xs
xsm
sm
md
lg

สายธารประวัติศาสตร์ ไทย จีน ตอนที่ 1 จีน-อยุธยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2558
“สยามเป็นประเทศเดียวที่คนจีนเคยเป็นกษัตริย์ แต่ก็เป็นประเทศเดียวที่พวกเขาสูญเสียความเป็นจีน” คำกล่าวของสุลักษณ์ ศิวรักษ์

บุคคลที่สุลักษณ์ได้กล่าวอ้างถึงข้างต้นคือ พระยาตาก ผู้มีบิดาเป็นชาวจีน มารดาเป็นชาวไทย และได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งรัชสมัยกรุงธนบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2310 ช่วงยุคพระเจ้าตากสินนั้น เป็น “ศตวรรษแห่งจีน” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างศตวรรษที่ 18 จีนได้เข้ามามีบทบาทพัวพันและอิทธิพลในกิจการการเมืองในรัฐต่างๆย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงระดับขีดสุดอย่างมิเคยปรากฏมาก่อน ปรากฏการณ์กษัตริย์เชื้อสายจีนแห่งสยาม คือพระยาตากนั้น เป็นเครื่องสะท้อนอย่างดีถึงการเข้ามามีบทบาท หยั่งรากลึกในการเมืองของรัฐต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กรณีพระยาตาก หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น ทรงความสำคัญและลึกซึ้งที่สุด ทว่า ก็มิใช่ครั้งแรกที่ชนเชื้อสายจีนได้เข้ามามีบทบาทอำนาจในแวดวงอำนาจการเมืองสูงสุดของสยาม จากบันทึกของพ่อค้าชาวดัชต์ Jeremais van Vliet ระบุเมื่อปี พ.ศ. 2183 ว่าท้าวอู่ทอง ผู้สถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ( พ.ศ.1894-2310) มาจากจีน ในยุคต่อมา กลุ่มเชื้อสายไทย-จีน ก็มีบทบาทในวงการเมืองระดับสูงของไทยจวบจนถึงช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ และมีบทบาทโดดเด่นในแวดวงอุตสาหกรรม ภาคการเงิน และภาคการค้า

บทบาทจีนในประเทศไทยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ลูกจีนเข้ามามีบทบาทอิทธิพลสูงถึงเพียงนี้ในประเทศที่พวกเขาอพยพเข้ามาตั้งรกรากได้อย่างไร ? รัฐ-ชาติทุกวันนี้ที่ประกอบด้วยหลายเชื้อชาตินั้น มิใช่เรื่องธรรมดาเลย...ที่ชนชาติส่วนน้อยจะขึ้นมาครองอำนาจและอิทธิพลสูงเช่นนี้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ข้อความห้าย่อหน้าข้างต้นนี้เป็นเนื้อหาบทเปิดของบทแรกใน A History of The Thai-Chinese โดย Jerrery Sng (เจฟฟรีย์ ซุง) และ Pimpraphai Bisalputra (พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร) ฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งนับเป็นแหล่งข้อมูลประวัติศาสตร์ไทย-จีน ชิ้นล่าสุด ที่เพิ่งเผยแพร่ในปีนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารนับร้อยๆแหล่ง และบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทย-จีน เล่มใหญ่นี้ ซึ่งเป็นคำตอบของคำถามเกี่ยวกับบทบาทคนจีนในไทยข้างต้น

อาจารย์ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ได้มาแนะนำหนังสือ A History of The Thai-Chinese และบรรยายและให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว “มุมจีน” เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ เกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือที่ท่านได้เป็นผู้ร่วมเขียนเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยจีน กว่า 600 ปี จากยุคกรุงศรีอยุธยาถึงยุคหลังสงครามเย็น ที่ท่านได้เขียนบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทย-จีน ดังต่อไปนี้

“จิ้มก้อง” ธรรมเนียมปฏิบัติของชาติเอเชีย มิได้สะท้อนฐานะประเทศราช
การส่งบรรณาการไปถวายแด่พระจักรพรรดิจีนสมัยโบราณ ที่เรียกว่า “จิ้มก้อง” ในช่วงหลังก็มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามว่า การจิ้มก้องนี้ เป็นการสะท้อนฐานะของดินแดนผู้ส่งบรรณาการว่าเป็นเมืองขึ้นหรือเป็นประเทศราช ซึ่งเป็นการมองที่ผิด เนื่องจากการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การส่งของขวัญไปบรรณาการซึ่งกันและกันนั้น เป็นประเพณีเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของประเทศในแถบเอเชียทั้งหมด เป็นการคารวะเจ้าบ้านที่ไปเยี่ยมเยือน

การจิ้มก้องมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา (พ.ศ. 1894-2310) พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเหตุผลในการจิ้มก้อง ประการแรกคือ การสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างกันเพื่อจะได้เข้าไปค้าขายในเมืองจีน ประการที่สอง เป็นการสะท้อนว่า พระมหากษัตริย์ไทยเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ อย่างเช่นจากรัฐบาลจีน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีคู่แข่งทางการเมือง สมัยโบราณที่มีเจ้าครองแคว้นมากมาย ผู้ปกครองแผ่นดินที่ได้รับการยอมรับจากจักรพรรดิจีน ก็จะได้เปรียบในการรับรองอำนาจมากกว่า

เงื่อนไขในความสัมพันธ์ไทย-จีน มีอีกมุมหนึ่งที่สำคัญมากคือ เหตุการณ์บ้านเมืองภายในประเทศจีน และในประเทศไทย ช่วงที่ราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187) กำลังล่มสลายถึงช่วงเปลี่ยนราชวงศ์นั้น มีกลุ่มโจรสลัดมากมาย กลุ่มโจรสลัดใหญ่ เช่น กลุ่มโคซินกะ(Koxinga) คุมเขตชายฝั่งจีนภาคใต้อย่างมั่นคง ช่วงนี้การส่งบรรณาการจากอยุธยาไปยังจีนลดลงไป เพราะเรือถูกปล้นสะดม ทำความสัมพันธ์ไทย-จีนในช่วงนี้ห่างไป

ความสัมพันธ์ไทยจีนในหลายๆช่วง คือความสัมพันธ์การค้าระหว่างรัฐกับเอกชน การจิ้มก้องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ โดยพระมหากษัตริย์หรือองค์ประมุขรัฐเป็นผู้ผูกขาด ไทยเสมือนบริษัทสยาม เพราะฉะนั้น สินค้าที่จะส่งไปเมืองจีน ทางการก็จะประกาศว่าเป็นสินค้าผูกขาด ห้ามต่างชาติซื้อขายกับพ่อค้าเอกชน ต้องซื้อผ่านพระคลังหลวง ผู้ที่บริหารดูแลควบคุมการค้านี้ก็คือ พระยาพระคลังหรือออกยาพระคลังจะเป็นผู้ดูแลว่า จีนต้องการอะไร เช่น ต้องการดีบุก ดีบุกก็จะกลายเป็นสินค้าของหลวง ใครทำดีบุกก็ต้องส่งสินค้ามาเข้าพระคลังหลวงก่อน จากนั้นพระคลังก็แต่งสำเภานำสินค้าไปขายพร้อมกับขบวนส่งบรรณาการ

ส่วนการค้าของเอกชนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง ดังเช่นในยุคจูหยวนจางสถาปนาราชวงศ์หมิง ก็ประกาศห้ามคนจีนออกทะเลไปค้าขาย มีการควบคุมการเดินเรืออย่างเคร่งครัด จีนส่งสาสน์ไปบอกเจ้าเมืองทั่วโลก ให้ส่งบรรณาการมา ขณะที่บรรดาเจ้าเมืองซึ่งรอโอกาสอยู่แล้ว ก็ได้ผูกขาดการค้าอีกทั้งควบคุมราคาสินค้าไปด้วยโดยที่ไม่มีการแข่งขันจากกลุ่มพ่อค้าจีน ทำให้เจ้าครองนครรัฐต่างๆในเอเชียตะออกเฉียงใต้ ร่ำรวยมหาศาล สร้างอาณาจักรใหญ่โต

ต่อมาเมื่อราชวงศ์จีนอ่อนแอ ไม่มีกำลังลาดตระเวนชายฝั่ง นโยบายห้ามการค้าถูกยกเลิกไป เป็นช่วงที่การค้าเอกชนจีน ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าจากกวางตุ้ง (กว่างตง) ฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) ออกไปค้าขายยังต่างประเทศ ดังนั้น คนเชื้อสายจีนในไทยจำนวนมากจึงมาจากแถบจีนใต้นี้ โดยพ่อค้าฮกเกี้ยนโดดเด่นที่สุด ในดินแดนแถบตะวันออกเฉียงใต้จึงมีคนจีนฮกเกี้ยนอาศัยอยู่มากที่สุด

สาเหตุที่ทำให้ฮกเกี้ยนอพยพมายังต่างแดนมากที่สุดนี้ เนื่องจากภูมิศาสตร์พื้นที่ในฮกเกี้ยนซึ่งเป็นมณฑลชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาปลูกชา พื้นที่สำหรับเพาะปลูกทำกินมีน้อยมากเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประชากรมีจำนวนมากกว่า จึงหันมาทำอาชีพเดินเรือทะเล ประมง และเป็นจีนกลุ่มแรกที่เดินทางอพยพมาเป็นจีนโพ้นทะเล

ด้านสถานการณ์ในกวางตุ้ง มีความแร้นแค้นน้อยกว่า ไม่มีพื้นที่ภูเขามากนัก จีนกวางตุ้ง แคะ แต้จิ๋ว จึงเดินทางออกมาทีหลัง

การค้าในยุคต่อมาเป็นการแข่งขันช่วงชิงผลประโยชน์กันระหว่างสองเครือข่าย คือเครือข่ายรัฐและเครือข่ายเอกชน เครือข่ายรัฐในที่นี้ไม่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์หรือรัฐบาลจีน เป็นเครือข่ายของกลุ่มเจ้านครรัฐที่แสวงหาผลประโยชน์เศรษฐกิจให้ดินแดนตัวเอง เมื่อราชวงศ์อ่อนแอ เอกชนก็ออกไปมากขึ้นๆ เกิดการปล้นสะดม ช่วงที่พ่อค้าจีนออกมาค้าขายจำนวนมากเช่นนี้ บรรดาเจ้าครองนครรัฐก็หันค้าขายกับพ่อค้าที่ให้ราคาดีกว่า และเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องส่งทูตบรรณาการไป ส่วนไทยก็ส่งทูตไปเป็นช่วงๆ

ยุคดำเนินนโยบายสองฝ่ายเพื่อประโยชน์การค้า
ปลายราชวงศ์หมิงเข้าสู่ราชวงศ์ชิง ซึ่งเรียกว่า “ช่วงเปลี่ยนราชวงศ์” อำนาจรัฐจากศูนย์กลางในการปกครองชายขอบอ่อนลง สถานการณ์ภายในจีนวุ่นวาย เกิดโจรสลัดใหญ่ อยุธยายังคงดำเนินการค้าผูกขาดโดยราชวงศ์ ควบคู่กับการดำเนินนโยบายสัมพันธ์สองฝ่าย จากรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172-2199) ที่เลือกคบค้ากับทั้งกลุ่มภักดีกับราชวงศ์หมิง และกลุ่มโจรสลัดที่ออกทะเลมาค้าขาย

กระทั่งสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. 2199-2231) ขึ้นครองราชย์ ช่วงนั้นเครือข่ายโจรสลัดโคซินกะ ควบคุมเส้นทางเดินเรือ และส่งสำเภาค้าขายในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึง 20 ลำ อยุธยาส่งบรรณาการไปยังจีน ทำให้สามารถเข้าถึงท่าเรือและตลาดในดินแดนจีนรวมทั้งกวางตุ้งที่ราชสำนักชิงควบคุมอยู่ ขณะเดียวกันการคบหากับกลุ่มโจรสลัด ก็ทำให้สำเภาอยุธยาผ่านเส้นทางเรือที่ถูกควบคุมโดยโจรสลัดอย่างราบรื่น การค้าผูกขาดโดยราชวงศ์สมัยสมเด็จพระนารายณ์เฟื่องฟู ทำรายได้มหาศาล

ช่วงที่ราชวงศ์หมิงเสื่อมอำนาจนั้น อยุธยาไม่ได้ส่งจิ้มก้อง จนกระทั่งผู้ปกครองแมนจูสถาปนาราชวงศ์ชิงในปี (พ.ศ. 2187) สถานการณ์ในจีนยังวุ่นวาย เกิดศึกปราบโคชินกะ กลุ่มโค่นล้มราชวงศ์ ทางราชสำนักชิงประกาศห้ามเอกชนเดินเรือ ต่อมากองทัพแมนจูแห่งราชวงศ์ชิงก็ปราบปรามปฏิปักษ์ได้ราบคาบ

ดังนั้น กว่าที่อยุธยาจะกลับมาส่งจิ้มก้องไปยังจีนอีกครั้ง คือปี ค.ศ. 1652 (พ.ศ. 2195) เป็นเวลาเกือบ 8 ปีที่ไทยไม่ได้ส่งจิ้มก้อง แสดงว่าทางอยุธยาก็ต้องมั่นใจในอำนาจของกษัตริย์จีน ต้องดูสถานการณ์ในจีนก่อน ขณะเดียวกันเราก็ค้าขายกับโคชินกะไปเรื่อยๆ

ในช่วงที่สถานการณ์ในจีนเกิดความวุ่นวาย กษัตริย์ไทยมีความรู้เกี่ยวกับจีนดีมาก พระเจ้าปราสาททองทรงเป็นพ่อค้าที่เก่งกาจ กอปรด้วยรู้ความเป็นไปในจีนดีมาก สมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีการส่งบรรณาการไปยังจีนบ่อยมาก ทำให้ราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ร่ำรวยมาก การค้าเฟื่องฟู

เมื่อจักรพรรดิคังซี (พ.ศ.2205-2265) ขึ้นมาปกครองแผ่นดินจีน ก็สร้างสัมพันธภาพ ใช้คนจีนปกครองคนจีนด้วยกันเอง แต่งตั้งเจ้าครองนครหรืออ่อง และอนุญาตให้พลเมืองจีนออกค้าขายต่างแดน พ่อค้าเอกชนจีนหลั่งไหลออกมาจำนวนมาก

ต่อมาในช่วงสมัยพระเพทราชา (พ.ศ. 2231-2246) ไม่มีการส่งบรรณาการไปยังจีนเลย ตลอดครองราชย์ ในบันทึกระบุว่าไทยไม่ได้ส่งจิ้มก้องในช่วงนี้ รวมเวลานานถึง 24 ปี สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะสำเภาพ่อค้าเอกชนจีนออกมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก ขณะที่การส่งสำเภาออกไป ต้องเสี่ยงเรือล่ม และจะขายได้กำไรหรือไม่ พ่อค้าจีนมาเสนอสินค้าถึงบ้านแล้ว เราสามารถสั่งสินค้าผ่านพ่อค้าจีนได้หมด และราคาก็ถูกกว่า

ช่วงสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ. 2252-2276) และพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.2276-2301) ก็เป็นช่วงความสัมพันธ์การค้าไทย-จีน รุ่งเรืองมาก.
ประวัติศาสตร์ไทย-จีน โดย เจฟฟรี่  ซุง และ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร

กำลังโหลดความคิดเห็น