ASTVผู้จัดการออนไลน์--ชื่อของ “อุยกูร์” ปรากฏหราในพาดหัวข่าวใหญ่ของกลุ่มสื่อไทยในเดือนที่แล้ว เมื่อรัฐบาลไทยได้ส่งตัวผู้หลบหนีเข้าเมืองชนชาติอุยกูร์ 109 คน ให้แก่จีนเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษย์ชน ด้วยความวิตกว่าชาวอุยกูร์จะโดนโทษสาหัสจากจีนซึ่งกำลังติดตามกลุ่มอุยกูร์ที่หลบหนีออกจากจีนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นอกจากนี้กลุ่มมุสลิมในตุรกีก็ออกมาประท้วงกรณีที่ไทยส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน กลับไปเผชิญชะตากรรมกับสิ่งที่กลุ่มปฏิปักษ์ในกรณีฯนี้ชี้ว่า “การปกครองกดขี่” ต่อชนชาติส่วนน้อยแห่งซินเจียง
ในช่วงนั้น รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.วีระชน สุคนธปฎิภาค แถลงในที่ประชุมข่าวในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับกรณีส่งชนชาติอุยกูร์กลับไปยังจีน ว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับไปยังจีนนี้ ถูกจับกุมในไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสืบสวนประเทศต้นทางที่คนเหล่านี้หลบหนีมาเพื่อส่งตัวกลับ โดยยังมีชาวอุยกูร์ 50 คน ที่ไม่ทราบสัญชาติ ยังคงอาศัยในประเทศไทย และราว 170 คน ที่เป็นพลเมืองตุรกี ก็ถูกส่งกลับไปยังตุรกี แม้ทางจีนพยายามล็อบบี้ ก็ตาม
ชื่อ “อุยกูร์” กลับมาปรากฏขึ้นอีกในกลุ่มข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับตัวผู้ลอบวางระเบิดบริเวณรั้วพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯในวันที่ 17 ส.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน เป็นชาวจีน 6 คน โดยเป็นชาวฮ่องกง 2 คน บาดเจ็บมากกว่า 125 คน โดยหนึ่งในข้อสันนิษฐานระบุว่าแรงจูงใจของผู้ลอบวางระเบิดอาจเป็นการแก้แค้นของกลุ่มติดอาวุธชนชาติอุยกูร์ สืบเนื่องจากเหตุที่ไทยส่งชนชาติอุยกูร์ที่หลบหนีเข้าเมืองให้แก่ทางการจีนเมื่อเดือนที่แล้ว และสถานที่เป้าหมายของคนร้าย คือจุดท่องเที่ยวยอดนิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่แห่มาเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก สถิติของการท่องเที่ยวไทยชุดใหม่ล่าสุดระบุตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่มายังไทยเมื่อปีที่แล้ว (2557) สูงถึง 4,610,524 คน และเฉพาะช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.ปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทย เท่ากับ 2 ล้านคนเข้าไปแล้ว คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มในช่วงเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 96
แต่พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่ากลุ่มอุยกูร์เกี่ยวข้องกับการลอบวางระเบิดที่ราชประสงค์ นอกจากนี้ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป้าหมายการโจมตีเป็นคนจีน เพราะผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ นอกจากเป็นชาวจีนแล้ว ก็มีชาติอื่นๆด้วย คนไทยก็มีเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ก็ขอเล่าเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชาติอุยกูร์ในซินเจียงกับรัฐบาลจีน ที่ลามมาถึงกลุ่มเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วย
ชนชาติอุยกูร์เป็นใคร
ชนชาติอุยกูร์ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พูดภาษาเตอร์กิค (Turkic) ถิ่นของชาวอุยกูร์อยู่ในซินเจียง ซึ่งเป็นเขตปกครองตัวเองของจีน ตั้งอยู่ด้านตะวันตกสุดของแผ่นดินใหญ่ โดยมีชายแดนติดกับกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ในอดีตชนชาติอุยกูร์เคยประกาศรัฐ “เตอร์กิสถาน ตะวันออก” ในปี พ.ศ. 2473 และ พ.ศ. 2492แต่ในที่สุดผู้นำคอมมิวนิสต์ก็ได้ประกาศผนวกดินแดนเป็นเขตปกครองตัวเองแห่งหนึ่งของจีน ชนชาติอุยกูร์มีวัฒนธรรมศาสนาวิถีชีวิตแตกต่างจากฮั่นชนชาติส่วนใหญ่ของจีนโดยสิ้นเชิง
หลายปีที่ผ่านมา กรณีความขัดแย้งและเหตุรุนแรงในซินเจียง ตกเป็นข่าวถี่ๆ จากศึกรุนแรงครั้งใหญ่ระหว่างจีนฮั่นกับอุยกูร์ระเบิดขึ้นในปี 2552 ข้อมูลหน่วยงานรัฐระบุจำนวนผู้เสียชีวิต ร่วม 200 คน บาดเจ็บกว่า 1,600 คน ตำรวจจีนได้ติดตามไล่ล่าผู้ก่อเหตุฯ ดำเนินการจับกุมและตัดสินโทษเป็นระลอกๆ โดยมีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตไปถึง 26 คน
ในช่วงนั้นผู้นำจีนเชื่อว่ากลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนในซินเจียง กำลังเคลื่อนไหวอิสรภาพ “เตอร์กีสถาน ตะวันออก” โดยมีหัวหอกคือกลุ่มอิสลามเตอร์กีสถานตะวันออก หรือ ETIM ซึ่งทั้งจีน สหรัฐฯ และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ขึ้นบัญชีดำ ETIM เป็นลัทธิก่อการร้าย
ด้านกลุ่มนักรณรงค์มนุษยชนชี้ปมปัญหาทั้งหมดมาจากการกดขี่ทางวัฒนธรรม ศาสนา มาตรการความมั่นคง และการผลักดันชาวจีนฮั่นหลั่งไหลเข้าไปทำงานในซินเจียง
จีนได้ระดมมาตรการความมั่นคง โดยส่งกองกำลังเข้าคุมเข้มในท้องถิ่น ท่ามกลางไฟศึกขัดแย้ง จีนประกาศโครงการพัฒนาในซินเจียง ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และกำลังเดินหน้าแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาเขตซินเจียงเป็นศูนย์กลางน้ำมัน แก๊ส และถ่านหินใหญ่ระดับชาติ ตัวเลขประมาณการณ์ระบุ ในซินเจียงมีแหล่งสำรองน้ำมันถึง 21,000 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของแหล่งน้ำมันทั้งหมดในจีน นอกจากนี้ยังมีการพบแหล่งสำรองน้ำมันขนาดเขื่องแห่งใหม่ๆ กระทรวงทรัพยากรที่ดินจีนคาดว่าจะสามารถผลิตน้ำมันดิบในซินเจียง 35 ล้านตันในปี 2020 เพิ่มจากปี 2012 เท่ากับ 23 เปอร์เซ็นต์
รัฐบาลกลางยังได้ผลักดันให้ชาวฮั่นจากตอนในของประเทศที่ยากจนเข้าไปทำงานในซินเจียง ในปีที่เกิดศึกปะทะใหญ่ระหว่างฮั่นกับอุยกูร์ปี 2552 นั้น มีข้อมูลระบุว่าการไหลทะลักเข้ามาอย่างไม่ขาดสายของชาวฮั่น ทำให้ซินเจียงเปลี่ยนไป กล่าวคือประชากรเชื้อสายฮั่นมีอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ในปี 2543 ขณะที่เมื่อปี 2492 มีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น จนเกิดความขัดแย้งผลประโยชน์เศรษฐกิจระหว่างจีนฮั่นกับคนท้องถิ่น
ศึกตาต่อตา ฟันต่อฟัน ขยายพื้นที่โจมตีไปยังมณฑลอื่น
ความรุนแรงในซินเจียงทวีร้อนแรงมากขึ้นๆ อีกทั้งได้ขยายสู่พื้นที่อื่นของประเทศจีน กรณีครอบครัวจากซินเจียงขับรถพุ่งชนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จัตุรัสเทียนอันเหมินกลางกรุงปักกิ่ง จากนั้นก็จุดระเบิดจนลุกเป็นไฟ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บ 40 คน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2556
ในปีที่แล้ว (2557) เจ้าหน้าที่กวาดจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล และจับกุมนักวิชาการชื่อดัง Ilham Tohti ในกลางเดือนม.ค. ปีที่แล้ว (2557) ซึ่งต่อมาได้ตั้งข้อหา “ลัทธิแบ่งแยกดินแดน” และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ไม่กี่วันต่อมาก็เกิดศึกรุนแรง คร่าชีวิตประชาชนไป 12 คนในซินเหอ ซินเจียง หนึ่งเดือนต่อมา ในวันที่ 1 มี.ค. ก็เกิดเหตุกลุ่มมือมีดถือมีดไล่แทงคนที่สถานีรถไฟนครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนัน (ยูนนาน) ซึ่งห่างจากซินเจียง มากกว่า 1,600 กิโลเมตร สังหารประชาชนไป 29 คน บาดเจ็บ กว่า 130 คน เจ้าหน้าที่ชี้ว่าเป็นฝีมือกลุ่มลัทธิแบ่งแยกดินแดนจากซินเจียง เมื่อเดือนมี.ค. (2558) จีนได้ประหารชีวิตจำเลย 3 คน ที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีไล่แทงประชาชนที่สถานีรถไฟเมืองคุนหมิง
กลิ่นคาวเลือดที่สถานีรถไฟคุนหมิงไม่ทันจางดี วันที่ 30 เม.ย. เกิดเหตุโจมตีด้วยมีดและระเบิดที่สถานีรถไฟอูรุมชี เมืองเอกของซินเจียง ปลิดชีพไป 1 ราย บาดเจ็บ 79 โดยวันที่เกิดเหตุนี้เป็นวันสุดท้ายที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางเยือนซินเจียง และได้ประกาศมาตรการ “เด็ดขาด” กับกลุ่มลัทธิก่อการร้ายหรือลัทธิแบ่งแยกดินแดน
“เราจะไม่ออมชอมในการใช้มาตรการปราบปรามความรุนแรงและขบวนการก่อการร้าย” สำนักข่าวซินหวาอ้างคำกล่าวของผู้นำสูงสุดแดนมังกร
จากนั้นมา ศึกรุนแรงโต้ตอบกันก็อุบัติเป็นรายเดือน...ขอยกตัวอย่างเหตุรุนแรงใหญ่ๆ
-วันที่ 22 พ.ค. อุบัติเหตุโจมตีระเบิดในตลาดขายผักในอุรุมชี สังเวยชีวิตกันไปอีก 39 คน โดยรวมผู้โจมตี 4 คน ที่ถูกวิสามัญกรรม บาดเจ็บกว่า 90 คน
-วันที่ 16 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ตัดสินโทษผู้กระทำผิดในเหตุที่เชื่อมโยงกับลัทธิก่อการร้ายในซินเจียง ได้แก่ ประหารชีวิตจำเลย 13 คน อีกกว่า 100 คน ถูกตัดสินจำคุก
-วันที่ 28 ก.ค. เกิดศึกโจมตีนองเลือดใหญ่ในยาร์คานด์ (Yarkand) พลเรือน 37 คน และ “ผู้ก่อการร้าย” 59 คน ถูกสังหาร ตำรวจจับกุมผู้ต้องกสงสัยไป 215 คน
-วันที่ 1 ส.ค. ตำรวจในเมืองโฮทัน ยิงวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยเป็นลัทธิก่อการร้าย 9 คน ระหว่างการไล่ล่าฯ
พญามังกรออกข่าวกลุ่มติดอาวุธจากซินเจียงร่วมกับกับ “ไอเอส”
ในเดือนก.ย. ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่สื่อจีนฉบับภาษาอังกฤษ โกลบอล ไทมส์ (Global Times) เปิดเผยว่า กลุ่มติดอาวุธชาวจีนจากซินเจียงได้หลบหนีออกจากประเทศ ไปฝึกฝนการต่อสู้แบบลัทธิก่อการร้าย และยังได้เข้าร่วมกิจกรรมลัทธิก่อการร้ายของกลุ่มนักรบรัฐอิสลามิก (Islamic State /IS) ในซีเรีย และอิรัก รวมทั้งสาขา “IS” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น กลุ่มติดอาวุธที่หลบหนีจากซินเจียงจะเดินทางผ่านย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่จะไปยังเป้าหมายปลายทาง อย่างเช่น อิรัก ซีเรีย และตุรกี
“คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่ไปฝึกฝนเทคนิกลัทธิก่อการร้าย ยังได้ขยายเครือข่ายโดยร่วมมือกับกลุ่มองค์กรลัทธิก่อการร้ายระหว่างประเทศในการโจมตีจริงเพื่อรวบรวมแรงสนับสนุนในการขยายกิจกรรมก่อการร้ายในจีน” ข้อความจากรายงานของโกลบอล ไทมส์ สื่อในเครือหนังสือพิมพ์ประชาชน หรือ พีเพิล เดลี่ กระบอกเสียงพรรคคอมมิวนิสต์จีน
รายงานข่าวของโกลบอล ไทมส์ เผยอีกว่า เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มติดอาวุธจากซินเจียง 4 คน ในอินโดนีเซียเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว ตำรวจอินโดนีเซียยังเผยอีกว่ากำลังไต่สวนชาวต่างชาติสี่คนโดยไม่บอกว่าเป็นใคร โดยสี่คนนี้หลบหนีจากจีนไปยังกัมพูชา จากนั้นก็ไปยังไทยซึ่งพวกเขาได้ทำพาสปอร์ตตุรกีปลอม ก่อนที่จะบินไปอินโดนีเซีย โดยผ่านมาเลเซีย
มาในปี 2558 นี้ สื่อของรัฐจีนก็รายงานข่าวการติดตามกลุ่มอุยกูร์ที่หลบหนีออกจากประเทศ ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทางการจีนเผยว่าตำรวจชายแดนยูนนาน ได้จับกุมอุยกูร์ที่พยายามหลบหนีออกจากประเทศ 553 ราย และยังได้วิสามัญฆาตกรรมกลุ่มติดอาวุธ 4 ราย ที่ตำรวจระบุเชื่อมโยงกับกลุ่มลัทธิก่อการร้าย และมีแผนเข้าร่วมสงครามศาสนา สื่อจีนชี้ว่ารัฐบาลจีนแถลงการณ์ดังกล่าวเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาชาวอุยกูร์ 109 คน ที่หลบหนีเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย