เซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์- วัดดังในมหานครนิว ไถเป่ย จัดพิธีบวงสรวง "จู่ซือ" ตามประเพณี ด้วยการบูชายัญ “หมูศักดิ์สิทธิ์” ที่น้ำหนักตัวเกือบหนึ่งตัน ด้านนักรณรงค์สิทธิสัตว์ ชี้เลี้ยงหมูจนอ้วนขนาดนี้แล้วเชือด ถือว่าทารุณสัตว์
วันที่ 6 นับจากวันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอังคาร (24 ก.พ.) เป็นวันคล้ายวันจุติของเทพเจ้าในลัทธิเต๋า "จู่ซือ" วัดชิงสุ่ยจู่ซือในเขตซันซย่า มหานครนิวไถเป่ย จัดพิธีเฉลิมฉลองรำลึกวันจุติของจู่ซือประจำปี โดยการเซ่นไหว้ “หมูศักดิ์สิทธิ์” หรือ "หมูเทพ" ที่ชนะการประกวด
สุกรที่นำมาบูชายัญเทพจู่ซือนี้ เป็นสุกรขนาดใหญ่ที่ถูกสังหารแล้ว ตกแต่งอย่างสวยงาม ชนะการประกวดที่จัดขึ้นในเทศกาลเซ่นไหว้จู่ซือนี้เอง
สุกรที่จะมาเป็น "หมูเทพ" สำหรับเซ่นไหว้จู่ซือนี้ จะถูกขุนให้มีน้ำหนักตัวมากที่สุด ก่อนคืนวันเซ่นไหว้ เจ้าของจะล้มหมูตัวดังกล่าว โกนขนเป็นลวดลาย จากนั้นนำขึ้นรถที่ตกแต่งอย่างสวยงาม เคลื่อนขบวนแห่ "หมูเทพ"ไปยังลานวัดสถานที่จัดพิธีฯ ท่ามกลางเสียงบรรเลงกลองและแตร
สำหรับปีนี้ สุกรตัวที่ได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศ มีขนาดใหญ่ถึง 714 กิโลกรัม
นายหวง ชุนชือ เจ้าหน้าที่วัด กล่าวว่า “หมูเหล่านี้ คือการสักการะเทพจู่ซือ”
อนึ่ง การสักการะเทพเจ้าจู่ซือเป็นความเชื่อที่ศรัทธากันมากในเขตตอนเหนือของไต้หวัน วัดเต๋าราวๆ 20 แห่งทั่วเกาะ จะพากันจัดพิธีกรรมเซ่นหมูแบบนี้ ซึ่งคนที่นับถือจู่ซือบอกว่า ประเพณีนี้เป็นสิ่งที่มีมานานกว่า 200 ปี
หลี่ ข่ายรุ่ย ผู้ใหญ่บ้านในซันซย่า ซึ่งได้ถ้วยรางวัล "หมู้เทพ" ในปีนี้ กล่าวว่า นักรณรงค์สิทธิสัตว์ไม่เข้าใจประเพณีนี้ การจัดเทศกาลนี้ขึ้นมาช่วยดึงคนให้กลับมารวมตัวกัน โดยนายหลี่ ยืนยันว่า สุกรที่เขานำเข้ามาแข่งขันเป็นหมูพันธุ์ยักษ์ และ “เลี้ยงตามปกติ ...ไม่ได้ให้อาหารเกินควร”
ในขณะที่นักรณรงค์สิทธิสัตว์ กล่าวว่าสุกรที่เข้าสประกวดฯนี้ ถูกเลี้ยงแบบในที่แคบๆ และคนเลี้ยงก็จะไล่ตีตามปากและจมูกของหมูเพื่อบังคับให้มันกินอาหารอยู่เรื่อยๆ
“เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการแข่งหมูศักดิ์สิทธิ์” ฉู่ เจิงหง หัวหน้าสมาคมสิ่งแวดล้อมและสัตว์ ไต้หวัน กล่าว
“ชาวบ้านเลี้ยงหมูอย่างไร้ความปราณี บังคับพวกมันให้กินอาหารเพื่อเพิ่มน้ำหนักตัว”
ทั้งนี้ นายฉู ยังระบุอีกว่า แม้จะมีคนมาร่วมเทศกาลฯนับพัน แต่แรงสนับสนุนก็ลดลง เพราะกระแสตื่นตัวเรื่องสิทธิสัตว์ขยายมากขึ้น”
ด้านจัง หยังหวา วัย 46 ปี ผู้มาร่วมงานกล่าวว่า ปัจจุบันเทศกาลเซ่นไหว้จู่ซือได้เสื่อมความนิยมลงแล้ว
“ผมจำได้ว่า สมัยก่อนมีคนนำหมูมาประกวดกัน มากกว่า 10 ตัว ตัวหนักสุดกว่า 1,000 กิโลกรัม แต่ตอนนี้จำนวนหมูที่เข้าประกวดก็ลดลง ผมได้แต่หวังว่า เทศกาลนี้จะไม่สูญหายไป”