xs
xsm
sm
md
lg

ถ้ำโบราณมณฑลส่านซีช่วยพยากรณ์ภัยแล้งในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ประตูสู่อดีตกาลอีกบานหนึ่งบนแดนมังกรถูกค้นพบ เมื่อจารึกโบราณภายในถ้ำแถบภาคกลางบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความทุกข์เข็ญอดอยากเมื่อสมัย 5 ศตวรรษก่อน ซึ่ง "ภูเขาร่ำไห้เพราะแล้งหนัก" จนนำไปสู่กลียุค ผู้คนหันมากินเนื้อกันเอง และการล่มสลายของราชวงศ์

ขณะเดียวกันจารึกและการก่อตัวของหินงอกภายในคูหาถ้ำยังช่วยพยากรณ์สภาพภูมิอากาศในอนาคต ที่น่าตกใจ

ในรายงาน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร “ เจอร์นัล ไซเอ็นทิฟิก รีพอร์ตส์ ( Journal Scientific Reports) ของคณะนักวิจัยนานาชาติ นำโดย ดร.ถัน เหลียงเฉิง แห่งสถาบันสิ่งแวดล้อมโลกของสถาบันศึกษาวิทยาศาตร์จีน ได้เล่าถึงจารึกภายในถ้ำต้าอี่ว์ บนเทือกเขาฉินในมณฑลส่านซี

จารึกบรรยายเรื่องราว ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ. 2063 ว่า ชาวบ้านแถบนั้นมักมายังถ่ำต้าอี่ว์บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง ที่แห้งแล้ง เพื่อตักน้ำจากแอ่งภายในถ้ำ และสวดอ้อนวอนขอฝน จารึกเรียงรายอยู่บนเพดานและตามผนังของถ้ำ บางแถวระบุวันเวลาและชื่อไว้อย่างชัดเจน

สำหรับนักวิทยาศาสตร์อย่าวดร.ถันและคณะ ซึ่งศึกษาสภาพภูมิอากาศในสมัยโบราณ เพื่อค้นหาร่องรอย ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน จารึกเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ทรงคุณค่าและแทบหาไม่ได้อีกแล้ว

คณะนักวิจัย ซึ่งทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ ได้พิสูจน์ความจริงเกี่ยวเรื่องที่ผู้คนในอดีตเล่านั้น โดยผลการวิเคราะห์ทางเคมีในการก่อตัวของหินงอกภายในถ้ำได้ยืนยันว่า เกิดภาวะแห้งแล้งขึ้นจริง

จากนั้น คณะนักวิจัยได้จัดทำประวัติขึ้นเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับรายละเอียดสภาพภูมิอากาศของเทือกเขาฉินในช่วง 500 ปี ที่ผ่านมาและยังค้นพบรูปแบบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างสภาพที่แห้งแล้งกับสภาพอากาศมีฝนตกอีกด้วย ซึ่งทำให้สามารถสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อทำนายการเกิดภาวะแห้งแล้งในอนาคตได้อีกด้วย

ผลการทำนายของดร.ถันและคณะระบุว่า ปริมาณน้ำฝนในช่วงระหว่างปีพ.ศ 2525-2585 น่าจะต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา โดยแบบจำลองนี้เคยพยากรณ์แม่นยำมาแล้วเกี่ยวกับการเกิดภัยแล้งครั้งใหญ่ในช่วงปีพ.ศ. 2533-2543

นี่คงไม่ใช่ข่าวดี สำหรับอภิมหาโครงการส่งน้ำใต้-เหนือขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมูลค่า 62,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งตั้งเป้าผันน้ำปีละ 45,000 ล้านลูกบาศก์เมตรจากแม่น้ำแยงซีทางภาคใต้ของจีนมายังที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลืองทางภาคเหนือ ซึ่งแห้งแล้งกันดาร เพราะนอกจากเทือกเขาฉินเป็นแหล่งอาศัยสุดท้ายแห่งหนึ่งสำหรับหมีแพนด้าป่าแล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำตันเจียงโข่วในมณฑลหูเป่ย ซึ่งคอยป้อนน้ำในช่วงกลางน้ำให้แก่โครงการส่งน้ำ ซึ่งมีระยะทางไกลกว่า 1,200 กิโลเมตรอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น