xs
xsm
sm
md
lg

ธ.โลก ชี้ ประท้วงฮ่องกง ไม่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร่มหลากสีสันของผู้ชุมนุมประท้วงอ็อกคิวพาย ศูนย์กลางธุรกิจฮ่องกง หรือที่สื่อฯ เรียกขานว่า การปฏิวัติร่ม (ภาพเอเจนซี)
เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ รายงานคำแถลงธนาคารโลก (30 ต.ค.) ว่า การประท้วงปิดศูนย์กลางธุรกิจฮ่องกง ไม่ส่งผลต่อบรรยากาศการทำธุรกิจบนดินแดนแห่งนี้

เวนดี้ เวอร์เนอร์ ผู้จัดการฝ่ายการค้าและศักยภาพการแข่งขันธุรกิจประจำธนาคารโลก กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ การชุมนุมประท้วงของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง ยังไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นในภาพรวมของธุรกิจ

รายงานประจำปี “Doing Business” ยังประเมินการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางว่า ต้องพิจารณาอย่างแยกแยะระหว่างผลกระทบทางการเงินเศรษฐกิจ กับบรรยากาศในภาพรวม

เวอร์เนอร์ ยังกล่าวว่า สำหรับการรณรงค์ประชาธิปไตยที่จะมีผลต่อดัชนีทางธุรกิจนั้น จะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับกฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับใช้ทางธุรกิจ

รายงานฯ ซึ่งพิจารณาดัชนีธุรกิจต่างๆ 10 ดัชนี อาทิ ใบอนุญาตก่อสร้าง การจ่ายภาษี ยังไม่ใช่ตัวชี้วัดเสถียรภาพตลาดฯ หรือความเชื่อมั่นของนักลงทุน

"จากสิ่งที่เราเห็นตอนนี้ ตราบเท่าที่ยังมีความโปร่งใส มีบรรษัทภิบาล และยังสามารถคงกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์กับนักธุรกิจเช่นที่เคยเป็นและยังเป็นอยู่นี้" เวอร์เนอร์ กล่าว

ผลสำรวจล่าสุดยังพบว่า ฮ่องกงติดอันดับสองประเทศที่น่าทำธุรกิจที่สุดในโลก รองจากสิงคโปร์ และตามหลังด้วยประเทศนิวซีแลนด์

รายงานฯ ระบุว่าในปีนี้ได้มีการนำข้อมูลและวิธีการประเมินใหม่มาพิจารณาให้คะแนนด้วย ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงในด้านอันดับสำหรับฮ่องกง ซึ่งเคยอยู่อันดับสามเมื่อปีที่แล้ว

โฆษกรัฐบาลฮ่องกง คนหนึ่งกล่าวถึงรายงานนี้ว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะลดกฎข้อห้าม ยกเลิกระเบียบต่างๆ ที่ไม่ทันสมัยหรือไม่จำเป็นแล้วสำหรับธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและช่วยลดต้นทุนในข้อปฏิบัติทางธุรกิจ เพื่อความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในฮ่องกง

ทั้งนี้รายประจำปี “Doing Business” ซึ่งธนาคารโลกเผยแพร่เมื่อวานนี้ (29 ต.ค.) มุ่งศึกษาวิเคราะห์ว่าประเทศใดที่รัฐมีนโยบายเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจมากที่สุด ซึ่งผลปรากฏว่า 3 ประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคแปซิฟิกมีคะแนนสูงสุด ขณะที่ 10 ประเทศแรกที่เอื้อต่อการลงทุนมากที่สุดตามการวิเคราะห์นี้ ได้แก่ สิงคโปร์, นิวซีแลนด์, ฮ่องกง, เดนมาร์ก, เกาหลีใต้, นอร์เวย์, สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฟินแลนด์ และออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เคยมีชื่อติดอันดับฯ ปีที่แล้วเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น