เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์- ประธานหม่า ฮว่าเถิง ของเทนเซ็นต์ คงประเพณีเดิมแจกซองอั่งเปาลูกน้องกับมือ แม้กระแสแจก "อั่งเปาออนไลน์" ที่บริษัทฯ เป็นตัวตั้งตัวตีให้บริการ ได้รับความนิยมแค่ไหนก็ตาม
แม้ช่วงตรุษจีนที่เพิ่งผ่านพ้นไป โลกออนไลน์จีนจะมีสงครามขนาดย่อม ระหว่างบริษัทไอทีต่างๆ ที่ขับเคี่ยวแข่งขันกันให้บริการ จ่าย “อั่งเปาออนไลน์” ทว่า หลังพนักงานกลับมาจากหยุดยาวช่วงตรุษจีน โพนี่ หม่า ฮว่าเถิง ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารเท็นเซ็นต์ (Tencent) บริษัทไอทีชื่อดังจากเซินเจิ้น ก็สร้างขวัญและกำลังใจลูกน้อง ด้วยการแจกซองอั่งเปาให้ทุกคนกับมือ
เช้าวานนี้ (26 ก.พ.) ออนไลน์จีน จึงมีกระแสแชร์ภาพน่าประทับใจ เมื่อพนักงานหลายพันคนของเทนเซ็นต์ พากันต่อแถวรอรับอั่งเปาจากประธานบริษัทฯ บริเวณด้านหน้าตึกของเทนเซ็นต์ ในเขตหนานชาน เมืองเซินเจิ้น มณฑลก่วงตง
ส่วนภาพที่แชร์กัน มีทั้งภาพมุมสูงของแถวยาวนับกิโลเมตร ขดเลื้อยไปมารอบตึกฯ ภาพซองแดงที่พนักงานได้รับจากมือของประธานบริษัทฯ รวมทั้งภาพโพนี หม่า ฮว่าเถิง ประธานบริษัทฯ เจ้านายใจดีของพวกเขาที่สวมเสื้อคอปกจีน สีแดง ยืนแจกซองอั่งเปาให้พนักงาน
“ประธานหม่าเกิดในก่วงตง และมันก็เป็นธรรมเนียมก่วงตงที่คนงานจะได้รับซองอั่งเปาจากมือของเจ้านายเอง” พนักงานเทนเซ็นต์ รายหนึ่ง กล่าวกับเซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ ซึ่งนอกเหนือจากประธานบริษัทฯ แล้ว พนักงานระดับหัวหน้า คนอื่นๆ ก็แจกเงินอั่งเปาให้ลูกน้องของตนเองเช่นกัน
“เพื่อนร่วมงานฉัน หลายคน มารอรับอั่งเปาตั้งแต่เช้า คือมันเป็นเหมือนอะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกดีตั้งแต่วันแรกของการทำงาน” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
ว่ากันว่า ในวันดังกล่าว เริ่มแจกซองอั่งเปากันตั้งแต่ 8 โมงเช้า รวมแล้ว คาดกันว่า ประธานหม่า แจกซองอั่งเปาไปกว่า 5,000 ซอง โดยเงินในซองมีมูลค่าตั้งแต่ 10-50 หยวน (ประมาณ 50-500 บาท) ซึ่งถึงแม้ซองแดงของประธานหม่าจะมีมูลค่าเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับอั่งเปาออนไลน์ที่คนนิยมแจกกันช่วงที่ผ่านมา แต่ทว่า พนักงานของเทนเซ็นต์ต่างก็ยินดีที่ได้รับเงินจำนวนเหล่านี้ เพราะประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน
“พวกเราหลายคนต่อแถวรอนานมาก ก็เพื่อได้รับซองจากมือประธานฯ เพราะการจะได้เจอเขาในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และมันก็เป็นเรื่องดีที่ได้ทำแบบนี้ตั้งแต่เริ่มต้นปีใหม่” แหล่งข่าว ระบุ
อนึ่ง วีแชต (WeChat) ไมโครบล็อค จากบริษัทเท็นเซ็นต์ เริ่มให้บริการอั่งเปาออนไลน์มาตั้งแต่ปีก่อน (2557) หลังจากนั้นอีกหลายบริษัทอาทิ ซีน่า (Sina) และ เป่ยตู้ (Baidu) ก็เริ่มทำตาม จนปีนี้เกิดสงครามอั่งเปาออนไลน์ขึ้น สะท้อนให้เห็นค่านิยมใหม่ที่กำลังแพร่หลายในวัฒนธรรมจีน
ข้อมูลจากวีแชต พบว่า ช่วงวันที่ 18-23 ก.พ. วีแชต (WeChat) ให้บริการอั่งเปาออนไลน์ไปมูลค่า 3,270 ล้านหยวน (ประมาณ 16,350 ล้านบาท) และเฉพาะค่ำคืนส่งท้ายปีวันเดียว คนแห่ให้อั่งเปาออนไลน์ผ่านวีแชตไปมากกว่า 1,000 ล้านหยวน (ประมาณ 5,000 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ชาวก่วงตงกับเจ้อเจียง จ่ายอั่งเปาออนไลน์กันมากที่สุด ตามมาด้วยชาวปักกิ่ง เจียงซู และเซี่ยงไฮ้ ตามลำดับ ส่วนจำนวนเงิน อั่งเปาออนไลน์ ที่คนนิยมให้กันมากที่สุด ก็คือ 1 หยวน (ประมาณ 5 บาท) โดยพบว่า มีคนจีนมากถึง 19.5 ล้านคน ที่นิยมให้อั่งเปาออนไลน์จำนวนนี้ เพราะเชื่อกันว่า เลข 1 ถือเป็น “เลขเฮง” ซินหวา รายงาน