xs
xsm
sm
md
lg

เทียบรถไฟความเร็วสูงจีน กับญี่ปุ่น พ.ศ. นี้ที่จีนเชี่ยวชาญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิศวกรและช่างเทคนิครางรถไฟความเร็วสูงจีน กำลังตรวจสอบรางรถไฟความเร็วสูง ที่เชื่อมระหว่างเมืองหลานโจว กับเขตปกครองตนเอง ซินเจียงอุยกูร์ เมื่อปี พ.ศ. 2556 (ภาพจากแฟ้มซินหวา)
เอเจนซี - ผู้เชี่ยวชาญฯ เปรียบเทียบข้อได้เปรียบของรถไฟความเร็วสูงจีน กับรถไฟความเร็วสูงญี่ปุ่น ขณะที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโซ่ อาเบะ พยายามที่จะเดินสายขายรถไฟความเร็วสูงชินคันเซน ระหว่างเยือนประเทศสหรัฐฯ (วันที่ 26 เม.ย.) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยรถไฟ ทว่าในยุคนี้ ญี่ปุ่นคงต้องแข่งขันอย่างหนักเพื่อเอาชนะจีน ซึ่งก็มีส่วนแบ่งในตลาดรถไฟความเร็วสูงสหรัฐฯ ตลอดจนประเทศอื่นๆ เช่นกัน เมื่อเป็นอย่างนี้ ใครกันที่เป็นต่อในด้านนี้กันแน่

จ้าย หว่านหมิง ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ซินหนาน เจียวถง และเป็นสมาชิกสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (China Academy of Sciences หรือ CAS) ให้สัมภาษณ์กับไชน่าเดลี ว่า จีนอาจจะมาทีหลัง ในวิทยาการรถไฟความเร็วสูง แต่เทคโนโลยีบางอย่างในด้านนี้ จีนสามารถพัฒนาได้ล้ำหน้ากว่าหลายๆ ชาติ หนึ่งในนั้น คือเทคโนโลยีการสร้างพื้นผิวราง ซึ่งมีความปราณิต เรียบสะอาดยิ่ง เนื่องจากหากสัมผัสผิวรางที่ผิดเพื้ยนเพียงนิดเดียว ย่อมทำให้รถไฟที่แล่นมาด้วยความเร็วสูงสะดุด เขย่าสะเทือน ไม่สามารถทำความเร็ว และนี่เป็นหนึ่งในหลายๆ ความเป็นเลิศของงานวิศวกรรมรางรถไฟจีน โดยประจักษ์พยานเด่นชัดล่าสุด คือเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ซึ่งผ่านการวิ่งทดสอบทะลุความเร็วสูงที่ 380 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยไม่มีจังหวะสะดุดเลยตลอดสายฯ

ในเทคโนโลยีด้านอื่นๆ นั้น ศาสตราจารย์ จ้าย หว่านหมิง กล่าวว่า ระดับความสะดวกสบายของการโดยสาร ก็เป็นอีกหนึ่งที่รถไฟความเร็วสูงจีนทำได้ดี ด้วยรถไฟฯ ทุกขบวนจะต้องผ่านการทดสอบสุดเข้มงวด ก่อนที่จะผ่านอนุมัติออกให้บริการประชาชน เพื่อรับประกันว่าผู้โดยสารจะได้รับความสบายอย่างที่สุด ในเรื่องนี้ ผู้โดยสารที่เคยนั่งรถไฟความเร็วสูงทั้งของจีน และยุโรป ลงความเห็นว่า รถไฟความเร็วสูงจีนดีกว่า และเมื่อวัดมาตรฐานความปลอดภัย รถไฟความเร็วสูงจีนก็มีผลงานที่ดีเช่นกัน

เหนือสิ่งอื่นใด รถไฟความเร็วสูงจีน เป็นรถไฟไฮเทคที่ราคาถูกที่สุดในโลก เนื่องจากค่าแรงงานในการสร้างรางรถไฟความเร็วสูงของจีนนั้นต่ำกว่าค่าแรงฯ ของชาติอื่นๆ

เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2557) จีนได้เสนอราคาเพื่อรับโครงการรถไฟใต้ดินเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฎว่า บริษัทการรถไฟจีน (China CNR Corporation Limited) เสนอราคาเพียงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับราคาของผู้ผลิตญี่ปุ่น คาวาซากิ (Kawasaki Heavy Industries)

ด้วยราคาเสนอตำกว่ามากมายนี้เอง ที่ผู้ประกอบการญีปุ่น กล่าวหาผู้ผลิตจีนอย่างไม่มีหลักฐานว่า ใช้วิธีการตัดราคาคู่แข่งฯ อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่รถไฟความเร็วสูงของจีนเสนอราคาได้ต่ำกว่านั้น ก็เพราะผลิตได้ในต้นทุนที่ตำกว่า มีค่าแรงงานที่ถูกกว่า ด้วยในการผลิตรางรถไฟความเร็วสูงนี้ จำเป็นต้องใช้คนงานจำนวนมาก ในทุกระดับฝีมือ ตั้งแต่ กรรมกรแรงงาน ไปจนถึงวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ต้นทุนการจ้างคนทำงานเหล่านี้ แพงมากในประเทศญุ่ปุ่นซึ่งอยู่ในยุคสังคมผู้สูงวัย และนี่คือข้อได้เปรียบของจีนในด้านราคา

นอกจากนั้น อีกเหตุผลที่ราคาต่ำเพราะการสร้างรางรถไฟความเร็วสูงของจีน ไม่ได้ต้องการเอากำไรมากมาย

ประสบการณ์และศักยภาพในการสร้างรางรถไฟความเร็วสูงของจีน ถือว่ามีความหลากหลายที่สุด เพราะภูมิศาสตร์ของแผ่นดินใหญ่จีน มีความทุรกันดารทุกรูปแบบให้ผู้สร้างฯ ต้องเผชิญ โดยจีนสามารถสร้างทางรถไฟทุกสภาพภูมิประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ราบสูง พื้นที่เทือกเขาหิมะปกคลุม หรือที่ราบลุ่ม ไปจนถึงทะเลทราย ประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่โหดหิน ปราบเซียนเหล่านี้เอง เป็นความรู้ความชำนาญที่ล้ำค่าของคนงานจีน ซึ่งพิชิตงานยากมาแล้วทุกรูปแบบ อีกทั้งมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในหมู่คนทำงานทุกฝ่าย ตั้งแต่วิศวกร ช่างเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญ และคนงานกรรมกรทั้งหลาย

แน่นอนว่า เทคโนโลยีญี่ปุ่นก็มีส่วนที่ดีกว่า และได้เปรียบอยู่เช่นกัน นายมาซากิ โอกาตะ รองประธานฝ่ายบริหารบริษัท East Japan Railway Company กล่าวว่า เทคโนโลยีรางรถไฟชินคันเซน ของญี่ปุ่นมีระบบความปลอดภัยป้องกันจากความเสี่ยงแผ่นดินไหว และมาตรการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมลพิษทางเสียง ซึ่งข้อได้เปรียบเหล่านี้ แน่นอนว่าญี่ปุ่นยังคงเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของตนได้ว่าไม่มีใครเทียบ แต่ก็คงอีกไม่นาน เพราะจีนก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงข้อด้อยของตนเองอยู่เช่นกัน บริษัทจีนทุ่มงบพัฒนามหาศาลเพื่อสร้างรางที่ไปถึงระดับมาตรฐานทั้งในด้านความปลอดภัย ตลอดจนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และงานสร้างทางรถไฟความเร็วสูง สายชิงไห่-ลาซา ทิเบต ก็ถือเป็นประสบการณ์สูงค่าของจีนในการก้าวขึ้นเป็นผู้สร้างทางรถไฟความเร็วสูงที่ดีที่สุดในโลก

ศาสตราจารย์จ้าย กล่าวว่า ในระยะสั้น รถไฟความเร็วสูงจีนอาจจะยังแข่งขันได้เพียงในด้านราคา แต่ในอนาคต จีนจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในทุกด้านของวิทยาการรถไฟความเร็วสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น