเขตเศรษฐกิจรอบอ่าวตังเกี๋ย (Beibu Gulf Economic Zone) ที่หันหน้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเยื้องกับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุกทางทิศตะวันออก
ก่อนหน้าในเดือนก.ค. 2556 นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงได้เดินทางมาตรวจการณ์ยังเมืองชินโจว และกล่าวย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจรอบอ่าวตังเกี๋ย ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเขตตะวันตกเฉียงใต้ เขตภาคใต้-ตอนกลาง และเขตต่างๆทั่วประเทศจีน
เมื่อมาถึงชินโจว ก็ตรงไปชมนิคมอุตสาหกรรมชินโจว จีน-มาเลเซีย (China-Malaysia Qinzhou Industry Park ชื่อย่อ CMQPI) ซึ่งเป็นโครงการเรือธงของความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างจีนกับมาเลเซีย CMQPI เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี 2012 ประกอบด้วยเขตอุตสาหกรรม การวิจัยและพัฒนา ภาคส่วนการบริการ และเขตที่อยู่อาศัย เป้าหมายของ CMQPI คือสร้างนิคมอุตสาหกรรมตัวอย่างสำหรับความร่วมมือแบบสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (win-win) ระหว่างจีนกับอาเซียน โดยภายในนิคมฯจะประกอบด้วยฐานการผลิตที่ทันสมัย ระเบียงข้อมูล เมืองนิเวศน์ (ECO-CITY) ที่ทันสมัย และเป็นฐานความร่วมมือและโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ
สำหรับการก่อสร้างโครงการทั้งหมด แบ่งเป็นสามเฟส โดยเฟสแรก แล้วเสร็จใน 2015
นช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่จีนยังได้จัดให้คณะผู้สื่อข่าวยังได้ไปชมพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาหนีซิง (Nixing Pottery Museum) และโรงงานผลิตฯ เครื่องปั้นดินเผาหนีซิงแห่งเมืองชินโจว เป็น 1 ใน 4 เครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีน มีประวัติศาสตร์มากกว่า 1,300 ปี และเป็นงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นระดับชาติ
เป้าหมายสุดท้ายของการชมเมืองปากประตูสู่อาเซียนของจีน คือตงซิง ในเมืองท่าฝางเฉิงกั่ง
ด่านตงซิงติดกับอำเภอหม่งก๋าย (Mong Cai) จังหวัดกว่างนิงห์ (Quang Ninh) ของประเทศเวียดนาม โดยมี “แม่น้ำเป่ยหลุน” (Bei Lun River) คั่นเขตแดน นับเป็นด่านขนาดใหญ่ที่สุดของมณฑลกว่างซี ด่านตงซิงนอกจากเป็นด่านสากลระหว่างประเทศ ที่มีธุรกรรมการค้าทั่วไป ยังเป็นเขตการค้าชายแดน (Dong Xing Border Trade Area) ที่มีการผ่อนปรนภาษีด้วย
ชาวจีนและชาวเวียดนามเดินทางติดต่อกันโดยข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุน และเรือข้ามฝาก ด่านตงซิงนับเป็นเส้นทางที่สะดวกในการส่งสินค้าไปยังเวียดนามและกลุ่มประเทศอาเซียน ห่างจากเมืองหนันหนิง 170 กม.
จีนและเวียดนามได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจการค้าชายแดนตงซิง- หม่งก๋าย (Dongxing- Moncay) ปี 2553
เขตการค้าชายแดนตงซิงบูมมากที่สุดในบรรดาการค้าชายแดนในจีน ในแต่ละวันมีประชาชนมากกว่าหมื่นคน นำสินค้าต่างๆมาขายทั้งอาหารทะเล ผลิตภัณฑ์เกษตร และเสื้อผ้า ชาวจีนสามารถซื้อสินค้าเวียดนามในแต่ละวันได้มากถึง 8,000 หยวน โดยที่ไม่ต้องจ่ายภาษี
นอกจากนี้ในปี 2013 ธนาคารประชาชนจีน หรือธนาคารกลางจีน ได้อนุมัติแผนนำร่องสำหรับการชำระค่าสินค้าด้วยสกุลเงินหยวนของเอกชนในเขตชายแดนตงซิง ก่อนหน้าการชำระค่าสินค้าระหว่างสกุลเงินหยวนของจีนและเงินด่งของเวียดนาม ต้องทำธุรกรรมผ่านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสร้างความไม่สะดวกและเกิดความสูญเสียเนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ภายใต้นโยบายใหม่นี้ เจ้าหน้าที่ประจำเขตชายแดน เพียงแต่ออกใบเสร็จสำหรับธุรกรรมชำระเงินค่าสินค้าที่มูลค่าน้อยกว่า 800,000 หยวน
จากข้อมูลสถิติล่าสุดของหน่วยงานศุลกากร การค้าชายแดนกว่างซี ขยายตัว 8.6 เปอร์เซ็นต์ปีต่อปี เท่ากับ 46,000 ล้านหยวน (7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในครึ่งปีแรกของปี 2558 นับเป็นมูลค่าสูงที่สุดของการค้าชายแดนในเมืองต่างๆของประเทศจีน
มาวันนี้ พญามังกรรุดหน้าลงสู่อาเซียนอย่างไม่หยุดหย่อน จัดขบวนพรักพร้อมในบ้าน ปูพรมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตะลุยสร้างเขตความร่วมมือเศรษฐกิจการลงทุนจากย่านเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฝันจะสยายปีกไปทั่วพิภพแล้ว สำหรับรายงานที่เขียนมาสี่ห้าตอน เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานชั้นประถมมูล การตั้งรับและเข้าร่วมความร่วมมือใดๆนั้น ทุกฝ่ายก็ต้องมีข้อมูลเสมอภาคกัน มีความโปร่งใส ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความร่วมมือแบบสมประโยชน์กันทุกฝ่าย.
คลิกอ่าน: พญามังกรฟื้นชีพ “เส้นทางสายไหม” ตอนที่ 1 ดันอวิ๋นหนัน เป็นแกนหมุนเปิดสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้-เอเชียใต้
คลิกอ่าน: พญามังกรฟื้นชีพ “เส้นทางสายไหม” ตอนที่ 2... “บ่อหาน” “ทัพหน้า” ทะลุทะลวงสู่อาเซียน และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21
คลิกอ่าน: พญามังกรฟื้นชีพ “เส้นทางสายไหม” ตอนที่ 3 ... “บ่อหาน” วิ่งสู้ฟัด ดันทางรถไฟสายแพนเอเชีย
คลิกอ่าน: พญามังกรฟื้นชีพ “เส้นทางสายไหม” ตอนที่ 4 กว่างซียกเครื่องฯ รุดหน้าสู่อาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล