เอเจนซี—จีนและฮ่องกงสัญญายกเลิกข้อปฏิบัติความลับทางธนาคาร ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการปราบปรามพวกเลี่ยงภาษีและฉ้อฉลทางการเงิน ที่มักซุกบัญชีเงินไว้ในต่างแดน
สืบเนื่องจากการประชุมเวทีโลกด้านความโปร่งใสและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภาษี (Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes) ที่กรุงเบอร์ลิน กลุ่ม 51 ประเทศ ได้ลงนามข้อตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศที่มีส่วนร่วม (Multilateral Competent Authority Agreement) เพื่อยกเลิกข้อปฏิบัติความลับทางธนาคาร (Banking Secrecy) ซึ่งจะเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ภาษีของรัฐแลกเปลี่ยนข้อมูลกันโดยอัตโนมัตินับจากเดือนก.ย.ปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ อีกกว่า 30 ประเทศ สัญญาจะลงนามในปี 2561
สำหรับกลุ่มประเทศที่ลงนามข้อตกลงฯดังกล่าวแล้ว ได้แก่ กลุ่มชาติยุโรป โดยมีกลุ่มที่เคยต่อต้านมาตรการรักษาความลับธนาคาร อย่าง ลิกเตนสไตน์ ร่วมลงนามด้วย ทั้งนี้ ลิกเตนสไตน์ จัดเป็นแดนสวรรค์ของเหล่านักเลี่ยงภาษีที่เที่ยวซุกบัญชีเงินฝากไว้ในต่างประเทศ เช่นเดียวกับ เกาะเคย์แมน และ และหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน
ส่วน สวิตเซอร์แลนด์ แคนนาดา จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง โมนาโค และรัสเซีย ได้สัญญาจะเริ่มข้อตกลงฯในปี 2561
การลงนามมีขึ้นในวันที่ 29 ต.ค. ในการประชุมเวทีโลกด้านความโปร่งใสและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภาษีขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่กรุงเบอร์ลิน โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเยอรมนีนายโวล์ฟกัง ชอยเบลอ เป็นเจ้าภาพฯ เป้าหมายของข้อตกลงฯนี้ระบุไว้ว่าทุกประเทศจะได้รับข้อมูลอย่างเต็มที่เกี่ยวกับการถือครองบัญชีธนาคารในต่างประเทศของพลเมือง
รัฐมนตรีว่าการคลังแห่งอังกฤษ จอร์จ ออสบอร์น กล่าวในพิธีลงนามฯ ว่าการเลี่ยงภาษีเหมือนโรคร้ายที่ระบาดไปทั่วโลก และการลงลงนามในข้อตกลงฯจะช่วยลดแหล่งซุกซ่อนเงินของพวกนักเลี่ยงภาษี
นักเศรษฐศาสตร์ นาย กาเบรียล ซัคแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านการฉ้อฉลทางการเงิน ประมาณว่า มีเงินก้อนมหึมา 7.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ของกลุ่มเลี่ยงภาษีนำมาซุกซ่อนไว้ตามดินแดนที่ได้ชื่อว่าสวรรค์นักเลี่ยงภาษี ทำให้รัฐบาลทั่วโลกสูญเสียรายได้นับ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี
และยังมีดินแดนที่เป็นศูนย์กลางการเงิน ที่เป็น “ปัญหาน่าห่วง” อย่างเช่น ปานามา ซึ่งยังไม่กำหนดตารางเวลาในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และสิงคโปร์ก็ไม่ยอมเข้าร่วมกระบวนการไล่ล่าพวกนักเลี่ยงภาษีนี้
ก่อนที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในปี 2560 กลุ่มธนาคารจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองบัญชีธนาคารที่มีตัวเลขมากกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐในปี 2559
อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆก็สามารถตัดสินเป็นรายกรณีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยอัตโนมัติ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ บอกว่าจะส่งข้อมูลให้กับเฉพาะประเทศที่มีความสำคัญด้านอุตสาหกรรมของประเทศ ดังนั้น การถือครองบัญชีของพลเมืองจากประเทศยากจนก็จะหลุดรอดจากมาตรการไล่บัญชีลับของนักเลี่ยงภาษีไป
นอกจากนี้ มาตรการปราบนักเลี่ยงภาษีนี้ ก็มีช่องโหว่ เนื่องจากพวกเลี่ยงภาษียังมักซุกเงินโดยใช้บริษัทหรือมูลนิธิ เป็นฉากบังหน้า ซึ่งมาตรการข้อตกลงฯดังกล่าว เอื้อมไปไม่ถึง.