ซินหวาเน็ต—กลุ่มนักวิทยาศาสตร์พบฟอสซิลฟองน้ำทะเล อายุอย่างน้อย 600 ล้านปีในมณฑลกุ้ยโจว โดยนับเป็นสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
เมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) นาย จู เม่าเหยียน แห่งสถาบันหนันจิงธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยา (Nanjing Institute of Geology and Palaeontology) หัวหน้าทีมนักวิจัยฯ ได้แถลงการค้นพบฟองน้ำทะเลอายุราว 600 ล้านปี ที่ชีวนิเวศเวิงอัน ในมณฑลกุ้ยโจวทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อฟองน้ำทะเลนี้ ว่า “ฟองน้ำทะเลถ้วยโบราณแห่งกุ้ยโจว” เนื่องจากรูปทรงคล้ายถ้วย
“การค้นพบนี้ได้ขจัดข้อสงสัยที่ว่า มีสัตว์บนโลกมาตั้งแต่เมื่อ 600 ล้านปีที่แล้ว” จู กล่าว
ทีมวิจัยได้นำฟอสซิลฟองน้ำ มาวิเคราะห์โดยใช้เทคนิกการถ่ายภาพที่ทันสมัย ได้แก่ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน (scanning electron microscope) การถ่ายภาพรังสี ซินโครตรอน (synchrotron X-ray tomography)
ฟอสซิลฟองน้ำซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชิ้นนี้ มีขนาดเท่าเมล็ดข้าว กว้าง 1.2 มิลลิเมตร สูง 1.1 มิลลิเมตร ประกอบด้วยเซลส์นับแสนๆ โครงสร้างโดยรวมประกอบด้วยท่อกลวง 3 ท่อที่อยู่บนฐานเดียวกัน
พื้นผิวภายนอกของฟอสซิล เป็นพื้นราบเอียงลาด สลับด้วยรูเล็กๆคล้ายเซล พินาโคไซท์ (Pinacocytes) บนฟองน้ำสมัยใหม่ ขณะที่พื้นผิวภายในฟอสซิล เต็มไปด้วยรูแบบเดียวกันเรียงตัวเป็นแบบแผน โดยหลายรูมีปลอกคอ คล้ายเซลล์พิเศษของฟองน้ำ (sponge choanocytes) นอกจากนี้ ยังมีระบบท่อให้น้ำไหลเข้า-ออก
“ลักษณะเหล่านี้แสดงว่าสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์นี้คล้ายกันมากกับฟองน้ำสมัยใหม่ และอาจดำรงชีวิตด้วยการกินอาหารแบบกรอง ผ่านระบบท่อน้ำบริเวณพื้นทะเลระดับตื้น” จูกล่าว
ฟองน้ำเป็นสัตว์โบราณที่เก่าแก่ที่สุด มีเซลล์จำเพาะ ไม่มีเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่แท้จริง ฟอสซิลฟองน้ำยุคดึกดำบรรพ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่พบก่อนหน้านี้ มีอายุ 530 ล้านปี ตรงกับช่วงยุคแคมเบรียน (Cambrian period)
ก่อนหน้านี้ มีกลุ่มวิจัยแถลงการค้นพบวัตถุและอ้างว่าเป็นฟอสซิลฟองน้ำก่อนยุคแคมเบรียน รวมทั้งฟอสซิล 700 ล้านปีจากนามิเบีย แต่ทีมวิจัยของจูขอยกการค้นพบในก่อนหน้านี้ออกไป เนื่องจากวัตถุเหล่านั้น ไม่มีลักษณะเชิงโครงสร้างแบบฉบับ (typical structural characteristics) ของฟองน้ำสมัยใหม่
ทั้งนี้ รายงานการศึกษาวิจัยฟอสซิลรูปถ้วยโบราณแห่งกุ้ยโจวนี้ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเฉพาะด้านวิทยาศสตร์ของสหรัฐฯคือ Proceedings of the National Academy of Sciences