xs
xsm
sm
md
lg

ช็อก! น้ำดื่มจีนปนเปื้อนสารพิษ ชาวมังกรได้รับสารตกค้างอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวจีนราว 87 ล้านคนได้รับฟลูออไรด์เกินขนาด ในขณะที่ประชาชนอีกนับ 600,000 คนได้รับผลกระทบจากสารหนูปนเปื้อน (ภาพรอยเตอร์ส)
ซินหวา - ผลสำรวจชี้ ชาวจีนราว 87 ล้านคน ได้รับฟลูออไรด์เกินขนาด ในขณะที่ประชาชนอีกนับ 600,000 คน ได้รับผลกระทบจากสารหนูปนเปื้อน ยังไม่รวมผู้ได้รับไอโอดีนสูงกว่ามาตรฐานอีกนับ 30 ล้านคน

นิตยสารโอเรียนทัล เอ้าท์ลุค (Oriental Outlook ) ในเครือสำนักข่าวซินหวาฯ เปิดข้อมูลของนาย เกา เหยียนฮุย ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติจีนว่า พบระดับสารตกค้างในน้ำดื่มเกินมาตรฐานในหลายมณฑลทั่วประเทศจีนจากการสำรวจในปลายปี 2556

รายงานระบุว่าทั่วโลกมีปริมาณผู้ได้รับฟลูออไรด์จากน้ำดื่มสูงเกินขนาดราว 200 ล้านคน ซึ่ง 87 ล้านคนเป็นผู้อยู่อาศัยอยู่ใน 1,137 อำเภอ ทั่วประเทศจีน นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีสถานการณ์ฯ ที่เลวร้ายที่สุดในโลก จำนวนคนดังกล่าวมากพอๆกับจำนวนพลเมืองในมณฑลเสฉวนทั้งมณฑล โดยบริเวณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือบริเวณภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑลเหอหนาน

การรับฟลูออไรด์มากเกินขนาดเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น โรคฟันตกกระ (Dental Fluorosis) ซึ่งจะเห็นผิวฟันมีสีขาวขุ่นเหมือนชอล์ก ในรายที่เป็นรุนแรงผิวฟันจะเห็นเป็นสีน้ำตาล เป็นหลุมหรือกะเทาะ ไม่สามารถรักษาให้หายกลับสู่ภาวะปกติได้ หรือสภาวะฟลูออไรด์เป็นพิษต่อกระดูก (Skeletal Fluorosis) ซึ่งส่งผลให้กระดูกเกิดความผิดปกติ ขาโก่ง กระดูกเปราะ มีอาการปวดกระดูก ข้อต่อ ในกรณีที่ร้ายแรงอาจส่งผลจนถึงขั้นพิการได้

นอกจากนี้ยังมีปัญหาสารหนูปนเปื้อนในน้ำดื่ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนราว 600,000 คนในอำเภอต่างๆนับ 131 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งหากร่างกายได้รับสารหนูบ่อยๆ จะเกิดการสะสม และอาจทำให้เป็นมะเร็งได้ในระยะยาว

ในขณะที่สถานการณ์ไอโอดีนในน้ำดื่มที่สูงกว่ามาตรฐานก็กำลังเป็นปัญหาใน 115 อำเภอใน 9 มณฑล ส่งผลกระทบให้พลเมืองราว 30 ล้านคน เสี่ยงต่อการเป็นโรคคอพอก ซึ่งเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในปี 2548 แล้วถือว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการพัฒนาคุณภาพน้ำมักเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐบาลหลายฝ่ายจึงทำให้ยากต่อการบริหารจัดการ โดยหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขไม่สามารถริเริ่มโครงการได้ด้วยตนเอง ในขณะที่กระทรวงทรัพยากรน้ำซึ่งมีหน้าที่ก็ขาดความชำนาญในด้านภูมิศาสตร์

รายงานระบุว่า ปัญหาเหล่านี้ส่วนมากเกิดในบริเวณพื้นที่ยากจน ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นมีเงินทุนไม่พอเพียงที่จะพัฒนาคุณภาพน้ำได้ด้วยตนเอง จึงจำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลส่วนกลาง โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ลงทุนนับหลายหมื่นล้านหยวนหรือราวแสนล้านบาทเพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำดื่มในพื้นที่เหล่านี้ เช่น การที่รัฐบาลได้อุดหนุนงบประมาณราวหนึ่งในสามของโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ มูลค่าหกแสนหยวนหรือราวสามล้านบาทในเมืองเฉียนอัน มณฑลจี๋หลิน

กำลังโหลดความคิดเห็น