ณ ปี ค.ศ. 1274 เมื่อฮ่องเต้ซ่งตู้จง(宋度宗)สวรรคต ราชสำนักซ่งใต้มีรัชทายาทองค์น้อยสามพระองค์ อันได้แก่ องค์ชายเจ้าซื่อ(赵昰)พระชนมายุ 7 พรรษา องค์ชายเจ้าเสี่ยน(赵显)พระชนมายุ 4 พรรษา และองค์ชายเจ้าปิ่ง(赵昺)ซึ่งมีพระชนมายุ 3 พรรษา ถึงแม้ขุนนางส่วนใหญ่ลงความเห็นให้องค์ชายเจ้าซื่อที่มีพระชนมายุมากที่สุดขึ้นครองราชย์ ทว่าไทฮองไทเฮาและเจี่ยซื่อเต้า(贾似道)ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ผู้กุมอำนาจในราชสำนัก ยังคงสนับสนุนให้องค์ชายเจ้าเสี่ยนซึ่งมีศักดิ์เป็นองค์รัชทายาทอันดับหนึ่งให้ได้ขึ้นสืบราชบัลลังก์ อย่างไรก็ตามไม่ว่าตำแหน่งฮ่องเต้จะตกอยู่กับพระองค์ใด ท้ายที่สุดแล้วคนรุ่นหลังต่างรู้จักทั้งสามพระองค์ในนาม “สามฮ่องเต้น้อยแห่งปลายราชวงศ์ซ่งใต้”
ระหว่างที่ราชสำนักซ่งกำลังสั่นคลอน กองทัพมองโกลที่รุกโจมตีดินแดนซ่งมาโดยตลอดก็เข้ายึดเมืองหลินอัน (เมืองหังโจวในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นราชธานีของราชวงศ์ซ่ง ทั้งยังจับกุมฮ่องเต้เจ้าเสี่ยนกลับไปเมืองหลวงของมองโกลอีกด้วย เป็นเหตุทำให้รัชทายาทอีกสองพระองค์ต้องเสด็จหนีออกจากเมืองหลินอัน ต่อมามีการจัดตั้งรัชกาลพลัดถิ่นขึ้นและรอนแรมไปตามหัวเมืองทางใต้ของจีน
ในช่วงเวลา 3 ปีแห่งปลายราชวงศ์ซ่งใต้นี้ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายท่านได้ขึ้นมามีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ บางคนได้รับการยกย่องให้เป็นขุนนางตงฉิน ผู้ยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องราชวงศ์ บางคนถูกประณามว่าเป็นขุนนางกังฉิน ผู้ทรยศแผ่นดินและราชสำนักซ่งเพียงเพื่อรักษาชีวิตของตน
รายละเอียด โปรดติดตามจดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เดือนพฤศจิกายน 2557 : สามฮ่องเต้น้อยแห่งปลายราชวงศ์ซ่งใต้
ลิงค์ ดาวน์โหลดจดหมายข่าวฉบับเต็ม
อ่าน จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา