xs
xsm
sm
md
lg

65 ปี จีนใหม่ จากยุค “ไม่สามารถซื้อ” ถึงยุค “ซื้อ ซื้อ ซื้อ” ความเปลี่ยนแปลงที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันที่ 16 พ.ย. 2549 ห้างสรรพสินค้าอิ่นไท่ เมืองหังโจว เปิดกิจกรรมส่งเสริมการขาย “ลดแหลกแจกแถม” เมื่อประตูห้างเปิดตอน 9.00 น. คลื่นผู้คนนับไม่ถ้วนก็กรูทะลักเข้าไปในห้าง (ภาพ เอเจนซี)
ASTVผู้จัดการออนไลน์--กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา วันพุธที่ 1 ต.ค. เป็นวันชาติจีน ครบรอบ 65 ปี จีนผ่านยุคยากจนข้นแค้นก่อนหน้าที่ผู้นำคอมมิวนิสต์ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ต.ค.1949 (2492) จนถึงจีนวันนี้ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก มีกำลังซื้อมหาศาล

ในมุมหนึ่งที่อาจสะท้อนความเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินจากเมื่อราว 65 ปีที่แล้ว ถึงจีนวันนี้ พ.ศ. 2557 คือกำลังซื้อ จากยุค “ไม่สามารถซื้อ” ถึงยุค “ซื้อ ซื้อ ซื้อ" การเจริญเติบโตเศรษฐกิจทำให้ชาวจีนจำนวนมากมั่งคั่ง มีรายงานว่าชาวจีนเป็นนักช้อปสินค้าฟุ่มเฟือยและของแบรนด์เนมรายใหญ่ของโลก โดยมีตัวเลขอ้างอิงว่าในปี 2556 ราวร้อยละ 47 ของสินค้าฟุ่มเฟือยทั่วโลกถูกซื้อโดยชาวจีน

เมื่อสงครามปลดแอกประชาชนจีนพิชิตชัยชนะ จีนก็เข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง จากปี 1953 (2496) รัฐบาลผูกขาดการจัดซื้อและจำหน่ายสินค้า ที่เรียกว่ารวมศูนย์การซื้อการขาย ประชาชนในชุมชนสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์ป้อนสินค้าและจำหน่าย ต้องใช้คูปองซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ภาพเมื่อปี 1986 (2529): CFP

ปี 1958 จีนเข้าสู่ยุคนโยบายก้าวกระโดด มีการจัดตั้งคอมมูน นำคูปองอาหารมารวมกัน กินอาหารร่วมกันจากหม้อใบยักษ์ของคอมมูน แต่ต่อมาชาวจีนต้องทนทุกข์ใน “ยุคอดอยาก” 3 ปี ระบบคอมมูนมีอันล้มเลิกไป ภาพ: ประชาชนในคอมมูนในปักกิ่งกำลังร่วมกินข้าวร่วมกัน ในปี 1958 (2501)

ในความเป็นจริง ระหว่างยุคเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง เกิดภาวะขาดแคลนสินค้า ชีวิตประชาชนแขวนอยู่กับคูปองแลกข้าวปลาอาหารและคูปองน้ำมัน ซึ่งก็มีให้อย่างแทบไม่พอกินพอใช้ ในสภาพเช่นนี้ มี “ตลาดเสรี” ซุกซ่อนอยู่ คนในเขตเมืองใช้ทั้งเงินและคูปองแลกเปลี่ยนสินค้ากับเกษตรกร ภาพ: เขตเซินเจิ้น ปี 1970 (2513) ซึ่งเป็นช่วงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม มี “การวิพากษ์วิจารณ์ไส้กรอก” ผู้ที่กินไส้กรอกจะถูกประณามเป็นชนชั้นนายทุนและจะต้องวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ในยุคนั้นคนเซินเจิ้นมีชีวิตอย่างลำบากยากแค้น และเกิดคลื่นคนหลบหนีไปยังฮ่องกง ภาพ: CFP

วันที่ 25 ธ.ค. 1978 (2521) ผู้คนฝ่าอากาศหนาวยะเยือกที่อุณหภูมิ –30 องศาเซลเซียส ในตอนเช้ามืด ไปเบียดเสียดกันหน้าห้างสรรพสินค้าในเมืองเฮยเหอซื่อ ราว 8 โมง ประตูใหญ่แง้มเปิดออกเล็กน้อย ผู้คนก็ชิงแย่งกันเข้าไป ภาพ: CFP

เดือน ธ.ค.1978 จีนประกาศนโยบายปฏิรูป-เปิดประเทศ เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจระบบตลาด เริ่มมีแผงลอยขายสินค้าอย่างเปิดเผย ภาพ ปี ม.ค. 1979 (2522) ถนนหวังฝูจิ่ง ปักกิ่ง มีแผลลอยขายปลา ขณะนั้นโดยทั่วไปแล้ว สินค้าในชีวิตประจำวันยังต้องใช้คูปองซื้อในห้างสรรพสินค้าของรัฐบาล ภาพ: AP

การใช้คูปองสำหรับรับปันส่วนข้าว ยังต้องเข้าแถวอย่างทรหดอดทน ภาพ: ก.ย. 1988 (2531) ประชาชนเข้าแถวยื่นคูปองรับเนื้อ วันที่ 1 ต.ค. จึงยกเลิกคูปองปันส่วนเนื้อ ภาพ: CFP

หลังดำเนินเศรษฐกิจระบบตลาด สินค้าต่างชาติก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามา เดือนก.ค. ปี 1987 (2530) ร้านขายเครื่องสำอางที่ศูนย์สินค้าต่างชาตินครก่วงโจว พนักงานขายกำลังแต่งหน้าฟรีให้แก่ลูกค้า ภาพ: CFP

ฟาสต์ฟู้ดอเมริกันเริ่มเข้ามา 23 เม.ย. 1992 (2535) แมคโดนัลด์สาขาแรกในจีนที่หวังฝูจิ่ง ปักกิ่ง ภาพ ชาวจีนรอชิมฟาสต์ฟู้ดอเมริกัน ภาพ: CFP

ซูเปอร์มาร์เก็ต เริ่มผุดตามมา ชาวจีนเริ่มเมินศูนย์ขายสินค้าของรัฐ หันมานิยมซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ภาพเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 1998 ครอบครัวชาวจีนนั่งรถรางไฟฟ้าซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองเสิ่นหยัง มณฑลเหลียวหนิง ภาพ: AFP

หลังการปฏิรูปเศรษฐกิจระบบตลาด ร้านค้าและตลาดสินค้าหลากหลายชนิด/ประเภทเริ่มทะยอยผุดตามๆกันมาเป็นขบวน เพื่อสนองความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในภาพ วันที่ 23 มี.ค. 1993 (2536) ร้านเซ็กซ์ช้อปแห่งแรกของจีน เปิดกิจการที่ปักกิ่ง ภาพ: AP

วันที่ 20 มิ.ย. 1998 ที่ปักกิ่ง สามี-ภรรยาคู่หนึ่งกำลังเลือกซื้อเนคไทแบรนด์ที่อดีตประธานาธิบดีคลินตันเคยใช้ ภาพ: Peter Rogers

เมื่อเศรษฐกิจจีนเติบโตรวดเร็วเป็นติดจรวด สินค้านานาชนิดจากภาคอุตสาหกรรมเบาของจีน ก็ครองตลาดโลก ตลาดขายส่งที่เมืองอี้อู บูมระเบิด ภาพ: AFP

ห้างสรรพสินค้าต่างๆต่างแข่งขันกันดึงลูกค้ากันสุดฤทธิ์ ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ ในภาพ วันที่ 14 ก.ย. 2556 ห้างสรรพสินค้ารายหนึ่งในปักกิ่ง เชิญชวนลูกค้าขึ้นมาเต้นในงานฉลองห้างฯ ภาพ: AFP

ขณะเดียวกันห้างสรรพสินค้าของรัฐจำนวนมาก ด้วยเหตุที่กิจการไม่ดี ก็ต้องปิดตัวไปตามๆกัน ภาพเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2546 พนักงานของห้างมิตรภาพมาประท้วงหน้าประตูห้าง ประท้วงกรณีที่ห้างกำลังปิดกิจการ ทั้งนี้ ช่วงยุคระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง ห้างมิตรภาพอาศัยสิทธิพิเศษ ทำให้กิจการบูมระเบิด เป็นที่อิจฉาไปทั่ว ภาพ: AFP

กำลังซื้อชาวจีนนับวันยิ่งเบ่งบาน แต่ละเมืองของประเทศจีน ผุดย่านจับจ่ายซื้อสินค้าคึกคัก ภาพ 2544 AFP

ชาวจีนได้กลายเป็น “เศรษฐีใหม่” ในสายตาของชาวโลก กลายเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่กวาดซื้อสินค้าหรู ชาวแผ่นดินใหญ่นิยมช้อปปิ้งในฮ่องกง ทำให้ห้างสินค้าหรูในฮ่องกงขยายตัวมาก ทั้งนมผง เครื่องประดับ ถูกชาวแผ่นดินใหญ่กวาดซื้อ ชนิดแทบ “เกลี้ยงคลังสินค้า” ภาพ AP

ภาพมุมหนึ่งของนิทรรศการ "Louis Vuitton Voyages" การเดินทางของหลุยส์วิตตอง ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรุงปักกิ่ง วันที่ 1 มิ.ย. 2554 ฉลอง 20 ปีหลุยส์วิตตองในจีน (ภาพเอเยนซี)

แต่ด้วยช่องว่างรายได้ระหว่างกลุ่มคนในเมืองและชนบท ถ่างกว้างมาก “ขบวนรถจับจ่ายซื้อสินค้า” ของชาวจีน แบ่งเป็นสองแนวโน้ม ในภาพคนงานในย่านห้างสรรพสินค้าไฮโซ กรุงปักกิ่ง ภาพ: AFP

จากยุค “ไม่มีปัญญาซื้อ” ถึงยุค “ซื้อ...ซื้อ...ซื้อ” “ขวนรถจับจ่ายซื้อสินค้า” ของชาวจีน เปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ทว่า สำหรับผู้บริโภคชาวจีนแล้ว การจับจ่ายซื้อสินค้าอย่างมีวัฒนธรรมอย่างไร ยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา ภาพเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2557 ที่นครนิวยอร์ก ชาวจีนที่เข้าแถวรอซื้อ iphone6 ทะเลาะวิวาทกันถึงขั้นวางมวย ภาพ: REUTERS


กำลังโหลดความคิดเห็น