เอเจนซี - ผู้เชี่ยวชาญตะวันตกชี้ หากตัดสินการแก้ปัญหาตลาดการเงินและข่าวเศรษฐกิจเชิงลบทั้งหลายของจีน ก็เป็นที่ชัดเจนว่า คือการจัดการเศรษฐกิจการเมืองในระบอบรัฐบาลนักล่า (Predatory regimes) และเห็นว่าการสะดุดชะงักของเศรษฐกิจจีนไม่เพียงเป็นเรื่องคาดไม่ได้ แต่ยังหลีกเลี่ยงไม่พ้นด้วย
หมินซิน เป่ย ศาสตราจารย์ด้านการบริหารรัฐ จากวิทยาลัยแคลมอนต์ แมกเคนนา และนักวิชาการอาวุโส กองทุนเยอรมันมาร์แชลล์ของสหรัฐอเมริกา กล่าว (วันที่ 7 ก.ย.) ถึงวิกฤติเศรษฐกิจจีน ในเว็บไซต์ asia.nikkei.com ว่า ผู้บริหารฯ และนักลงทุนส่วนใหญ่ อาจจะยุ่งเกินไปที่จะอ่านทฤษฎีคลาสสิกอันเข้มข้น อาทิ "Institutions, Institutional Change and Economic Performance," โดยดักลาส นอร์ธ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ รางวัลโนเบล หรือหนังสือที่เข้าถึงผู้อ่านวงกว้างอย่าง "Why Nations Fail," โดยดารอน แอซมอกลู และเจมส์ โรบินสัน สองนักเศรษฐศาสตร์ ผู้สอนที่สถาบัน Massachusetts Institute of Technology และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดตามลำดับ ข้อมูลเชิงลึกจากนักวิชาการเหล่านี้ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและเศรษฐศาสตร์ คุ้มค่ากับการให้ความสนใจ
หมินซิน เป่ย กล่าวว่าแนวคิดหลักของนักวิชาการเหล่านี้อยู่ที่ ความเป็นรัฐ "นักล่า" ซึ่งเป็นคำวิชาการใช้กล่าวถึงรัฐบาลชนชั้นปกครองผู้แย่งชิง และ "เหยื่อ" ผู้ถูกล่าปล้นในสังคม โดยคุณลักษณะหลักของรัฐบาลผู้ล่า คือการใช้อำนาจทางการเมืองในการสร้างเสริมเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้ตน และกลุ่มชนชั้นปกครองของตนเอง
ผู้เขียนยังระบุว่า ถ้าอำนาจของรัฐบาลมาจากการได้รับความยินยอมให้อำนาจปกครอง และมีการจำกัดโดยกฎหมาย (นิติรัฐ) ชนชั้นปกครองก็ถูกจำกัดช่องทางที่จะฉกชิงประโยชน์จากประชาชน แต่ถ้าผู้ปกครองสามารถวางตัวเองอยู่เหนือกฎหมาย และใช้ความรุนแรงผูกขาดได้ สุดท้ายอำนาจปกครองก็จะกลายเป็นสิ่งที่รัฐใช้ปกป้องของพวกตนเอง เพื่อจะสูบดึงความมั่งคั่งจากสังคม ดังตัวอย่างที่อื้อฉาวในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำประเทศฟิลิปปินส์ และ ผู้นําเผด็จการอย่าง โมบูตู เซเซ เซโก ของซาอีร์ ภายใต้การปกครองที่ต่อมาถูกเรียกว่า 'โจราธิปไตย หรือ ขโมยาธิปไตย (kleptocrats)
'รัฐซึ่งปกครองแบบผู้ล่า' สามารถสูบผลประโยชน์จากสังคมอย่างช้าๆ ด้วยรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นภัยพิบัติ เช่นเดียวกับการปล้นสดมภ์โดยเผด็จการในระยะเวลาสั้น ๆ
ระบอบการปกครองแบบรัฐผู้ล่านี้ ยังมีความซับซ้อน มีการจัดองค์กรการเมือง เป็นเผด็จการพรรคการเมืองที่มีระยะเวลานาน มีกลยุทธ์ที่ลึกซึ้งแยบยลและยั่งยืนในการสกัดสูบความมั่งคั่งแบบค่อยๆ อ้อมๆ จากสังคม แทนการปล้นชิงโดยตรงชนิดเห็นแจ้ง ซึ่งจะก่อความเสียหายกับผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งหมดของสังคมอย่างรุนแรงฉับพลัน
หมินซิน เป่ย กล่าวถึงรูปแบบการขโมยช้าๆ นี้ว่า โดยปกติแล้วพวกเขาจะคิดกฎระเบียบที่ซับซ้อน เพื่อจะจำกัดการเคลื่อนไหวของเงินทุน (ทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระเป็นเรื่องยากที่จะขโมย) ไม่ให้สิทธิครอบครองในทรัพย์สิน (ทรัพย์สินที่ไม่สามารถป้องกันสิทธิจะง่ายต่อการยกเค้า) ควบคุมภาคธนาคาร (ให้อัตราดอกเบี้ยติดลบ และเอาประโยชน์จากการเพิ่มช่องทางสินเชื่อให้กับผู้กู้) รักษารัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ (การถ่ายโอนความมั่งคั่งให้กับผู้ปกครองที่ควบคุมบริษัทเหล่านี้) และผูกขาดภาคเศรษฐกิจสำคัญ (เพื่อเก็บภาษีจากสังคมทางอ้อม)
ผู้เขียนชี้ว่า มุมมองของรัฐที่ล่าเหยื่อนี้ ทำให้เห็นและเข้าใจสาเหตุของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน เมื่อดูที่สถาบันเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนและการดำเนินการฯ จะเห็นระบบคลาสสิกของการที่รัฐโจรกรรมจากสังคม : ไม่ให้การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินส่วนบุคคล การผูกขาดของรัฐในภาคการธนาคารและอุตสาหกรรมที่สำคัญ (เช่นโทรคมนาคม และพลังงาน) รัฐวิสาหกิจขนาดยักษ์ (ครองอย่างน้อยหนึ่งในสามของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) และความไม่โปร่งใสในการจัดงบประมาณรัฐ
ปริศนาข้อหนึ่ง คือวิธีการของระบบการโจรกรรมช้าๆ นี้ สามารถสร้างมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจจีนในช่วง 35 ปีได้อย่างไร คำตอบง่ายๆ คือ มันยังไม่เห็นผลร้ายในระยะสั้น ปัจจัยอื่น ๆ ที่เปิดช่องให้การโจรกรรมช้าๆ ดำเนินการต่อโดยไม่ทำลายเศรษฐกิจได้แก่การจ่ายเงินปันผล สร้างงานให้ประชากรย้ายถิ่น การพัฒนาเมือง-ชนบท โลกาภิวัตน์ และการก้าวหน้าสู่การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ปัจจัยเหล่านี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับสูงมากพอที่จะซ่อนผลเสียหายจากรัฐเผด็จการ
แต่ในขณะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศจีนลดหาย การเปิดเผยข้อมูลความจริงทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยเฉพาะกองหนี้ที่ค้างชำระมหาศาลโดยรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ย่อมผุดให้เห็นได้ว่า การโจรกรรมช้าๆ นี้ ก่อความหายนะไม่น้อยไปกว่าการปล้นชิงอย่างรวดเร็ว
การวิเคราะห์ที่ดูเลวร้ายน่ากลัวของนักวิชาการฯ นี้ ชี้ให้เห็นว่าความท้าทายพื้นฐานสำหรับจีนนั้นเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่เศรษฐกิจ โดยเสนอแนะถึงความจำเป็นต้องปฏิรูป รื้อฟื้นพลวัตทางเศรษฐกิจ ด้วยการจัดการรูปแบบบริหารของรัฐนักล่า และระบบของการโจรกรรมช้าๆ เหล่านี้ แต่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะนั่นหมายถึงการต้องทำลายโครงสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ ในการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน