xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์จีนเฉลย ทำไมพวกนักเขียนชอบสูบบุหรี่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิทยาศาสตร์แดนมังกรไขปริศนาน่าสงสัย ทำไมพวกนักเขียนคนดังตบเท้าร่วมวง “สิงห์อมควัน” กันเป็นจำนวนมาก

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงาน (26 ต.ค.) ผลวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันฟิสิกส์และคณิตศาสตร์นครอู่ฮั่น ภายใต้สังกัดสำนักวิชาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ระบุแม้การสูบบุหรี่จะส่งผลเสียต่อสมองของมนุษย์ โดยเฉพาะบั่นทอนความสามารถในการจัดการและตอบสนองข้อมูล แต่กลับพบบางส่วนที่เกิดผลแตกต่างออกไป

เหล่ย เฮ่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) และเป็นหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า พบพื้นที่สมอง 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกที่ทำหน้าที่จัดการข้อมูลการมองเห็น และอีกส่วนที่ทำหน้าที่กำหนดระดับความสนใจ มีการเชื่อมโยงของเส้นประสาทที่นุ่มนวลมากขึ้นหลังจากสูบบุหรี่

“ตัวข้อมูลถูกส่งผ่านรอบๆ พื้นที่สองแห่งนี้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่”

อนึ่ง นักวิจัยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกิจกรรมของสมองและการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนเลือดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างคนสูบบุหรี่ 31 คน กับคนไม่สูบบุหรี่ 33 คน โดยกลุ่มผู้สูบบุหรี่มีอายุเฉลี่ย 50 ปี สูบมานาน 25 ปี และต้องสูบอย่างน้อย 2 ซองต่อวัน

“ยิ่งพวกเขาสูบบุหรี่มากเท่าไร ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นประสาทของสมองสองส่วน ซึ่งเชื่อว่ามีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการเขียนเชิงสร้างสรรค์นั้น ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย”

อย่างไรก็ดี เหล่ยปฏิเสธจะสนับสนุน “ผลกระทบเชิงบวก” ที่ค้นพบนี้ โดยเผยว่า “จะไม่ตัดสินว่าการสูบบุหรี่จัดช่วยให้เป็นนักเขียนหรือเขียนงานได้ดี การสรุปเช่นนั้นนับว่าผิดพลาดอย่างร้ายแรง”

“สิ่งที่เราพบคือ ข้อเท็จจริงว่าการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางสมอง และบางพื้นที่จำเพาะก็มีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น แต่เราไม่สามารถใช้สิ่งเหล่านี้ไปกระตุ้นผู้คนให้หันมาสูบบุหรี่ เพราะไม่ว่าอย่างไรบุหรี่ก็มีโทษมากกว่าประโยชน์อยู่ดี”

“หากคุณอยากเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ อย่าลองสูบบุหรี่ มันไม่คุ้มค่าพอที่จะเสี่ยง” เหล่ยปิดท้าย

ทั้งนี้ นักเขียนชื่อดังระดับโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างเข้าสมาคมสิงห์อมควันกันเป็นแถว เช่น มั่ว เหยียน (Mo Yan) ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 2555 ก็เคยเจรจาแลกเปลี่ยนต้นฉบับหนังสือนวนิยายขายดีที่เขียนด้วยลายมือของเขากับบุหรี่ยี่ห้อโปรด จำนวน 10 กล่อง

ขณะที่ฝั่งชาติตะวันตก การสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่รู้จักกันดีในหมู่นักเขียนมานานหลายศตวรรษ อาทิ มอลิแยร์ (Moliere) นักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศส ทิ้งประโยคเด็ดไว้ว่า “ใครก็ตามมีชีวิตโดยปราศจากยาสูบ ผู้นั้นมิควรค่าแก่การมีลมหายใจอยู่” หรือออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) นักเขียนชาวไอริช ที่กล่าวว่า “บุหรี่ คือความพึงใจอันสมบูรณ์แบบ”

กำลังโหลดความคิดเห็น