เอเจนซี - ผู้นำจีนยอมรับเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจแดนมังกรชะลอตัวหวังพลิกฟื้นสถานการณ์ จากการลงนามข้อตกลงด้านการค้าการลงทุนกว่าหนึ่งร้อยฉบับระหว่างการเยือนอังกฤษ
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีนระบุในการตอบคำถามของผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สด้วยลายลักษณ์อักษรเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมาก่อนไปเยือนสหราชอาณาจักร ว่าบรรดาผู้นำจีนเป็นห่วงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของจีน แต่เขามองปัญหา ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ว่า “เป็นอาการปวดของเด็กที่กำลังโต” และจีนก็กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหา นอกจากนั้น ยังวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก ที่กำลังชะงักงันและส่งผลกระทบต่อทุกชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติกำลังพัฒนา
ประธานาธิบดีสีระบุว่า หนทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ก็คือการเปิดเศรษฐกิจจีนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้บรรดาบริษัทจีนออกไปลงทุนในต่างแดน โดยการเดินทางเยือนอังกฤษเป็นเวลา 4 วัน ระหว่างวันที่ 20-23 ต.ค.นี้ มีวัตถุประสงค์ก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทั้งสองฝ่าย โดยคาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลงนับร้อยฉบับในหลายภาค ทั้งภาคพลังงาน ภาคการผลิตเครื่องบิน ภาคการดูแลสุขภาพ เป็นต้น
รายงานข่าวเมื่อวันพุธ (21 ต.ค.) ระบุ นายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ นายเดวิด คาเมรอน ได้ลงนามข้อตกลงหลายฉบับรวมเป็นมูลค่าถึง 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับผู้แทนจีน ณ บ้านพักนายกรัฐมนตรี ถนนดาวนิ่ง โดยมีข้อตกลงนิวเคลียร์ครั้งประวัติศาสตร์ รวมอยู่ด้วย
นับเป็นครั้งแรกที่จีนเข้ามาจับมือลงทุนครั้งใหญ่ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ชาติของชาติตะวันตก ในข้อตกลงฯระบุ เจเนอรัล นิวเคลียร์ คอร์เปอเรชัน รัฐวิสาหกิจจีน จะเข้าถือหุ้น 1 ใน 3 หรือราว 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฮิงค์ลีย์ พอยต์ ในซัมเมอร์เซ็ต มูลค่า 37,800 ล้านดอลลาร์ ที่เป็นของ EDF จากฝรั่งเศส
นอกจากนี้แล้ว เจเนอรัล นิวเคลียร์ คอร์เปอเรชัน จะเข้าถือหุ้น 1 ใน 3 ของโรงงานนิวเคลียร์ในแบรดเวลล์ ทางตะวันออกของลอนดอน ซึ่งมีแผนก่อสร้างโดยใช้เตาปฏิกรณ์ที่ออกแบบจากจีน และถือหุ้น 1 ใน 5 ของโครงการเตาปฏิกรณ์ที่ออกแบบโดยอารีวา ณ โรงไฟฟ้าไซซ์เวลล์
ด้านผู้เชี่ยวชาญของฟาทอม ( Fathom) บริษัทที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีที่ทำการในกรุงลอนดอนระบุว่า ทางบริษัทเคยเตือนมานานหลายปีแล้วว่า เศรษฐกิจจีนเสี่ยงต่อการตกต่ำอย่างฉับพลัน ( hard landing) โดยตลาดหุ้นจีนเริ่มแกว่งตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ขณะที่บรรยากาศในจีนและโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจแย่งลงอย่างเห็นได้ชัด โดยตอนนี้หลายคนไม่สนใจตัวเลขจีดีพี ที่ทางการจีนประกาศ เนื่องจากมองว่าค่อนข้างจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเสียมากกว่า
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนแถลงในวันจันทร์(19 ต.ค.) อัตราเติบโตเศรษฐกิจ หรือจีดีพีมังกรประจำไตรมาสสาม ขยายตัวร้อยละ 6.9 นับเป็นระดับที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ร้อยละ 6.8 ที่กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ระบุไว้ก่อนหน้า แต่ก็ยังเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับจากปี 2552 นอกจากนี้ ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีในปีหน้า (2559) เท่ากับร้อยละ 6.5
ศาสตราจารย์ มิเชบ ฮ็อกซ์ แห่งสถาบันโซแอส ไชน่า ( SOAS China Instiute) ระบุว่า ประธานาธิบดีสีเยือนอังกฤษด้วยวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยภาคธุรกิจจีนมีความสนใจที่จะไปลงทุนในต่างแดนอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ต้องการส่งออกสินค้าในด้านโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง พลังงาน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่อังกฤษกำลังต้องการ
การเยือนแดนผู้ดีของประธานาธิบดีสีเจ้าหน้าที่ของอังกฤษและจีนต่างป่าวประกาศว่า เป็นการเริ่มต้นยุคทองแห่งความสัมพันธ์ ซึ่งจะทำให้จีนกลายเป็นชาติหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่อันดับสองของอังกฤษภายในเวลา 10 ปี
ชี้ ผู้นำแดนผู้ดีพลิกลิ้นคำมั่นสัญญาป้องปกสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม ความสนิทสนมที่นับวันจะเพิ่มพูนระหว่างรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ได้ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายกลุ่ม ที่มองว่าอังกฤษได้ทิ้งคำมั่นสัญญาในการป้องปกสิทธิมนุษยชน โดยหันไปประจบประแจงรัฐบาลปักกิ่ง
เฟรเซอร์ โฮวี่ ผู้แต่งร่วมหนังสือเรื่อง “ ลัทธิทุนนิยมแดง : รากฐานการเงินอันเปราะบางของการผงาดอย่างผิดธรรมดาของจีน ( Red Capitalism : The Fragile Financial Foundation of China’s Extraordinary Rise) กล่าวหารัฐบาลอังกฤษว่า ยอมหันหลังให้ขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลจีน ที่กำลังเกิดขึ้นบนแดนมังกร ซึ่งโฮวี่ระบุว่า เป็น “การเชลียร์ที่น่าสะอิดสะเอียน”
แต่ประธานาธิบดีสี ยกย่องการตัดสินใจของอังกฤษ ที่ให้เรื่องการค้าและการลงทุนมาก่อนเรื่องที่น่าอึดอัดใจอย่างปัญหาทิเบต และเรื่องสิทธิมนุษย์ ว่าเป็นการเลือกอย่างมีกลยุทธ์และมีวิสัยทัศน์
ด้านนายคาเมรอนโต้ตอบกระแสโจมตีฯ ว่าความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งสำคัญ "ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นระหว่างเรา จะช่วยให้เราสามารถหารืออย่างตรงไปตรงมาในประเด็นอื่นๆมากขึ้น" พร้อมเผยว่าเขาได้หยิบยกประเด็นอุปทานเหล็กจีนล้นตลาดมาหารือ
นักวิจารณ์หลายคนตำหนิคาเมรอนที่หวังเม็ดเงินลงทุนจนยอมก้มหัวให้จีนมากขนาดนี้ อีกทั้งการมาเยือนของสี ยังประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมเหล็กในอังกฤษกำลังย่ำแย่จนต้องปลดพนักงานหลายพันตำแหน่ง ซึ่งสาเหตุสำคัญก็มาจากการนำเข้าเหล็กจีนซึ่งมีราคาถูกกว่า
อังกฤษได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์สิทธิมนุษย์ชน และเป็นที่ทราบกันดีว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงให้การสนับสนุนองค์ทะไล ลามะผู้นำการเมืองและผู้นำจิตวิญญาณทิเบต ขณะที่กลุ่มผู้นำจีนกล่าวหามาตลอดว่า ทะไล ลามะเป็น “บุคคลอันตราย” หนุนพวกลัทธิแบ่งแยกดินแดน ยุแหย่ความรุนแรง
ระหว่างการเยือนลอนดอน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงและภริยา ได้รับพระราชทานเลี้ยงน้ำชาจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ อย่างไรก็ตาม เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และพระชายา ดัชเชสคามิลลา ก็มิได้เสด็จฯไปร่วมงานเลี้ยงรับรองแบบรัฐพิธีที่พระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งในทางการทูตถือว่าเป็นการหักหน้าผู้นำจีนอยู่ในที.