xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำจีนลุยเมืองผู้ดี หวังพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจมังกรชะลอตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง - รอยเตอร์ส
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผู้นำจีนยอมรับเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจแดนมังกรชะลอตัวหวังพลิกฟื้นสถานการณ์ โดยเตรียมลงนามข้อตกลงด้านการค้าการลงทุนกว่าหนึ่งร้อยฉบับระหว่างการเยือนอังกฤษ

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีนระบุในการตอบคำถามของผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สด้วยลายลักษณ์อักษรเมื่อวันเสาร์ ( 17 ต.ค.) ว่า บรรดาผู้นำจีนเป็นห่วงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของจีน แต่เขามองปัญหา ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ว่า “เป็นอาการปวดของเด็กที่กำลังโต” และจีนกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหา นอกจากนั้น ยังวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก ที่กำลังชะงักงันและส่งผลกระทบต่อทุกชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติกำลังพัฒนา

ประธานาธิบดีสีระบุว่า หนทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัวก็คือการเปิดเศรษฐกิจจีนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้บริษัทในจีนออกไปลงทุนในต่างแดน โดยการเดินทางเยือนอังกฤษเป็นเวลา 4 วันตั้งแต่วันอังคาร ( 20 ต.ค.) มีวัตถุประสงค์ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทั้งสองฝ่าย โดยคาดว่า จะมีการลงนามข้อตกลงราว 150 ฉบับในหลายด้าน อาทิ ด้านการดูแลสุขภาพ การผลิตเครื่องบินและพลังงาน

ด้านผู้เชี่ยวชาญของฟาทอม ( Fathom) บริษัทที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีที่ทำการในกรุงลอนดอนระบุว่า ทางบริษัทเคยเตือนมานานหลายปีแล้วว่า เศรษฐกิจจีนเสี่ยงต่อการตกต่ำอย่างฉับพลัน ( hard landing) โดยตลาดหุ้นจีนเริ่มแกว่งตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ขณะที่บรรยากาศในจีนและโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจแย่งลงอย่างเห็นได้ชัด โดยตอนนี้หลายคนไม่สนใจตัวเลขจีดีพี ที่ทางการจีนประกาศ เนื่องจากมองว่า ค่อนข้างจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเสียมากกว่า

ขณะที่ศาสตราจารย์ มิเชบ ฮ็อกซ์ แห่งสถาบันโซแอส ไชน่า ( SOAS China Instiute) ระบุว่า ประธานาธิบดีสีเยือนอังกฤษด้วยวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยภาคธุรกิจจีนมีความสนใจที่จะไปลงทุนในต่างแดนอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ต้องการส่งออกสินค้าในด้านโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง พลังงาน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่อังกฤษกำลังต้องการ

การเยือนแดนผู้ดีของประธานาธิบดีสีเจ้าหน้าที่ของอังกฤษและจีนต่างป่าวประกาศว่า เป็นการเริ่มต้นยุคทองแห่งความสัมพันธ์ ซึ่งจะทำให้จีนกลายเป็นชาติหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของอังกฤษภายในเวลา 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ความสนิทสนม ที่นับวันจะเพิ่มพูนระหว่างรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากบุคคลหลายกลุ่ม ที่มองว่า อังกฤษได้ทิ้งคำมั่นสัญญาในการป้องปกสิทธิมนุษยชน โดยหันไปประจบประแจงรัฐบาลปักกิ่ง

เฟรเซอร์ โฮวี่ ผู้แต่งร่วมหนังสือเรื่อง “ ลัทธิทุนนิยมแดง : รากฐานการเงินอันเปราะบางของการผงาดอย่างผิดธรรมดาของจีน ( Red Capitalism : The Fragile Financial Foundation of China’s Extraordinary Rise) กล่าวหารัฐบาลอังกฤษว่า ยอมหันหลังให้ขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลจีน ที่กำลังเกิดขึ้นบนแดนมังกร ซึ่งโฮวี่ระบุว่า เป็นการเชลียร์ ที่น่าสะอิดสะเอียน

แต่ประธานาธิบดีสี ยกย่องการตัดสินใจของอังกฤษ ที่ให้เรื่องการค้าและการลงทุนมาก่อนเรื่องที่น่าอึดอัดใจอย่างปัญหาทิเบต และเรื่องสิทธิมนุษย์ ว่า เป็นการเลือกอย่างมีกลยุทธ์และมีวิสัยทัศน์


กำลังโหลดความคิดเห็น